วันอาทิตย์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2557

คนไม่เห็นหัว ‘ชาติ’



‘ชาติ’ มักถูกใช้เป็นคำอธิบายในการเข้ารับตำแหน่งที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวโยงกับส่วนรวมในระดับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยามที่การรับตำแหน่งนั้นล่อแหลมต่อการละเมิดหลักการร่วมของสังคม เป็นต้นว่า ความล่อแหลมต่อศีลธรรมว่าด้วยการรักษาคำพูด ในกรณี “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ของสุจินดา คราประยูรครั้งรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2535 หรือความล่อแหลมต่อการรักษาระบอบประชาธิปไตย ในกรณีการเข้ารับตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ของนรนิติ เศรษฐบุตรและสมคิด เลิศไพฑูรย์ซึ่งคนจำนวนหนึ่ง เช่น กลุ่ม TU Spirit Team ให้เหตุผลสนับสนุนว่าทั้งสองจะได้ “ทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ” เช่นเดียวกับปรีดี พนมยงค์และป๋วย อึ๊งภากรณ์

‘ทำเพื่อชาติ’ ได้ทำหน้าที่แปลงสำนึกสังคมให้การเสียสัตย์เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ทำให้ระบอบเผด็จการเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ รวมถึงทำให้การเลือกเพิกเฉยต่อบริบทการเมืองและประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันระหว่างปรีดีและป๋วยกับนรนิติและสมคิดแล้วเหมารวมว่าทั้ง 4 ท่านนี้มีพฤติกรรมแบบเดียวกันเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ของคนจำนวนหนึ่ง

‘ทำเพื่อชาติ’ จึงทำงานในฐานะความหมายสากลที่ตัดข้ามความหมายต่าง ๆ สามารถหักล้าง/เจือจางศีลธรรม หลักการ และประวัติศาสตร์ลง ทำให้ของทั้ง 3 สิ่งนี้หรือความหมายอื่น ๆ ล้วนหมดความหมาย/ไม่มีความแตกต่างเบื้องหน้าประโยชน์ของชาติ

ในขณะที่การกระทำการในนาม ‘ชาติ’ มีความหมายและความสำคัญในระดับนี้ แต่การระบุว่าอะไรคือประโยชน์ของชาติ มักจะคลุมเครือไม่เป็นรูปธรรม คำอธิบายเสริมของการ ‘ทำเพื่อชาติ’ มักจะเป็นเรื่องของคุณสมบัติส่วนบุคคล เช่น เป็นคนดีคนมีความรู้ และเจตนารมณ์ เช่น จะทำงานด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม เพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความสงบสุขของบ้านเมือง (โปรดดูประกาศและแถลงการณ์จำนวนมากของ คสช.) 

การยึดเกณฑ์คุณสมบัติและเจตนารมณ์ส่วนบุคคลเป็นเครื่องชี้ ‘ประโยชน์ของชาติ’ นั้นมีปัญหาในการแยกความต่างระหว่างบุคคลหนึ่ง ๆ ที่ทำ/ประกาศตัวว่าทำ “เพื่อชาติ” เหมือนกัน นั่นคือไม่สามารถแยกแยะนาย ก. ออกจากนาย ข. หรือนาย ค. หรือชวน บรรหาร อภิสิทธิ์ ทักษิณและประยุทธ์ออกจากกันได้ เพราะต่างก็เป็นผู้ที่มี ‘ความรู้ความสามารถ’ ทำงานเพื่อ ‘ประโยชน์ของประเทศชาติ’ ในสายตาของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวสะท้อนผ่านการที่ TU Spirit Team ไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างนรนิติและสมคิดกับปรีดีและป๋วย

อย่างไรก็ตามการบ่งชี้ ‘ประโยชน์ของชาติ’ ในทิศทางดังกล่าวสะท้อนว่าสังคมเห็นผลประโยชน์ของชาติโดยพื้นฐานเกี่ยวพันกับเรื่อง 3 เรื่องคือ ที่มา กระบวนการและเป้าหมาย เช่นนี้แล้วการระบุรูปธรรมผลประโยชน์ของชาติจึงเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่าง ที่มา กระบวนการและเป้าหมายของการกระทำในนามผลประโยชน์แห่งชาตินั้นกับนิยามชาติว่า ‘ชาติ’ คืออะไร/คือใคร

