วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ส.ส.กลุ่มประเทศอาเซียนวิจารณ์รัฐประหารไทย เรียกร้องหยุดควบคุมตัวปชช.


กลุ่ม ส.ส. อาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนวิพากษ์วิจารณ์การทำรัฐประหารผู้นำทหารของไทยอย่างหนัก ประณามว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางและเรียกร้องให้ปล่อยตัวทุกคนที่ถูกจับกุมด้วยสาเหตุทางการเมือง รวมถึงเรียกร้องให้ผู้นำทหารเคารพในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
27 พ.ค. 2557 อีวา กุสุมา ซันดารี ประธานกลุ่มส.ส.อาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR) กล่าวว่า "กองทัพไทยพยายามปราบปรามศัตรูทางการเมืองทุกคน และเป็นศูนย์รวมของการละเมิดสิทธิมนุษยชนนับตั้งแต่ทำรัฐประหารยึดอำนาจเป็นต้นมา พวกเขาควรยกเลิกการใช้อำนาจละเมิดสิทธิเช่นนี้โดยทันที และโดยถาวร"
เว็บไซต์ของ APHR ระบุว่ามีคนหลายร้อยคนถูกจับกุมโดยกองทัพไทยภายในช่วงไม่ถึง 1 สัปดาห์ ขณะที่สื่อมวลชนก็ถูกข่มขู่และถูกปิดกั้นอย่างหนัก อีกทั้งยังมีการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ เช่น สิทธิในการชุมนุม
"พวกเราได้เห็นความตกต่ำของสถานการณ์สิทธิมนุษยชนอย่างรวดเร็วและน่าตื่นตระหนกมากที่สุดในประเทศแถบภูมิภาคของเราซึ่งไม่ได้เห็นมาเป็นเวลานานแล้ว จึงขอเรียกร้องให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้คำตอบในเรื่องนี้โดยทันที" ซันดารีกล่าว
ทาง APHR กล่าวอีกว่าวิกฤติการเมืองไทยไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการลงโทษประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมืองหรือทางอุดมการณ์ ทาง APHR ไม่ได้มีจุดยืนเข้าข้างฝ่ายใดในความแตกแยกทางการเมืองของไทย แต่ขอแสดงจุดยืนว่าการตอบโต้ด้วยการกดขี่บังคับอย่างเข้มงวดถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ขาดความเป็นธรรม และบกพร่องอย่างร้ายแรง มันจะยิ่งทำให้สถานการณ์ย่ำแย่กว่าเดิม ไม่ใช่การแก้ไขปัญหา
กลุ่ม ส.ส.อาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนยังแสดงความเป็นห่วงอย่างมากต่อการกักขังหน่วงเหนี่ยวและการข่มขู่คุกคามผู้คนจำนวนมากตามอำเภอใจ โดยมีทั้งนักการเมือง, นักกิจกรรม, นักวิชาการ และประชาชนธรรมดา รวมถึงคนที่ถูกเรียกให้ไปรายงานตัวกับทหาร โดยขู่ว่าจะมีการจับเข้าคุกและการปรับ ผู้คนที่ไปรายงานตัวจำนวนมากจะถูกนำตัวไปกุมขังโดยไม่ทราบสถานที่และไม่สามารถติดต่อกับบุคคลภายนอกได้ อีกทั้งยังไม่มีการตั้งข้อกล่าวหากับบุคคลเหล่านี้ ขณะที่อีกบางส่วนต้องหนีออกจากประเทศ
"สิ่งที่เราได้เห็นดูเหมือนเป็นการล้างบางผู้มีบทบาททางการเมืองและเริ่มการ 'ล่าแม่มด' ต่อผู้ที่ต่อต้านการยึดอำนาจของกองทัพหรือต่อต้านทัศนคติต่ออนาคตประเทศของกองทัพ" วอลเดน เบลโล ส.ส.ฟิลิปปินส์ผู้เป็นรองประธาน APHR กล่าว
เบลโล ได้เรียกร้องให้ประเทศไทยกลับสู่การปกครองโดยพลเรือนตามระบอบประชาธิปไตยโดยทันที เขาบอกอีกว่าการรัฐประหารในไทยเป็นตัวถ่วงแรงผลักดันไปสู่ประชาธิปไตยของกลุ่มประเทศอาเซียน และกลายเป็นภัยสำหรับประเทศที่สนับสนุนแนวคิดแบบประชาธิปไตย
เว็บไซต์ของ APHR ระบุอีกว่ากองทัพยังพยายามโยงคดีกลายเป็นคดีต่อต้านระบอบกษัตริย์หรือเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติภายใต้ศาลทหาร ซึ่งเป็นการดำเนินคดีที่ไม่อนุญาตให้ใช้ทนายพลเรือนเป็นตัวแทนในการว่าความ
