เห็นขึ้นหัวข้อบทความอย่างนี้อย่าไปคิดว่า เป็นเรื่องของเผด็จการทหารน้องใหม่ในเอเชียที่กำลังขึ้นหม้อในขณะนี้ แต่จะเล่าถึงภาพยนตร์ที่จัดฉายโดย ชมรมตุ๊ดตู่เพื่อประชาธิปไตย ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันเสาร์ที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นภาพยนตร์ของชาร์ลี แชปลิน 2 เรื่อง คือ เรื่อง ยุคสมัยใหม่ (The Modern Time) และโดยเฉพาะเรื่อง จอมเผด็จการเก๋ากึ๊กส์ (The Great Dictator) โดยมี คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี มาเป็นวิทยากรบรรยายความเป็นมาของหนังทั้งสองเรื่อง
ชาร์ลี ชื่อเดิมคือ ชาลส์ สเปนเซอร์ แชปลิน จูเนียร์ เป็นชาวอังกฤษ เกิดที่กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 16 เมษายน ค.ศ.1889 พ่อและแม่เป็นนักแสดง แต่หย่าขาดจากกัน ชาร์ลีและพี่ชายต่างพ่อชื่อ ซิดนีย์ อยู่กับมารดา ต่อมา มารดาล้มป่วยและเสียสติ ชาร์ลีและพี่ชายจึงมีชีวิตวัยเด็กที่ลำบากยากจนอย่างมาก จนถึงอายุ 12 ปี เขาก็ได้โอกาสเป็นนักแสดง ต่อมาเขาได้เดินทางไปอเมริกา และได้โอกาสในการแสดงภาพยนตร์เป็นตัวตลก และเริ่มได้รับความนิยมอย่างมาก ทำให้มีฐานะดีขึ้น
ตัวละครที่มีชื่อเสียงที่สุดของแชปลิน คือ "คนจรจัด" (The Tramp) ปรากฏตัวครั้งแรกในภาพยนตร์เรื่อง Kid Auto Races at Venice (1914) เขาสร้างความชื่นชอบโดยสร้างภาพเป็นตัวตลกที่สวมเสื้อคับ กางเกงหลวม รองเท้าขนาดใหญ่ สวมหมวกกลมใบจิ๋ว ควงไม้เท้า และติดหนวดแปรงสีฟันเหนือริมฝีปาก หลังจากที่ประสบความสำเร็จทางด้านการแสดง ชาร์ลีก็เริ่มเขียนบทและกำกับการแสดงเอง
ภาพยนตร์เงียบของชาร์ลีส่วนมากเป็นภาพยนตร์ตลก แต่ก็จะมีแนวคิดในการเสียดสีสังคม โดยเฉพาะความคิดที่มีต่อสังคมในระบบทุนนิยม เช่นเรื่อง “ตื่นทอง” (The Gold Rush - 1925) เป็นเรื่องของยุคคลั่งทองในอเมริกา เรื่อง “ยุคสมัยใหม่" (1936) เสียดสีสังคมอุตสาหกรรม ที่ลดคุณค่าคนให้เป็นเครื่องจักร เป็นต้น และด้วยทัศนะทางการเมืองของเขา ทำให้เขาถูกโจมตี และกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จึงถูกเนรเทศออกจากอเมริกาเมื่อ ค.ศ.1952 อย่างไรก็ตาม เขาได้กลับไปอเมริกาอีกครั้ง เมื่อ ค.ศ.1972 เพื่อไปรับรางวัลตุ๊กตาทองเกียรติยศ เขายังมีชีวิตต่อมาจนถึงแก่กรรมเมื่อ ค.ศ.1977
สำหรับภาพยนตร์เรื่อง จอมเผด็จการเก๋ากึ๊กส์ (The Great Dictator) เข้าฉายเมื่อปี ค.ศ.1940 เป็นภาพยนตร์เสียงเรื่องแรกของเขา และกลายเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในด้านการเงิน ในปีที่มีการสร้างภาพยนตร์นี้ สงครามโลกเกิดขึ้นแล้วในยุโรป จากการที่เยอรมนีบุกโปแลนด์ในเดือนกันยายน ค.ศ.1939 และอังกฤษกับฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมนี ส่วนอิตาลีเข้าร่วมสนับสนุนเยอรมนี แต่สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต ยังไม่ได้เข้าร่วมสงครามเต็มตัว ภาพยนตร์เรื่องนี้ สร้างขึ้นมาเพื่อล้อเลียน อด็อฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำพรรคนาซีเยอรมนี และ เบนิโต มุสโลลินี ผู้นำเผด็จการอิตาลี เพื่อเสียดสีว่า พฤติกรรมของจอมเผด็จการบ้าอำนาจเป็นเรื่องตลกและน่าขบขัน
