วันอังคารที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2557

คนไทยในอเมริกากับ “American ugly”


เมื่อก่อนพอได้ยินประโยคว่า “ถ้าคิดว่าไม่ชอบอเมริกาก็ควรกลับประเทศของตัวเองไป(ซะ) อย่าอยู่ที่นี่เลย” ผมรู้สึกเฉยๆ  แต่มาวันนี้ผมกลับคิดว่าคำพูดประโยคนี้ไม่ธรรมดา แถมมีแง่มุมให้คิดอยู่ไม่น้อย
ที่ว่า “ไม่น้อย” เพราะสถานการณ์อะไรๆ ต่างๆ ได้เปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ แต่มีผู้คนเชื้อสายต่างด้าวที่แสดงออกว่า พวกเขาไม่พอใจ “ระบบอเมริกัน” ขณะที่พวกเขากำลังอยู่ท่ามกลางระบบอเมริกัน
เพราะแท้ที่จริงแล้ว สถานการณ์ที่แสดงว่าโลกมีความเป็นหนึ่งเดียว และยุคข้อมูลข่าวสาร น่าจะทำให้เชื้อสายต่างด้าวผู้อาศัยอยู่ในอเมริกาสมควรมีทางเลือกเป็นของตนเองโดยอิสระ ตามที่ตนเองชอบมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ
หากไม่พอใจระบบอเมริกันก็แพ็คกระเป๋ากลับประเทศของตนไปเสีย (สิ)
หรือแม้แต่การแบน (ban) สถานที่และสินค้าอเมริกันก็ยังได้   
เช่น หากเป็นผู้ที่อยู่แถบนิวยอร์ค และชอบช้อปแถวไทม์สแควร์ ก็ควรหันหลังให้ย่านการค้าดังกล่าวเสีย หรือหากเป็นผู้คนที่อยู่แถว แอล.เอ. ก็ไม่ควรใส่ใจต่อย่าน Beverly hill อะไรมากนัก อย่างน้อยคนเหล่านี้ก็ควรหันไปซื้อสินค้าจากญี่ปุ่น หรือสินค้าจากจีน หรือจากเอเชีย แทนสินค้าอเมริกัน เพราะทุกวันนี้มีสินค้าเหล่านี้มาวางขายในอเมริกาจำนวนมาก
การมองอเมริกันแบบ “อเมริกันอักลี่” (American ugly) เป็นความไม่พอใจ คับข้องใจ หรืออึดอัดใจของคนเชื้อสายต่างด้าวกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในอเมริกา เชื้อชาติอื่นผมไม่ทราบ แต่ผมคิดว่าเชื้อชาติไทยน่าจะมีจำนวนคนที่มองอเมริกันแบบ “อักลี่” เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองในเมืองไทยช่วงที่ผ่านมา และแม้แต่ที่กำลังเป็นอยู่ในเวลานี้ ซึ่งหลักฐานที่พบส่วนหนึ่งก็คือ โซเชียลมีเดียประเภทต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ เป็นต้น
ในความเห็นของผม กลุ่มคนไทยเหล่านี้ยังเอาแน่เอานอนในเรื่องความเป็นอเมริกันในประเทศอเมริกาไม่ได้ คือ พวกเขาไม่ทราบว่า รัฐอเมริกาและความหมายของอเมริกันคืออะไร โดยเฉพาะความหมายเชิงอุดมการณ์การเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ทุนนิยมเสรี พวกเขาจำนวนไม่น้อยถึงกับเกลียด “ลักษณะความเป็นทุนนิยมอเมริกัน” อย่างเข้าไส้ แต่พวกเขาก็รับค่าตอบแทนเป็นเงินอเมริกันดอลลาร์ และมีลักษณะการทำงานเพื่อผลตอบแทนแบบอเมริกัน   
เป็นกลุ่มคนไทยกลุ่มเดียวกับกลุ่มคนไทยผู้อาศัยอยู่ในอเมริกาที่สร้างโรงประกวด (show) วัฒนธรรมไทยขึ้นในอเมริกา ที่นี่พวกเขาถวิลหาความเป็นไทยกันขนานใหญ่  อีกทั้งเรียกร้องให้ผู้นำและนักการเมืองอเมริกัน จงอย่าได้ไปยุ่งกับการเมืองหรือด้านอื่นๆ ของประเทศไทย เพราะเมืองไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งมาก่อน
