'ประยุทธ์' เปิดงานคิกออฟ สปช.ยืนยันไม่แทรกแซง ไม่ชี้นำการดำเนินการตามโรดแมประยะ 2 แต่จะคอยอำนวยความสะดวกให้ ย้ำปลาย ส.ค.นี้มี ครม. ส่วนใครอยากเป็นนายกฯ ให้มาสมัคร 'ลีน่าจัง' บุกหน้างานเผยอยากเป็น สปช. กินเงินเดือน เหตุธุรกิจขาดทุน คสช.สั่งปิด ส่วนเลขาธิการ กกต. มั่นใจการสรรหากรรมการสรรหาทั้ง 11 ด้าน และ สปช. ไม่มีการบล็อกโหวตหรือล็อกสเปก
9 ส.ค. 2557 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการจัดงาน “เส้นทางการปฏิรูปประเทศไทย” หรือคิกออฟ สปช. ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี ตลอดช่วงเช้าเป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ และพรรคการเมืองมาร่วมจำนวนมาก อาทิ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ แกนนำ นปช. นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ แนวร่วม นปช. นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส. นายพุฒิพงศ์ ปุณณกันต์ แนวร่วม กปปส. นายสาธิต ปิตุเตชะ ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยโดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานกล่าวเปิดงานระบุถึงความจำเป็นที่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศให้เดินไปข้างหน้า
หัวหน้า คสช. กล่าวว่า ทหารเห็นปัญหาที่จะต้องแก้ไขทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและต่อรองกับนานาประเทศให้ได้ ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะอธิบายให้คนทั้งโลกเข้าใจ แต่จำเป็นต้องทำให้ประชาธิปไตยของประเทศไทยเดินไปข้างหน้า เพราะที่ผ่านมาได้นำรูปแบบของต่างประเทศมาใช้กับสังคมไทยไม่ได้ ขอให้ทุกฝ่ายให้อภัยกันกับสิ่งที่ผ่านมา ร่วมเดินไปข้างหน้าและไม่ควรนำสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้อง
สำหรับการเดินหน้าปฏิรูปประเทศครั้งนี้ หัวหน้า คสช.กล่าวว่า ที่ผ่านมาทุกฝ่ายต้องการให้ปฏิรูปอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะมีปัจจัยที่ทำเพื่อตัวเองเป็นหลัก ทั้งที่ความจริงทุกฝ่ายต้องมองไปข้างหน้าให้ไกลตัว เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมให้มากที่สุด หากเป็นเช่นนั้นบ้านเมืองจะไม่วุ่นวายและคงไม่เห็นตนเองมายืนอยู่ในจุดนี้ ขอให้ทุกฝ่ายเลิกคิดถึงต้นตอของปัญหา โยนความผิดให้แก่กัน เพราะมีกฎหมายบังคับใช้อยู่แล้วทุกอย่างต้องว่าไปตามกฎหมาย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้กระบวนความยุติธรรมขาดความเชื่อมั่นและศรัทธา จำเป็นต้องปฏิรูป เช่นเดียวกับความมีคุณธรรมจริยธรรมของประชาชน และต้องสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาใน 3 อำนาจอธิปไตยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานให้ตามจารีตประเพณี หากบริหารใน 3 อำนาจเกิดความผิดถูกจะขอรับผิดชอบเองทั้งหมด การปฏิรูปครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับประชาชน คสช. จะดำเนินการตามโรดแมปที่วางไว้ ยืนยันว่าในระยะที่ 2 ที่จะปฏิรูป จะไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่จะช่วยอำนวยความสะดวกเท่านั้น ไม่ได้เป็นการชี้นำ แต่หากปฏิรูปไม่แล้วเสร็จต้องดำเนินการต่อในรัฐบาลใหม่ คาดว่าในวันที่ 2 ตุลาคมนี้ จะสามารถนำรายชื่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงลงพระปรมาภิไธยได้
“ที่ผ่านมาไม่เคยเอื้อประโยชน์ให้ใคร ไม่มีวิ่งเต้นเข้ามาเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขออย่าวิจารณ์ผ่านสื่อเกี่ยวกับตัวบุคคลที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรี เพราะขณะนี้ยังไม่ได้แต่งตั้ง จะได้ข้อสรุปประมาณปลายเดือนสิงหาคมนี้ ส่วนใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องรอกันไป ก็ตั้งจิตปรารถนากันไป ใครอยากเป็นก็มาสมัครได้เลย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
.
