วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2557

อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ชี้คดี ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ สลายแดง ศาลอาญามีอำนาจพิจารณาพิพากษา

28 ส.ค. 2557 หลังจากที่วันนี้  ศาลอาญามีคำสั่งยกฟ้องคดีหมายเลขดำ อ.4552/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83, 84 และ 90 จากกรณีออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)เมื่อปี 2553 ทำให้เห็นมีผู้ถึงแก่ความตาย และบาดเจ็บจำนวนมาก
โดยศาลระบุว่ามูลเหตุแห่งคดี เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศอฉ. ซึ่งเป็นความผิดตามอำนาจหน้าที่ราชการ และเป็นการออกคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หาใช่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลอาญาไม่ ศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจรับคำฟ้องของโจทก์ทั้ง 2 สำนวน จึงพิพากษายกฟ้องคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 2 และยกฟ้องการขอเป็นโจทก์ร่วม
อย่างไรก็ตาม ข่าวสดออนไลน์ รายงานด้วยว่า นายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้มีความเห็นแย้งไว้ในสำนวนด้วยว่า 
ก่อนฟ้องคดีนี้ได้มีการขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ศาลอาญามีคำสั่งว่าผู้ตายถูกกระสุนปืนความเร็วสูงของเจ้าหน้าที่ทหารหรือกระสุนปืนยิงมาจากฝั่งของเจ้าพนักงาน ซึ่งศาลก็ได้ส่งสำนวนการไต่สวนไปยังอัยการเพื่อส่งให้พนักงานสอบสวน ดำเนินการต่อไป ตาม ป.อาญา มาตรา 150 วรรค 10 เมื่อศาลชี้ขาดว่าเจ้าพนักงานเป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงหรือยิงมาจากเจ้าพนักงาน พนักงานอัยการมีหน้าที่ต้องส่งสำนวนการไต่สวนให้แก่พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป เพื่อสอบสวนหาผู้กระทำผิด ซึ่งกรณีดังกล่าวอัยการส่งสำนวนให้พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นผู้สอบสวนตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547
ต่อมาพนักงานดีเอสไอได้เสนอความเห็นสมควรสั่งฟ้องจำเลยทั้งสองแล้ว โดยอัยการสูงสุดสั่งฟ้องจำเลยทั้ง 2 ตาม ป.วิอาญา มาตรา 143 ที่ระบุว่า “คดีฆาตกรรม” ซึ่งผู้ตายถูกเจ้าพนักงานที่อ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฆ่าตาย อธิบดีกรมอัยการมีอำนาจออกคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง คดีนี้อัยการสูงสุดจึงสั่งฟ้องจำเลยทั้งสองข้อหาฆาตกรรม ตาม ป.อาญา 288 ประกอบมาตรา 84 สืบเนื่องจากการไต่สวนชันสูตรพลิกศพดังกล่าว โจทก์จึงยื่นฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองรับโทษฐานเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด ข้อหาฆ่าคนตายตาม ป.อาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83, 84 ไม่ใช่ขอให้ลงโทษในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ 
แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องในตอนแรกว่าจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าพนักงาน แต่ก็เป็นเพียงคำบรรยายเพื่อให้ปรากฏที่มา ของการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดเท่านั้น การที่เจ้าพนักงานใช้อาวุธสงครามยิงผู้ตาย ย่อมเป็นการกระทำนอกเหนือตำแหน่งหน้าที่ราชการของจำเลยทั้งสอง โดยคำฟ้องระบุว่าจำเลยที่ 2 มีคำสั่งอนุมัติใช้อาวุธและกระสุนจริง รวมทั้งพลแม่นปืนปฏิบัติหน้าที่ จำเลยทั้งสองมีเจตนาเล็งเห็นผลว่าเจ้าพนักงานจะใช้อาวุธสงครามยิงประชาชนได้ จึงเป็นเรื่องการกระทำนอกเหนือตำแหน่งราชการ เป็นการก่อหรือใช้ให้เจ้าพนักงานกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ส่วนพยานหลักฐานจะรับฟังได้หรือไม่เพียงใดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง 
นอกจากนี้ความผิดฐานก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่าคนตายตามมาตรา 288 ประกอบมาตรา 84 ต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15-20 ปี แต่คดีที่ ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนนั้น เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ
ดังนั้น ความผิดที่โจทก์ฟ้องฐานใช้หรือก่อให้ฆ่าผู้อื่น จึงเป็นบทหนัก โทษสูงกว่าความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการอย่างมาก  พ.ร.บ. ว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 66 จึงได้บัญญัติให้ ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนการกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น ไม่ได้มุ่งหวังให้ดำเนินการไต่สวนความผิดฐานอื่น โดยเฉพาะความาผิดฐานฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นความผิดร้ายแรง ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการ เนื่องจากเป็นคดีอาญาแผ่นดิน ที่พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการต้องดำเนินการตาม ป.วิอาญา อยู่แล้ว 