หรือบางทีอาจเป็นสถานทูตไทยและสถานกงสุลไทยในอเมริกา ที่พวกเขาคิดว่าหน่วยงานเหล่านี้เป็นตัวแทนอำนาจรัฐไทย พวกเขาคิดว่าเป็นที่พึ่งหลัก ที่จะต้องใช้อ้างอิงไว้เผื่อฉุกเฉิน เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นที่เมืองไทย รวมทั้งการพลอยร่วมยินดีและการพลอยติชม
พวกเขามองความเป็นส่วนตัวสูงของอเมริกันว่า คือ การเห็นแก่ตัวอย่างหนึ่ง มองเสรีภาพในแบบอเมริกันว่า เป็นเสรีภาพจอมปลอม เพราะระบบอเมริกันเข้มงวดเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมาย ชนิดที่เรียกได้ว่า เข้มงวดอย่างถึงที่สุด มองเศรษฐีอเมริกันว่า นี่คือช่องโหว่ช่องเบ้อเริ่มระหว่างคนรวยกับคนจน มองวัฒนธรรมอเมริกันว่า เป็นวัฒนธรรมบริโภคนิยม มองนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลอเมริกันว่า มุ่งประโยชน์ต่อบริษัทและคนอเมริกันเป็นที่ตั้ง มองการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลและเอกชนอเมริกันว่า เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น และเป็นการทำลายอัตลักษณ์ของประเทศนั้นๆ มองสื่ออเมริกันว่า เป็นสื่อที่ไม่มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง เป็นแต่เพียงสื่อโฆษณาชวนเชื่อให้ประเทศและรัฐบาลของตัวเอง มองว่าอเมริกันส่วนใหญ่ไร้ศาสนา ไร้ศีลธรรม ฯลฯ
ก็คงเหมือนคนนานาชาติโดยทั่วไปที่อาศัยอยู่ในอเมริกาด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆ ของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเพื่อการทำมาหากิน เพื่อการศึกษา หรือแม้กระทั่งเพื่อการเป็นตัวแทนของประเทศในฐานะเจ้าหน้าที่หรือพนักงานของรัฐ ซึ่งกลุ่มคนพวกหลังผมหมายถึง ข้าราชการที่เป็นตัวแทนของประเทศไทยจากหน่วยงานต่างๆ เพราะทุกวันนี้เรามีข้าราชการจากกระทรวงและจากกรุงเทพฯ มาประจำอยู่ในอเมริกาจำนวนมาก โดยไม่จำกัดว่าเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงการต่างประเทศหน่วยงานเดียว
ผมเข้าใจว่า “ปูมหลัง” ของแต่ละคน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเขามีความคิดเห็นต่อความเป็นอเมริกันต่างกันออกไป 
จากการพูดคุยกับคนไทยในอเมริกาหลายคน ความคิด “อเมริกันอักลี่” มีอยู่แทบทุกคน แต่ผมกลับแปลกใจที่พนักงานของรัฐหรือข้าราชการไทยที่นี่ มอง “อเมริกันอักลี่” (น่าจะ) มากที่สุด ทั้งๆ ที่พวกเขาเหล่านี้ต่างขวนขวายที่จะมาเป็นตัวแทนของรัฐไทยในอเมริกากันมาก่อนหน้านี้
