กางกฎหมายไปเลือกตั้ง ถ้าถูกขัดขวางการใช้สิทธิจะทำอย่างไร
คลิกเพื่อดูภาพขนาดใหญ่
สิทธิเลือกตั้งเป็นทั้งสิทธิพื้นฐานและหน้าที่ของประชาชนไทยภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ภายใต้ภาวะปั่นป่วนสับสนที่ศาลรัฐธรรมนูญออกมาแนะนำให้นายกรัฐมนตรีหารือกับ กกต. เพื่อพิจารณาเลื่อนการเลือกตั้ง ประกอบกับผู้นำการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ประกาศให้ไป “รณรงค์ปฏิรูปการเมือง” หน้าคูหาเลือกตั้งต่างๆ ทั่วประเทศประเทศ อันอาจะส่งผลให้ประชาชนที่ต้องการใช้สิทธิเลือกตั้งของตนได้รับผลกระทบ ลองมาดูกันว่า มีกฎหมายอะไรบ้างที่คุ้มครองสิทธิของประชาชนผู้ประสงค์จะใช้สิทธิเลือกตั้งของตนเอง
รายละเอียดข้อกฎหมาย
หากผู้ที่ขัดขวางสิทธิเลือกตั้งของท่านเป็นบุคคลธรรมดา มีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและแนวทางที่ปฏิบัติได้ดังนี้
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550
มาตรา 76 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการใดโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถใช้สิทธิได้ หรือขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไป ณ ที่เลือกตั้งหรือเข้าไป ณ ที่ลงคะแนนเลือกตั้ง หรือมิให้ไปถึง ณ ที่ดังกล่าวภายในกำหนดเวลาที่จะลงคะแนนเลือกตั้งได้
มาตรา 152 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 71 วรรคสอง มาตรา 72 มาตรา 74 มาตรา 76 หรือมาตรา 77 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดห้าปี
ในกรณีที่ผู้ฝ่าฝืนตามวรรคหนึ่งเป็นผู้รับหรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดถ้าได้แจ้งถึงการกระทำดังกล่าวต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย ก่อนหรือในวันเลือกตั้ง หรือภายหลังวันเลือกตั้งไม่เกินเจ็ดวัน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษและไม่ต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 309 ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือ จำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง หรือของผู้อื่น หรือโดยใช้ กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน หกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าความผิดตามวรรคแรกได้กระทำโดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำ ความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือได้กระทำเพื่อให้ผู้ถูกข่มขืนใจทำ ถอน ทำให้เสียหาย หรือทำลายเอกสารสิทธิอย่างใดผู้กระทำต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้ากระทำโดยอ้างอำนาจอั้งยี่หรือซ่องโจร ไม่ว่าอั้งยี่หรือซ่องโจรนั้นจะ มีอยู่หรือไม่ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปีและปรับ ตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
เหตุยกเว้นโทษและเหตุบรรเทาโทษกรณีที่ผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งถูกคุกคาม หนีไม่ทัน และต้องตอบโต้ต่อผู้ที่ขัดขวางการใช้สิทธิเลือกตั้ง ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ดังนี้
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 68 ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่น ให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อ กฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควร แก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้น ไม่มีความผิด
มาตรา 78 เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ไม่ว่าจะได้มีการเพิ่มหรือการลดโทษตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมาย อื่นแล้วหรือไม่ ถ้าศาลเห็นสมควร จะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษ ที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้
เหตุบรรเทาโทษนั้น ได้แก่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้โฉดเขลาเบา ปัญญาตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีคุณความดีมาแต่ก่อน รู้สึก ความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น ลุแก่โทษต่อ เจ้าพนักงานหรือให้ความรู้แก่ศาล อันเป็นผลประโยชนแก่การพิจารณา หรือเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกัน
อำนาจของประชาชนธรรมดาเมื่อพบเห็นการกระทำผิดกฎหมายซึ่งหน้า บัญญัติรับรองไว้ในประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญาดังนี้
มาตรา 79 ราษฎรจะจับผู้อื่นไม่ได้เว้นแต่จะเข้าอยู่ในเกณฑ์แห่ง มาตรา 82 หรือเมื่อผู้นั้นกระทำความผิดซึ่งหน้า และความผิดนั้นได้ ระบุไว้ในบัญชีท้ายประมวลกฎหมายนี้ด้วย
มาตรา 82 เจ้าพนักงานผู้จัดการตามหมายจับ จะขอความ ช่วยเหลือจากบุคคลใกล้เคียงเพื่อจัดการตามหมายนั้นก็ได้แต่จะ บังคับให้ผู้ใดช่วยโดยอาจเกิดอันตรายแก่เขานั้นไม่ได้