ทาง APHR เห็นว่าผู้ที่กองทัพควบคุมตัวนับเป็นนักโทษทางการเมืองและนักโทษทางความคิด (ผู้ที่ถูกคุมขังเนื่องจากมีความคิดเห็นต่างจากผู้มีอำนาจ) และเรียกร้องให้กองทัพเปิดเผยรายชื่อรวมถึงสถานที่ควบคุมตัวและสาเหตุในการควบคุมตัวพวกเขา ผู้ถูกควบคุมตัวควรได้รับอนุญาตให้พบปะกับสมาชิกในครอบครัวและทนายความได้ หากมีการดำเนินคดีที่พวกเขากระทำจริงก็ควรถูกตั้งข้อกล่าวหาโดยศาลพลเรือนหรือมิเช่นนั้นก็ควรมีการปล่อยตัวโดยทันที
"อนาคตของไทยจะมืดมนถ้าหากว่าจะมีคนถูกจับกุมโดยศาลทหารเพียงเพราะใช้คำพูดหรือแสดงความคิดเห็น พวกเราจึงของวิงวอนให้ ส.ส. ของไทยทุกคนไม่ว่าจะจากฝ่ายใดก็ตามเล็งเห็นปัญหาการคุกคามและกล่าวต่อต้านการคุกคามที่เลวร้ายที่สุดต่อสิทธิขั้นพื้นฐาน" เบลโลกล่าว
"เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้ พวกเขาต้องเปิดโอกาสให้มีการหารือระดับชาติแบบเน้นการมีส่วนร่วมซึ่งต้องมีการเคารพความคิดเห็นและอุดมการณ์ที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ภายใต้บรรยากาศในแบบปัจจุบัน" เบลโลกล่าว
การที่ผู้ถูกควบคุมตัวไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับคนภายนอกและถูกกักตัวอยู่ในสถานที่ควบคุมตัวอย่างไม่เป็นทางการ ทำให้เสี่ยงต่อการถูกทรมานและการละเมิดสิทธิอื่นๆ ทาง APHR แสดงความกังวลในเรื่องนี้โดยเฉพาะผู้ถูกควบคุมตัว 30 คนที่ถูกกล่าวหาว่าเคยโจมตีผู้อื่นด้วยแรงจูงใจทางการเมืองมาก่อน
APHR เล็งเห็นอีกว่าการที่ผู้ก่อเหตุรุนแรงทางการเมืองลอยนวลไม่ได้รับโทษเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้วิกฤติการเมืองไทยเลวร้ายลง และได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ติดตามสืบสวนรวมถึงดำเนินคดีต่อผู้ที่ก่ออาชญากรรมโดยมีแรงจูงใจทางการเมืองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ กระนั้นเอง APHR ยังเน้นย้ำเรื่องการให้ผู้ถูกดำเนินคดีมีสิทธิเข้าถึงทนายและกระบวนการศาลแบบพลเรือน
ภายใต้กฎอัยการศึก ทหารมีอำนาจสั่งจับกุมบุคคลได้เป็นเวลานานที่สุด 7 วันโดยไม่ต้องมีหมายจับหรือการตั้งข้อกล่าวหาอีกทั้งยังไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของทหารที่บังคับใช้กฎหมาย อำนาจดังกล่าวนี้ขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของนานาชาติ
อีกประเด็นหนึ่งที่กลุ่มส.ส.อาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนกังวลคือการพยายามปิดกั้นสื่อและปราบปรามการชุมนุมอย่างสงบ ซึ่งทางกองทัพได้ประกาศห้ามไม่ให้เผยแพร่สิ่งที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์กองทัพหรือสัมภาษณ์บุคคลที่วิจารณ์กองทัพหรือสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน
ชาร์ลส์ ซานติอาโก ส.ส. ชาวมาเลเซีย ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่ม ส.ส. เพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า "สถานการณ์น่าเป็นห่วงในประเทศไทย พวกเราเห็นว่ามีนักวิชาการและอาจารย์พากันหลบหนีเพราะกลัวว่าจะถูกดำเนินคดี มีประชาชนธรรมดาถูกจับ มีทหารติดอาวุธบุกเข้ารื้อค้นบ้านในช่วงกลางดึก"
ซานติอาโกกล่าวอีกว่า กลุ่ม APHR รู้สึกว่าควรต้องพูดถึงเรื่องนี้ เนื่องจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นวงกว้างในปัจจุบันไม่มีเหตุผลชอบธรรมใดๆ รองรับ และเผด็จการทหารควรหยุดการกระทำโดยทันทีมิเช่นนั้นจะต้องถูกประณามและมีปฏิกิริยาโต้ตอบจากต่างชาติรวมถึงในระดับภูมิภาค
APHR ระบุเตือนอีกว่า ขณะที่คนไทยจำนวนมากชื่นชมการยึดอำนาจของกองทัพ และคิดว่ามันเป็นวิธีการเพื่อให้ประเทศกลับมามีเสถียรภาพได้อีกชั่วคราว แต่ผู้นำกองทัพมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิของประชาชนทุกคนในไทยไม่เพียงแค่คนที่เห็นด้วยกับพวกเขาเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น