มุมมองของข้าราชการไทยในอเมริกาบางคนไปไกลถึงขนาดมองว่า คนอเมริกันเป็นผู้ที่เห็นแก่ตัวกันมาก เพราะโดนความเป็นทุนนิยมบังคับให้ต้องเป็น และมองว่าสังคมอเมริกันเต็มไปด้วยความอึดอัด ประชาชนพูดไม่ออกและต้องทนยอมรับสภาพชีวิตไปวันๆ  ดูอย่างพวกนิวยอร์คสิ ต้องอยู่ท่ามกลางความเร่งรีบ เคร่งเครียด เพื่อความไม่มีอะไรในชีวิต
น่าเสียดายที่ข้าราชการเหล่านี้ กระทำในสิ่งย้อนแย้งกับความคิดของตนเอง คือ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยอยากย้ายจากอเมริกาไปที่อื่น หรือแม้กระทั่งย้ายกลับเมืองไทย การย้ายมาทำงานในอเมริกาถือว่าเป็นสิ่งดึงดูดมากกว่าที่อื่น ข้าราชการบางคนเตรียมปักหลักในอเมริกาหลังเกษียณอายุราชการแล้วก็มี แม้ปากจะพร่ำบ่นถึงความเลวร้ายของระบบอเมริกันก็ตาม
แต่แล้วดูเหมือนข้าราชการไทยเหล่านี้ไม่เคยพูดถึงระบบ “ช้างเหยียบนา พระยาเหยียบเมือง” ที่เป็นระบบอุปถัมภ์แบบไทยๆ ในอเมริกามากเท่าใดนัก โดยเฉพาะช่วงการเดินทางมาเยือนอเมริกาของข้าราชการชั้นสูงจากเมืองไทย ที่พวกเขาต้องให้การต้อนรับ และรับรองในการมาดูงานและการประชุมแต่ละครั้ง
ส่วนคนไทยในอเมริกาที่มองว่า ความเป็นอเมริกันนั้นน่าเกลียดน่าชัง  (โดยเฉพาะสาเหตุจากการที่อเมริกันไปยุ่งเรื่องเมืองไทยมากเกินไป) ส่วนใหญ่ก็ส่งลูกหลานเรียนในโรงเรียนของอเมริกัน ไม่เห็นมีใครส่งลูกหลานไปฝึกวัฒนธรรมไทย เรียนหนังสือที่เมืองไทยกันอย่างเอาจริงเอาจังแต่อย่างใด
พวกที่ทำงานในสมาคมไทยต่างๆ ที่ส่วนใหญ่มักจัดกิจกรรมระลึกถึงความหลังเชิงการถวิลหาเมืองไทย ล้วนแต่ต้องไปจดทะเบียนหรือทำธุรกรรมกับรัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละรัฐทั้งสิ้น
ไม่เว้นแม้แต่คนไทยบางคนที่ทำธุรกิจค้าวัฒนธรรมไทย จัดทัวร์เยาวชนหรือทัวร์ผู้ใหญ่หารายได้ แต่แล้วรายได้ดังกล่าวก็เป็นสกุลเงิน ยู.เอส.ดอลลาร์อีกเช่นกัน
ที่จริงแล้วการมอง American ugly นั้นไม่ใช่เพียงแต่คนเชื้อสายต่างด้าวมองอเมริกัน หากคนอเมริกันเองก็มองว่าระบบอเมริกันมีอะไรๆ ที่ ugly อยู่มากเช่นกัน อย่างเช่น ในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจที่มีการถกกันมากเกี่ยวกับช่องว่างของรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจน เพียงแต่การถกปัญหาดังกล่าวไม่ได้อยู่บนพื้นฐาน “ความไม่เป็นอเมริกัน” เหมือนบรรดาเชื้อสายต่างด้าว รวมถึงไม่มีลักษณะของการวิพากษ์แบบย้อนแย้ง “เกลียดตัวกินไข่” แต่อย่างใด หากเป็นการวิพากษ์เพื่อให้เห็นทางแก้ปัญหาโดยตัวคนอเมริกันที่ได้รับผลกระทบเอง เช่น การอาศัยกลไกการเมืองเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการแก้ไขปัญหา
ผมคิดว่าบางทีเชื้อสายไทยเราอาจสูงเกินความเป็นคนธรรมดาในแบบฉบับอเมริกัน ความเป็นคนธรรมดาจึงกลายเป็นเรื่องน่าเกลียดไปได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น