วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

มองรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาแล้วมองไทย


ในโอกาสที่เราจะมีรัฐธรรมนูญใหม่อย่างน้อยก็ 2 ฉบับ คือรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 57 และรัฐธรรมนูญฉบับกึ่งถาวร (เพราะไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่าจะไม่ถูกฉีกอีก) ในลำดับถัดไป ในฐานะที่สอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญแต่ปัจจุบันไม่มีรัฐธรรมนูญไทยให้สอน จึงอยากจะยกตัวอย่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกามาเป็นตัวอย่างถึงหลักการเหตุผลและความเป็นไปได้ที่ไทยเราจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับประชาธิปไตยแบบไทยๆ เรา
รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาเป็นเอกสารฉบับแรกของโลกที่ใช้คำเรียกตัวเองว่า “รัฐธรรมนูญ (Constitution)” และใช้มานานจนเป็นที่ยอมรับทางวิชาการว่าเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร (Written Constitution) ที่เก่าแก่ที่สุดของโลก และนับแต่ประกาศใช้เมื่อปี 1789 มามีการแก้ไขเพิ่มเติมเพียง 27 ครั้งเท่านั้น ที่สำคัญคือยังไม่เคยถูกฉีกเลย
จุดมุ่งหมายอันเป็นหัวใจสำคัญของรัฐธรรมนูญฯนี้ ปรากฏในคำปรารภ (Preamble) ด้วยคำเพียง 52 คำ คือ “เราประชาชนแห่งสหรัฐ เพื่อให้การรวมกันเป็นชาติสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น เพื่อให้มีความยุติธรรม เพื่อความสงบภายในประเทศ เพื่อการป้องกันประเทศร่วมกัน เพื่อส่งเสริมสวัสดิภาพโดยทั่วไป และเพื่อธำรงรักษาเสรีภาพไว้ให้คนรุ่นเราและคนรุ่นหลังได้ชื่นชมกันต่อไป จึงได้บัญญัติและสถาปนารัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาขึ้นมา”

รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกานั้นสั้นและกระชับ มีเพียง 7 มาตราเท่านั้น เพราะผู้ร่างเห็นว่าอนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอนและมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่เสมอ จึงเปิดโอกาสให้ตีความและปรับปรุงได้ ให้เหมาะแก่กาลสมัย ซึ่งเนื้อหาโดยสรุป คือ
มาตรา 1 มีเนื้อหาค่อนข้างยาวและมีรายละเอียดมาก แต่กล่าวย่อๆ ได้ว่าให้มีการสถาปนารัฐสภา (Congress) โดยกำหนดให้มี 2 สภา คือวุฒิสภา (Senate) และสภาผู้แทนราษฎร (House of Representative) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาทุกคนต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
มาตรา 2 สถาปนาฝ่ายบริหารโดยมอบอำนาจบริหารให้กับประธานาธิบดี ซึ่งในมาตรานี้จะบอกถึงอำนาจ การเลือกตั้งและคุณสมบัติของประธานาธิบดี
มาตรา 3 สถาปนาฝ่ายตุลาการของรัฐบาลกลาง โดยวางหลักกว้างๆ ไว้ว่าอำนาจตุลาการของสหรัฐจะมอบให้แก่ศาลสูงสุด (Supreme Court) ซึ่งมีศาลเดียว และศาลล่างอื่นๆ ที่รัฐสภาจะบัญญัติและตั้งขึ้นตามโอกาส (สหรัฐอเมริกาไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ ใช้ศาลสูงสุดหรือ Supreme Court ทำหน้าที่แทน)
มาตรา 4 สรุปความสัมพันธ์ระหว่ารัฐบาลกลางกับรัฐบาลของมลรัฐ และกำหนดวิธีการรับมลรัฐใหม่เข้ามาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา
มาตรา 5 กำหนดวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
มาตรา 6 ประกาศว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของสหรัฐอเมริกาซึ่งผูกมัดเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นของรัฐบาลกลางหรือมลรัฐจนถึงในระดับท้องถิ่นต้องให้การปฏิญาณตนว่าจะสนับสนุนและดำรงรักษารัฐธรรมนูญไว้อย่างเคร่งครัด
มาตรา 7 เป็นการให้สัตยาบันแก่รัฐธรรมนูญโดยรัฐที่มารวมตัวกันในครั้งแรก (ตอนประกาศอิสรภาพปี 1776 มี 13 มลรัฐ แต่เมื่อร่างรัฐธรรมนูญและประกาศใช้ 4 มี.ค.1789 มี 39 มลรัฐ- ปัจจุบันมี 50  มลรัฐ)
อย่างไรก็ตามทุกอย่างก็มิได้สวยหรูไปเสียทั้งหมดเพราะต้องใช้เวลาและวิวัฒนาการ เพราะถึงแม้ว่าในคำปรารภของรัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้หรือแม้ว่าในคำประกาศอิสรภาพของผู้ก่อตั้งประเทศ (Founding Fathers) จะประกาศว่า “All men are created equal (มนุษย์ทุกคนถูกสร้างขึ้นมาให้เท่าเทียมกัน)” ก็ตาม แต่ก็ยังขึ้นกับการตีความบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญตามยุคตามสมัย เพราะในตอนแรกๆ นั้น คำว่า men ไม่ได้ถูกตีความว่า คือ  people (ประชาชน) หรือ humans (มนุษย์) แต่ถูกทำให้เข้าใจว่าคือ ผู้ชายผิวขาว (white men) เท่านั้น
ที่กล่าวเช่นนั้นเพราะกว่าที่รัฐธรรมนูญจะถูกแก้ในครั้งที่ 15 (15th Amendment) ในปี 1870 ถึงได้กำหนดให้ทุกคนมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งโดยไม่ถูกจำกัดด้วยสีผิว ส่วนผู้หญิงนั้นกว่าจะมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้ก็จนปี 1919 (The Women’s Suffrage Amendment) และที่แย่กว่านั้นคือชนดั้งเดิมของอเมริกา (Native Americans) หรือที่เรารู้จักกันว่าอินเดียนแดงนั้นกว่าจะมีสิทธิมีเสียงและเป็นอเมริกันชนโดยสมบูรณ์ก็ล่วงเข้าปี 1924 เข้าไปแล้ว
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญและการตีความหรือการบังคับใช้รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาและของนานาอารยประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศมหาอำนาจหรือประเทศเล็กๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ชนะสงครามหรือประเทศที่แพ้สงคราม จะมีการวิวัฒนาการไปข้างหน้าโดยลำดับ เช่น ญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ไม่มีราชการส่วนภูมิภาคแล้วเหลือเพียงราชการส่วนกลางหรือส่วนท้องถิ่นเต็มพื้นที่ กัมพูชาหรือฟิลิปปินส์หรือเกาหลีใต้ต่างก็ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปหมดแล้ว ฯลฯ
ฉะนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่จะเกิดขึ้นต่อไปภายหน้าจำเป็นต้องมีวิวัฒนาการที่ก้าวหน้ากว่ารัฐธรรมนูญที่เคยมีมาในอดีตของไทย โดยศึกษาจุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละฉบับ ที่สำคัญที่สุดก็คือนำตัวอย่างที่ดีๆ จากต่างประเทศที่สามารถประยุกต์เข้ากับธรรมชาติลักษณะนิสัยของคนไทย
ประเด็นก็คือว่าแล้วจะทำอย่างไรถึงจะเหมาะสมและเข้ากับลักษณะนิสัยของคนไทย คำตอบที่ง่ายที่สุดก็คือต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญที่จะต้องมาใช้กับเขานั่นเอง อย่าปล่อยให้เพียง “เนติบริกร รัฐศาสตร์บริการ” ทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดีคิดแทนประชาชนเหมือนที่ผ่านๆ มา
ประวัติศาสตร์มีไว้ให้ศึกษา บทเรียนมีไว้ให้นำไปแก้ไข หากยังใช้รูปแบบและวิธีการแบบเก่าๆ ก็เป็นอันว่าสิ้นหวังสำหรับอนาคตของประชาธิปไตยไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น