วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

รัฐบาล เผยมาตรการแก้ไขปัญหาโครงการจำนำข้าว ตำหนิ กปปส. อย่านำความทุกข์ร้อนของชาวนาไปเป็นเครื่องมือทางการเมือง


รัฐบาล เผยมาตรการแก้ไขปัญหาโครงการจำนำข้าว ตำหนิ กปปส. อย่านำความทุกข์ร้อนของชาวนาไปเป็นเครื่องมือทางการเมือง




            วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 go6TV – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น. ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เมืองทองธานี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมกันแถลงมาตรการของรัฐบาลในการบรรเทาและแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวนา โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

             รัฐบาลได้ยืนยันถึงวัตถุประสงค์ของนโยบายโครงการรับจำนำข้าวที่ต้องการยกระดับรายได้แก่ชาวนา และสร้างความมั่นคงมั่งคั่งที่ยั่งยืน ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า และนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยต่อเนื่องทางรัฐบาลได้ดำเนินการมาแล้ว 4 ฤดูการผลิต ตั้งแต่เดือนตุลาคมปี2554 และสามารถจ่ายเงินค่ารับจำนำแก่ชาวนาแล้วเป็นจำนวนเงินกว่า 6 แสนล้านบาท จนมาถึงฤดูกาลนาปี2556/57 ซึ่งได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการในวันที่ 3 กันยายน 2556 และรับจำนำมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 ซึ่งได้จ่ายเงินค่ารับจำนำไปแล้วเป็นจำนวนกว่า 6 หมื่นล้านบาท แต่ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการในการจัดสรรเงินให้แก่ชาวนามีอุปสรรคมากขึ้น นอกจากนี้ การยุบสภาผู้แทนราษฎรทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลมีข้อจำกัดในการบริหารงาน ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 181 จึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการดำเนินการมากกว่าปกติ อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังคงมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวนาอย่างเร่งด่วน โดยเร่งดำเนินมาตรการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

             นายนิวัฒน์ธำรงค์ เปิดเผยถึงแนวทางการระบายข้าว ว่ามีทั้งหมด 5 วิธี ได้แก่ 1) GtoG 2) ขายเป็นการทั่วไปให้ผู้ประกอบการในประเทศ 3) ตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า หรือ AFET 4) ขายให้กับหน่วยงานหรือองค์กรการกุศล 5) บริจาค โดยในเดือนตุลาคม 2556 – มกราคม 2557 ได้มีการส่งเงินจากการระบายข้าวคืนให้กับ ธ.ก.ส. ประมาณ 35,000 ล้านบาท และในเดือนมกราคม 2557 สามารถขายข้าวได้เพิ่มขึ้นประมาณ 1 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ ๑๒,๐๐๐ ล้านบาท จากนั้น ในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมนี้ จะมีการประกาศขายข้าวเพิ่มขึ้นอีก เดือนละประมาณ 1 ล้านตัน ทั้งนี้ สถิติปริมาณการส่งออกข้าวของไทยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยปีละประมาณ 8ล้านตัน ขณะที่สถิติการซื้อขายข้าวในตลาดโลก 2-3 ปีที่ผ่านมา ประมาณปีละ 30-35 ล้านตัน

               ด้าน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ได้ระบุถึงแนวทางการจัดหาแหล่งเงินกู้ว่า กระทรวงการคลังยืนยันว่า ฐานะทางการเงินการคลังของภาครัฐยังมีความมั่นคงและเข้มแข็งมาก ณ สิ้นปีงบประมาณปี 2556 มีเงินคงคลังทั้งหมดประมาณ 334,732 ล้านบาท สำหรับการจัดเก็บรายได้ก็สามารถจัดเก็บได้เกินเป้า โดยในไตรมาสแรก ต.ค. – ธ.ค.2556 รวม ม.ค. 2557 จัดเก็บรายได้ได้แล้วกว่า 600,000 ล้านบาท