แม้ ป.ป.ช.จะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ใช่องค์กรศาล ไม่มีอำนาจชี้ขาดหรือพิพากษาลงโทษผู้ใดได้ เพียงแต่ให้อำนาจตามมาตรา 66 ในการใช้ดุลพินิจว่าสมควรไต่สวนหรือไม่เท่านั้น ซึ่งความผิดฐานฆ่าผู้อื่นดังกล่าวก็สืบเนื่องมาจากการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ  แล้วฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่าเจ้าพนักงานเป็นผู้ใช้อาวุธปืนสงครามยิงผู้ตายโดยจำเลยทั้ง 2 เป็นผู้ก่อหรือใช้ให้กระทำความผิด จึงเป็นความผิดคนละฐานและแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง หาก ป.ป.ช.เห็นว่าความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการไม่มีมูล ก็ย่อมทำให้ความผิดฐานก่อหรือใช้ให้ฆ่าผู้อื่นยุติไปด้วย หากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับ ป.ป.ช.ทำหน้าที่ศาลในเวลาเดียวกันด้วย ซึ่งไม่ใช่ความมุ่งหมายของกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 66
นอกจากนั้นยังเป็นการตัดสิทธิผู้เสียหายซึ่งเป็นญาติผู้ตาย ตาม ป.วิอาญา มาตรา 150 วรรค 10 อีกด้วย หากอำนาจชี้ขาดไปอยู่ที่ ป.ป.ช. ตามคำพิพากษาขององค์คณะที่วินิจฉัยมาย่อมเป็นการตัดสิทธิของผู้เสียหาย จะเป็นการแปลความกฎหมายที่ปราศจากความยุติธรรมและขัดต่อหลักกฎหมาย เมื่อจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิด ก็ควรเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อให้คดีถึงที่สิ้นสุด เพื่อให้ยุติธรรมทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายตัดสิทธิฟ้องของโจทก์และผู้เสียหายเช่นนี้
นอกจากนั้นแม้การกระทำดังกล่าวจะเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว ระหว่างความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และข้อหาก่อหรือใช้ให้ฆ่าผู้อื่น แต่ก็ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้ความผิดกรรมเดียว ซึ่งเป็นบทเบา ระงับแล้วมีผลให้ความผิดบทหนักต้องระงับหรือยุติไปด้วย และปัจจุบันคดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการยังอยู่ในระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. โดยยังไม่มีคำสั่งทางใดทางหนึ่ง หากผลการไต่สวนได้ข้อยุติว่าไม่มีมูล ย่อมมีผลเฉพาะข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเท่านั้น ไม่มีผลต่อความผิดฐานก่อหรือใช้ให้ฆ่าผู้อื่น ซึ่งเป็นความผิดที่โจทก์ฟ้องนี้แต่อย่างใด
แต่หาก ป.ป.ช.มีมติว่าข้อกล่าวหานั้นมีมูล ตามมาตรา 66 กระทั่งมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางอาญาของนักการเมืองตามมาตรา 70 แล้ว ศาลก็จะรับฟ้องไว้เฉพาะข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเท่านั้น ศาลอาญายังคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาความผิดฐานก่อหรือใช้ให้ฆ่าผู้อื่นต่อไป แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าการกระทำเป็นความผิดกรรมเดียวกัน เป็นเรื่องที่ศาล โจทก์ และจำเลยทั้งสองจะแถลงต่อศาลว่าเป็นการกระทำผิดกรรมเดียว สมควรรวมการพิจารณาเข้าด้วยกัน ซึ่งศาลฎีกาเป็นศาลสูงสุดมีอำนาจสั่งให้โอนสำนวนมาพิจาณาหรือมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งได้อยู่แล้ว จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลทั้งสองมีอำนาจขัดแย้งกัน ดังนั้น เมื่อ ป.ป.ช.ยังไม่ชี้มูลก็ไม่มีเหตุที่จะคาดการณ์ล่วงหน้า แล้ววินิจฉัยว่าศาลอาญาไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ โดยยกอำนาจเด็ดขาดของศาลไปให้ ป.ป.ช. ชี้ขาดเสียเอง
จึงมีความเห็นแย้งว่า การสอบสวนของพนักงานสอบสวนดีเอสไอที่สืบเนื่องมาจากการไต่สวนชันสูตรพลิกศพตาม ป.วิอาญา มาตรา 150  ต่อมาอัยการสูงสุดได้มีความเห็นสั่งฟ้องต่อจำเลยทั้งสองต่อศาลอาญาในความผิดดังกล่าวนั้นถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นอำนาจของศาลอาญาที่จะพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวได้ จึงไม่เห็นชอบต่อคำพิพากษาดังกล่าว แต่เห็นควรว่าศาลอาญามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ และญาติผู้ตายที่เป็นผู้เสียหายมีสิทธิเข้าเป็นโจทก์ร่วม แล้วให้ดำเนินกระบวนการพิจารณาพิพากษาต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น