31 ก.ค.2557 เว็บไซต์ศูนย์กฎหมายและคดีเสรีภาพ โดย ไอลอว์ รายงานว่า ทนายประเวศ ประภานุกูล ทนายจำเลยแจ้งว่า ศาลจังหวัดอุบลราชธานีอ่านคำพิพากษากรณีของนาย พ. อายุ 27 ปี จำเลยในคดีดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ฯ ว่า จำเลยทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ทั้งหมด 9 กรรม ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้ลงโทษกรรมละ 3 ปี รวม 27 ปี ความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ให้ลงโทษกรรมละ4 เดือน รวม 36 เดือน รวมจำคุก 27 ปี 36 เดือน (หรือรวมแล้วคือ 30 ปี) จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกรวม 13 ปี 22 เดือน
ทั้งนี้ทนายกล่าวด้วยว่า หากบวกลบจริงๆโทษควรจะเป็น 13 ปี 24 เดือน แต่ศาลอ่านคำพิพากษาเป็น 13 ปี 22 เดือน หลังจากนี้ ทนายและญาติของจำเลยจะหารือถึงแนวทางคดีต่อไป ว่าจะอุทธรณ์คดี หรือยุติคดีและขอพระราชทานอภัยโทษ
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้าที่จะมีคำพิพากษา ศาลเคยนัดไต่สวนแพทย์ผู้ให้การรักษาอาการทางจิตของจำเลยเพื่อนำไปประกอบการเขียนคำพิพากษา ในกรณีที่จำเลยมีอาการป่วยทางจิตและแพทย์มีความเห็นว่าต้องทำการรักษา ทนายระบุว่า ศาลอาจวินิจฉัยให้รอลงอาญาเป็นกรณีพิเศษได้ แม้โทษของจำเลยจะสูงกว่าเกณฑ์ที่ศาลจะรอลงอาญา แต่ในท้ายที่สุดก็ไม่มีการรอลงอาญาแต่อย่างใด
นาย พ. ถูกตำรวจหน่วยสืบสวนของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับ อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) และตำรวจภูธรในพื้นที่อุบลราชธานีจำนวนหลายสิบนายบุกไปจับกุมตัวที่บ้าน เมื่อวันที่ 16 มี.ค.55 โดยแจ้งข้อกล่าวหาว่าเขาใช้บัญชีเฟซบุ๊คทั้งหมด 3 บัญชี โพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องหาได้รับการประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์ 500,000 บาท ต่อมาวันที่ 16 มิ.ย.57 อัยการส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานีโดยกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดตาม มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14(3) พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จากการโพสต์ข้อความที่เข้าข่ายความผิด 9 กรรม เขาจึงถูกควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาคดีที่เรือนจำจังหวัดอุบลราชธานี จนกระทั่งวันที่ 30 มิ.ย.57 มีการนัดพร้อมสอบคำให้การจำเลย จำเลยให้การรับสารภาพ โดยทนายแถลงขอให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาเนื่องจากต้องการเขียนคำแถลงประกอบ คำรับสารภาพว่าจำเลยทำไปด้วยความคึกคะนอง
ทั้งนี้ ผู้ต้องหาอ้างว่าเจ้าหน้าที่มีการใช้สายลับมาติดตามความเคลื่อนไหวของเขา โดยใช้ชื่อในเฟซบุ้คว่า Tangmo Momay เข้ามาตีสนิท ยั่วยุให้โพสต์ข้อความที่หมิ่นเหม่ และมีการโทรศัพท์พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน โดยผู้ต้องหาอ้างว่าได้เห็นบันทึกการพูดคุยทางโทรศัพท์นั้นถูกถอดเทป และนำมาใช้เป็นหลักฐานของเจ้าหน้าที่
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 1 มิ.ย.57 รักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งฉบับที่ 44 ลงวันที่ 1 มิ.ย.57 คำสั่งฉบับดังกล่าวกำหนดให้นาย พ. เข้ารายงานตัวที่สโมสรทหารบก เทเวศน์ ในวันที่ 3 มิ.ย.57 หลังจากนั้น นายพ.ได้เดินทางเข้ารายงานตัวในวันที่ 13 มิ.ย. และถูกควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึกเป็นเวลา 3 คืนด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น