              ในการดำเนินการ กระทรวงการคลังมีหน้าที่ตามมติ คณะรัฐมนตรีและระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการการเงินเพื่อดำเนินโครงการจำนำข้าว ดังนั้น การจัดการแหล่งเงินกู้ให้กับ ธ.ก.ส. และการดำเนินการเพื่อสนับสนุนให้ทาง ธ.ก.ส.มีความสามารถชำระเงินจำนำให้กับชาวนาได้โดยเร็วถือเป็นการดำเนินการตามหน้าที่ปกติของกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ การปฏิบัติหน้าที่ของทางกระทรวงการคลังหลังการยุบสภาผู้แทนราษฎรมีข้อจำกัดทางกฎหมายมากขึ้น ประกอบกับมีการดำเนินการเพื่อขัดขวางการทำงานของรัฐบาลในการดูแลทุกข์สุขของประชาชนในหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่อง

            “จากยอดรับจำนำทั้งสิ้น 175,000 ล้านบาทนั้น ได้ดำเนินการจ่ายให้ชาวนาแล้วประมาณ 65,000 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังได้เร่งดำเนินการอย่างเต็มกำลังความสามารถ ทำให้สามารถจ่ายเงินในส่วนที่ค้างชำระ110,000 ล้านบาท ให้กับชาวนาได้เร็วขึ้น โดยจะเริ่มการจ่ายเงินให้กับชาวนา ได้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 17 ก.พ. 57 ตามลำดับการลงทะเบียน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากศักยภาพของ ธ.ก.ส. ในการดำเนินการจ่ายเงินต่อวันแล้วนั้น คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 6-8 สัปดาห์” นายกิตติรัตน์กล่าว

              นอกจากนี้ นายทนุศักดิ์ ได้กล่าวว่า “รัฐบาลได้มีแนวทางการบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า โดยขยายเวลาการชำระหนี้ลูกค้าธนาคาร ธ.ก.ส. เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยไม่มีค่าปรับ รวมทั้ง ขยายวงเงินในการปล่อยสินเชื่อให้กับชาวนาเพื่อให้ชาวนามีเงินลงทุนในการปลูกข้าวในรอบใหม่ โดย ธ.ก.ส.จะขยายวงเงินให้ลูกค้ารายปัจจุบัน โดยสามารถใช้หลักค้ำประกันที่ได้วางไว้กับ ธ.ก.ส. แล้ว โดยมาตรการนี้จะครอบคลุมถึงชาวนาที่ไม่ได้เป็นลูกค้าของทาง ธ.ก.ส. ด้วย โดยสามารถสมัครเป็นสมาชิก และยื่นความจำนงที่ ธ.ก.ส. สาขาใกล้บ้าน สำหรับชาวนาที่อยู่ภายใต้สถาบันเกษตร (สหกรณ์) สามารถขอเงินกู้จากสหกรณ์ได้เช่นกัน โดยทาง ธ.ก.ส. จะสนับสนุนเงินทุนให้สหกรณ์”

            “ขอให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันแก้ปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนา ซึ่งถือเป็นกระดูกสันหลังของชาติ และโปรดอย่าขัดขวางกระบวนการและมาตรการการจ่ายเงินให้แก่ชาวนา รวมทั้ง อย่าขัดขวางสถาบันการเงินในการปล่อยเงินกู้ เพื่อให้ชาวนาได้รับเงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนได้เร็วขึ้น และขอให้หน่วยงานดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเร่งด่วน พร้อมยืนยันว่าชาวนาทุกคนที่ร่วมโครงการจำนำข้าวและได้รับใบประทวน มีสิทธิ์ได้รับเงินตามใบประทวนเต็มจำนวน กระทรวงการคลังและ ธ.ก.ส มีหน้าที่ทำงานร่วมกันเพื่อจ่ายเงินให้แก่ชาวนาโดยเร็วที่สุด รัฐบาลมีความจริงใจในการทำงานอย่างเต็มที่เพื่อชาวนา และขออย่านำความทุกข์ร้อนของชาวนาไปเป็นประเด็นและเครื่องมือทางการเมือง” นายกิตติรัตน์กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น