คำอธิบายเรื่องชาติที่ได้รับการยอมรับของนักวิชาการท่านหนึ่งคือ ชาติเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรม เป็นปรากฏการณ์ใหม่ กำเนิดขึ้นมาได้ด้วยปัจจัยพื้นฐานอย่างน้อย 2 ประการคือการที่คนสามารถจินตนาการถึงเพื่อนร่วมชุมชนคนอื่น ๆ ได้โดยมิต้องรู้จักพบปะหน้าตาและการที่คนในชุมชนนั้น ๆ มีความรู้สึกเป็นเจ้าของชุมชนร่วมกัน ในแง่นี้ชาติจึงหมายถึงชุมชนของเสรีชนที่เสมอภาค (อย่างน้อยในหัวใจของพวกเขา) เพราะหากมิใช่เสรีชนที่เสมอภาคแล้วพวกเขาย่อมไม่สามารถครอบครองเป็นเจ้าของมีส่วนร่วมในชุมชนนั้นได้

ทั้งนี้อาจทำความเข้าใจเรื่องชาติอย่างง่ายที่สุดได้จากการดูความแตกต่างทางเป้าหมายและสถานะของทหารที่เสียชีวิตในสมรภูมิ ทหารที่ตายในสนามรบก่อนกำเนิดชาติ-ไม่มีชาตินั้นพวกเขาตายเพื่อนายและตายในฐานะข้าทาสหรือไพร่ของนาย ในขณะที่ทหารที่ตายในสนามรบเมื่อชาติกำเนิดแล้วนั้นพวกเขาตายเพื่อชาติในฐานะเสรีชน พวกเขาสละชีวิตไปเพื่อเพื่อนร่วมชุมชนคนอื่นที่เท่า ๆ กันกับพวกเขาที่ปรากฏเป็นองค์รวมของจินตนาการในนามชาติ กล่าวอย่างถึงที่สุด การกระทำเพื่อชาตินั้นไม่สามารถกระทำโดยมีจินตนาการถึงผู้หนึ่งผู้ใดเพียงผู้เดียวได้

ด้วยเหตุนี้คงไม่ผิดที่จะกล่าวว่า ‘ชาติ’ นั้นมีประชาชนเป็นองค์ประกอบสำคัญและเมื่อชาติคือประชาชน การทำเพื่อ ‘ชาติ’ จึงต้องพิจารณาว่าการดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจบริหารจัดการทรัพยากรของคนทั้งประเทศนั้นมี ที่มา กระบวนการและเป้าหมายในการใช้อำนาจดังกล่าวสอดคล้องกับสาระสำคัญนี้หรือไม่ กล่าวคือ ที่มาของอำนาจจะต้องยึดโยงกับประชาชนด้วยการที่ประชาชนมีอำนาจแต่งตั้งหรือให้คุณให้โทษผู้อยู่ในตำแหน่งไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง กระบวนการใช้อำนาจจะต้องให้ประชาชนมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยการกำกับดูแลมิให้ใช้มีการใช้อำนาจล่วงล้ำก้ำเกินสิทธิพื้นฐานของประชาชนและเป้าหมายในการใช้อำนาจนั้นจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ที่ประชาชนเองเป็นผู้กำหนดว่าพวกเขาต้องการอะไรอย่างไรมิใช่เป้าหมายที่ประกาศโดยบุคคลกลุ่มน้อย หรืออย่างน้อยการกระทำใด ๆ จะต้องเป็นไปเพื่อขยายพื้นที่อำนาจของประชาชนให้มากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับสถานะดั้งเดิม

ด้วยเหตุนี้การรับตำแหน่งใน สนช ของนรนิติ สมคิด หรือการดำเนินการต่าง ๆ ของบุคคลหรือคณะบุคคลใดๆ ในนามชาติหากมิได้เป็นไปตามเงื่อนไขดังข้างต้นคงต้องนับว่าคำกล่าวนั้นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงหรือมิเช่นนั้น ‘ชาติ’ ของพวกเขาทั้งหลายคงมิได้มีประชาชนเป็นส่วนสำคัญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น