"ลีน่าจัง" บุกงานคิกออฟสภาปฏิรูปฯ อยากเป็น สปช. กินเงินเดือน เหตุธุรกิจขาดทุน คสช.สั่งปิด
ด้านนางลีน่า จังจรรจา หรือ ลีน่าจัง เจ้าของสถานีวิทยุโทรทัศน์ฮ็อตทีวี ซึ่งถูกคำสั่ง คสช.ปิด สถานีโทรทัศน์ของตน ได้เดินทางเข้ามาร่วมงานวันเริ่มต้นสภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นที่สโมสรทหารบก ถนนวิถาวดีรังสิต โดยนางลีน่าจังได้เดินทางมาในช่วงเช้าเพื่อขอเข้าร่วมงานและเสนอชื่อ ตนในฐานะตัวแทนพรรคการเมือง เข้าเป็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ แต่ได้ถูกสารวัตรทหาร ควบคุมตัวไว้ และขอให้ไปอยู่ในพื้นที่ที่จัดให้ และไม่อนุญาตให้เข้าร่วมงาน
โดยเมื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวจบและเดินทางกลับ ทหารจึงอนุญาตให้นางลีน่าจัง เข้ามาในงานได้ โดยได้ยื่นหนังสือกรณีบริษัทเอกชนรายหนึ่ง เรียกเก็บค่าสัญญานโทรทัศน์ไม่เป็นธรรม โดยมีตัวแทนเจ้าหน้าที่ทหารรับมอบ นอกจากนี้นางลีน่าจังยังเปิดเผยว่า ตนอยากเป็น สปช. และจะเดินทางไปสมัครกับ กกต.ในวันที่ 14 สิงหาคมนี้ เพราะอยากได้เงินเดือน สปช.เพราะธุรกิจที่ตนทำอยู่ประสบภาวะขาดทุน จากการถูกปิดโดย คสช.
“วิษณุ” ระบุประธาน สปช.ต้องอดทนเพราะคุมคนจำนวนมาก
นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวบรรยายกรอบแนวทางการปฏิรูปตามพระราชกฤษฎีกา ภายในงาน “เส้นทางการปฏิรูปประเทศไทย” ว่า หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ จะเลือกนายกรัฐมนตรีและเข้าสู่กระบวนการตั้งคณะรัฐมนตรี คาดว่าต้นเดือนกันยายนนี้ จะมีการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภาฯ ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดเป็นไปตามโรดแมปที่วางไว้ การทำงานของรัฐบาลจะคู่ขนานไปกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐบาลมีหน้าที่บริหารประเทศ สร้างความปรองดอง และสนับสนุนแนวทางปฏิรูป
“หน้าที่ของ สปช. มี 2 เรื่องหลัก คือ เสนอแนะแนวทางการปฏิรูปและให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ก่อนว่า การปฏิรูปหมายถึงอะไร ทำไมต้องปฏิรูป จะปฏิรูปอย่างไร สปช.คืออะไร ทำอะไรได้บ้าง และต้องมีความหวังว่าการทำงานของ สปช.ต้องประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ การทำหน้าที่ของ สปช.มีความสำคัญ จึงอยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน ขณะเดียวกัน สปช.ต้องส่งตัวแทน 20 คน เข้าไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรด้วย
นายวิษณุ กล่าวถึงกรณีมีสังเกตว่า ในกฎหมายสรรหา สปช. ให้อำนาจหัวหน้า คสช.ตัดสินปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการสรรหาตัวบุคคล ว่า เป็นการยืดหยุ่นและเพื่อให้การทำงานมีความสะดวก หากเกิดปัญหาเกี่ยวกับจำนวนคนหรือระยะเวลาในการทำงานของ สปช. หัวหน้า คสช.สามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาได้ โดยไม่ต้องออกเป็นกฎหมาย และหากมีปัญหาหรือมีผู้ที่เห็นต่าง สามารถยื่นศาลปกครองให้ตัดสินได้ เชื่อว่าจะไม่กระทบการทำงานของ สปช. เพราะเมื่อศาลรับเรื่องไปพิจารณา ก็ให้บุคคลหรือเรื่องที่มีปัญหาชะลอหรือหยุดชะงักไปก่อน แต่เรื่องอื่นยังเดินหน้าได้ตามปกติ ยืนยันว่าจะไม่มีการล็อบบี้การแต่งตั้งสมาชิกและประธาน สปช.แน่นอน คนที่มาทำหน้าที่ประธาน สปช.ได้ต้องมีความอดทนสูง เพราะต้องเข้ามาควบคุมสมาชิกที่มาจากหลายภาคส่วนที่จะมีความเห็นแตกต่างกัน
มั่นใจสรรหา กก.สรรหา-สปช.ไม่มีบล็อกโหวต
ด้านนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงขั้นตอนการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่าจะเปิดให้นิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไรเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมเป็นคณะกรรมการสรรหา 11 คณะ ตั้งแต่วันที่14 สิงหาคม - 2 กันยายน 2557
ส่วนกรณีพรรคการเมืองใหญ่ประกาศไม่ร่วมเสนอชื่อ เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า พรรคการเมืองทั้งหมด 73 พรรค อาจมีพรรคอื่นส่ง ยืนยันว่าจะไม่เลือกปฏิบัติในการคัดเลือก เพราะกรรมการสรรหา 11 ด้าน จะต้องเลือกคนมีความรู้ มีประสบการณ์ เข้ามาทำงาน เชื่อว่าจะไม่มีการบล็อกโหวต ล็อกสเปกกรรมการสรรหาทั้ง 11 ด้าน และ สปช.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น