มาตรา 83 ในการจับนั้น เจ้าพนักงานหรือราษฎรซึ่งทำการจับต้องแจ้งแก่ผู้ที่จะถูกจับนั้นว่าเขาต้องถูกจับ แล้วสั่งให้ผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับพร้อมด้วยผู้จับ เว้นแต่สามารถนำไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบได้ในขณะนั้น ให้นำไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดังกล่าว แต่ถ้าจำเป็นก็ให้จับตัวไป
ในกรณีที่เจ้าพนักงานเป็นผู้จับ ต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับทราบ หากมีหมายจับให้แสดงต่อผู้ถูกจับ พร้อมทั้งแจ้งด้วยว่า ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้และถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้น อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ และผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความ หรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความ ถ้าผู้ถูกจับประสงค์จะแจ้งให้ญาติหรือ ผู้ซึ่งตนไว้วางใจทราบถึงการจับกุมที่สามารถดำเนินการได้ โดยสะดวกและไม่เป็นการขัดขวางการจับหรือการควบคุมผู้ถูกจับ หรือทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็ให้เจ้าพนักงานอนุญาตให้ผู้ถูกจับดำเนินการได้ตามสมควรแก่กรณี ในการนี้ให้เจ้าพนักงานผู้จับนั้นบันทึกการจับดังกล่าวไว้ด้วย
ถ้าบุคคลซึ่งจะถูกจับขัดขวางหรือจะขัดขวางการจับ หรือหลบหนีหรือพยายามจะหลบหนี ผู้ทำการจับมีอำนาจใช้วิธีหรือการป้องกันทั้งหลายเท่า ที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งเรื่องในการจับนั้น
มาตรา 84 เจ้าพนักงานหรือ ราษฎรผู้ทำการจับต้องเอาตัวผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนตาม มาตรา 83 โดยทันทีและเมื่อถึงที่นั้นแล้ว ให้ส่งตัวผู้ถูกจับแก่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจของที่ทำการของพนักงานสอบสวนดังกล่าว เพื่อดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่เจ้าพนักงานเป็นผู้จับให้เจ้าพนักงานผู้จับนั้นแจ้งข้อกล่าวหา และรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุแห่งการจับให้ผู้ถูกจับทราบ ถ้ามีหมายจับให้แจ้งให้ผู้ถูกจับทราบและอ่านให้ฟัง และมอบสำเนาบันทึกการจับแก่ผู้ถูกจับนั้น
(2) ในกรณีที่ราษฎรเป็นผู้จับ ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจซึ่งรับมอบตัวบันทึกชื่อ อาชีพ ที่อยู่ของผู้จับ อีกทั้งข้อความและพฤติการณ์แห่งการจับนั้นไว้ และให้ผู้จับลงลายมือชื่อ กำกับไว้เป็นสำคัญเพื่อดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดแห่งการจับให้ผู้ถูกจับทราบ และแจ้งให้ผู้ถูกจับทราบด้วยว่าผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ และถ้อยคำของผู้ถูกจับอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้
เมื่อได้ดำเนินการ ตามวรรคหนึ่งแล้วให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ซึ่งมีผู้นำผู้ถูกจับมาส่งแจ้งให้ผู้ถูกจับทราบถึงสิทธิตามที่กำหนดไว้ใน มาตรา 7/1 รวมทั้งจัดให้ผู้ถูกจับสามารถติดต่อกับญาติหรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับไว้วางใจเพื่อแจ้ง ให้ทราบถึงการจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมได้ในโอกาสแรก เมื่อผู้ถูกจับมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนตามวรรคหนึ่ง หรือถ้ากรณีผู้ถูกจับร้องขอให้ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้แจ้ง ก็ให้จัดการตามคำร้องขอนั้นโดยเร็ว และให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจบันทึกไว้ ในการนี้มิให้เรียกค่าใช้จ่ายใดๆ จากผู้ถูกจับ
ในกรณีที่จำเป็น เจ้าพนักงานหรือราษฎรซึ่งทำการจับจะจัดการพยาบาลผู้ถูกจับเสียก่อนนำตัวไปส่งตามมาตรานี้ก็ได้
ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความ ผิดห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่น จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อ ได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือตาม มาตรา 83 วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับแล้วแต่กรณี
ในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีหน้าที่ต้องดำเนินการเลือกตั้งให้เกิดขึ้น แต่ขัดขวางการเลือกตั้งเสียเองนั้น ท่านสามารถฟ้องร้องได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
“มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”
องค์ประกอบของความผิดมาตรานี้อยู่ที่ มูลเหตุชักจูงใจ คือ “มีเจตนาพิเศษ” ที่ต้องการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งรวมถึงความเสียหายในทุกๆด้านโดยไม่จำกัดเฉพาะความเสียหายที่เป็นทรัพย์สินเท่านั้น เช่น ความเสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเสียหายแก่เสรีภาพ เป็นต้น
หมายเหตุ แนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายได้รับข้อมูลจาก สาวตรี สุขศรี นักกฎหมายอาญา จากกลุ่มนิติราษฎร์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น