วันจันทร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2557

"ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน" จี้ "ศาลรัฐธรรมนูญ" ศาลรธน. ยุติปฏิบัติหน้าที่ หลังพบละเลยออกกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ ซึ่งเป็นการทำหน้าที่เกินอำนาจ

ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ส่งจดหมายเปิดผนึกศาลรัฐธรรมนูญยุติปฏิบัติหน้าที่ 
        "ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน" จี้ "ศาลรัฐธรรมนูญ" ศาลรธน. ยุติปฏิบัติหน้าที่ หลังพบละเลยออกกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ ซึ่งเป็นการทำหน้าที่เกินอำนาจ


           นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ได้ส่งจดหมายเปิดผนึก ฉบับที่ 1 เรื่อง “เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นฝ่ายที่ฝ่าฝืนหลักนิติธรรมเสียเอง ศาลรัฐธรรมนูญก็ควรที่จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่” ต่อผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา โดยเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ตรวจสอบการใช้อำนาจของตนเอง ก่อนการตีความขยายอำนาจของตนเองไปก้าวก่าย แทรกแซง หรือตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร หรือองค์กรอื่นของรัฐ รวมถึงการออกคำสั่งให้บุคคล หรือคณะบุคคลพ้นจากตำแหน่งหรือหยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญ

         ทั้งนี้การใช้อำนาจพิจารณาหรือวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อคดีที่ผ่านมา ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจหรือมีบทบัญญัติรองรับทำให้สังคมมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อการทำหน้าที่ได้ถูกต้องตามหลักยุติธรรม ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มีบทบาทสำคัญในการที่จะคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยเหตุผลสำคัญ คือ ตลอดการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ 7 ปี ยังไม่มีการออกกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อรองรับการพิจารณาคดีต่างๆ และเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรคหก ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

       โดยบทเฉพาะกาล มาตรา 300 วรรคห้าระบุว่า ระหว่างที่ยังมิได้มีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจออกข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยได้ แต่ทั้งนี้ ต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้” คือ วันที่ 24 ส.ค. 2550 และปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 ที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้กำหนดเพียงฝ่ายเดียวมาใช้ในการพิจารณาและทำคำวินิจฉัยเรื่อยมาทั้งที่รัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวกำหนดให้ใช้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี เท่านั้น

       นายอุกฤษ ระบุด้วยว่า การกำหนดวิธีพิจารณาคดีเพื่อควบคุมการใช้อำนาจของศาล ถือมีความสำคัญต่อการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับประชาชน แต่เมื่อไม่มีวิธีพิจารณาคดีกำกับไว้ส่งผลให้คำวินิจฉัยของศาลที่ได้ดำเนินการมากว่า 350 เรื่อง แบ่งเป็นรูปของคำวินิจฉัย 92 เรื่องและรูปคำสั่ง 258 เรื่องนั้นบิดเบี้ยว ขาดความชัดเจนในกระบวนการพิจารณา อาทิ ไม่มีกำหนดระยะเวลาพิจารณาคดีแต่ละประเภทที่ชัดเจน ทำให้กระบวนการพิจารณาและการวินิจฉัยบางคดีทำไปด้วยความเร่งรีบผิดปกติ และไม่มีการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง , การทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีความชัดเจนว่าองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ทำความเห็นในการวินิจฉัยส่วนตนพร้อมแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนการลงมติ ตามที่รัฐธรรมนูญ 216 วรรคสอง กำหนดไว้ หรือไม่ , ไม่มีกำหนดระยะที่ชัดเจนต่อการเผยแพร่คำวินิฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตน

       "ระหว่างที่ยังมิได้มีการดำเนินการให้เป็นไปโดยถูกต้องและครบถ้วนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรือตามหลักนิติธรรม หรือในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญก็ควรที่จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ของตนไว้ก่อน จนกว่าจะได้ดำเนินการให้เป็นไปโดยถูกต้องและครบถ้วนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 

         กฎหมาย หรือตามหลักนิติธรรม เพราะศาลรัฐธรรมนูญเองก็อยู่ภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมอันมีสาระสำคัญประการหนึ่งคือ การยึดมั่นและเคารพกฎหมาย 

         ในเมื่อไม่มีกฎหมาย องค์กรที่ใช้อำนาจรัฐไม่มีอำนาจกระทำการใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะถ้าดำเนินการไปแล้วอาจจะกระทบกระเทือนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และเมื่อกฎหมายกำหนดขอบเขตไว้เช่นใด องค์กรที่ใช้อำนาจรัฐจะต้องใช้กฎหมายไปตามขอบเขตนั้น จะใช้อำนาจเกินกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้ไม่ได้" นายอุกฤษ ระบุ

http://www.redusala.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น