เนื้อหาของเรื่อง เปิดฉากเมื่อ ค.ศ.1918 ปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งชาร์ลี แสดงเป็นพลทหารนิรนามคนหนึ่งของประเทศโทไมเนีย ที่ออกรบในสงครามสนามเพลาะ และได้ช่วยเหลือผู้กองชูลต์ ซึ่งอ้างว่า มีจดหมายลับที่จะช่วยให้ประเทศชนะสงครามได้ ทั้งสองคนขึ้นเครื่องบินหนีข้าศึก เพื่อนำความลับมาแจ้งกองบัญชาการ แต่เครื่องบินตก และได้ทราบว่า ประเทศแพ้สงคราม พลทหารนิรนามได้รับบาดเจ็บ สูญเสียความทรงจำ ต้องเข้าโรงพยาบาลถึง 10 ปี
พลทหารนิรนามผู้นี้เป็นช่างตัดผมอยู่ที่ชุมชนชาวยิวแห่งหนึ่ง ต่อมา เมื่อเขาออกจากโรงพยาบาล ประเทศโทไมเนียตกอยู่ภายใต้การปกครองของ อะเดนอย ฮิงเกล ผู้นำเผด็จการ ที่บ้าอำนาจ คลั่งสงคราม สร้างอุดมการณ์คลั่งชาติโดยต่อต้านชาวยิว ซึ่งชาร์ลีเองก็แสดงเป็นฮิงเกลดด้วย สำหรับผู้ช่วยของฮิงเกลที่สำคัญคือ การ์บิช รัฐมนตรีโฆษณาการ และ แฮร์ริง รัฐมนตรีกลาโหม สัญลักษณ์ของพรรคเผด็จการของฮิงเกล ไม่ใช่เครื่องหมายสวัสดิกะ แต่เป็นเครื่องหมายกากบาทสองอัน
เมื่อช่างตัดผมกลับมาที่ร้าน เขาพยายามที่จะลบคำว่า “ยิว”ที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ทางการมาฉีดไว้ที่ร้าน จึงถูกเจ้าหน้าที่จับกุม แต่ฮันนา ซึ่งเป็นนางเอกของเรื่องได้ช่วยเหลือโดยใช้กระทะฟาดหัวเจ้าหน้าที่ แต่ต่อมา ฝ่ายเจ้าหน้าที่คุกคามมากขึ้น ช่างตัดผม ฮันนา และเพื่อนบ้านชาวยิวจึงเตรียมที่จะหนีไปตั้งถิ่นฐานในประเทศเพื่อนบ้าน คือ ออสเตอลิช (ออสเตรีย) แต่ช่างตัดผมถูกจับตัวได้เสียก่อน พร้อมกับผู้พันชูลต์ ซึ่งคัดค้านนโยบายปราบชาวยิวของฮิงเกล ขณะที่ฮันนาและเพื่อนหนีไปได้
ปรากฏว่า ฮิงเกลมีแผนการที่จะบุกออสเตอลิช แต่ถูกคัดค้านจากเบนซิโน นะปาโลนี ผู้นำเผด็จการของประเทศแบคทีเรีย ฮิงเกลโกรธ และลงนามในหนังสือประกาศสงคราม ในขณะที่นะปาโลนีโทรศัพท์มาพอดี ฮิงเกลจึงล้มเลิกการประกาศสงคราม และเชิญนะปาโลนีมาเยือนโทไมเนีย จอมเผด็จการทั้งสองได้มาพบกัน และแสดงการข่มกันในทุกกรณี ฮิงเกลได้แสดงแสนยานุภาพทางการทหารเพื่อให้นะปาโลนีประทับใจ ทั้งสองผู้นำลงนามในสัญญา จากนั้น ฮิงเกลก็บุกออสเตอลิช
ชูลต์กับช่างตัดผมหนีออกจากค่ายกักกันได้ และปลอมตัวด้วยการสวมชุดทหารโทไมเนียเดินทางไปพรมแดนออสเตอลิช จึงถูกเข้าใจผิดว่าช่างตัดผมเป็นท่านผู้นำ ส่วนฮิงเกลตัวจริงไปล่านกเป็ดน้ำแล้วตกน้ำมอมแมม จึงถูกเข้าใจผิดว่าเป็นช่างตัดผมและถูกนำตัวไปเข้าค่ายกักกัน ช่างตัดผมถูกนำตัวไปยังเมืองหลวงของออสเตอลิช และได้รับเชิญให้ขึ้นไปกล่าวสุนทรพจน์แห่งชัยชนะ ณ จุดนี้เองเป็นฉากจบเรื่อง ที่ชาร์ลีได้กล่าวสุนทรพจน์ผ่านช่างตัดผม เนื้อหาเป็นการต่อต้านเผด็จการที่ลึกซึ้งมาก โดยเสนอถึงโลกที่เป็นธรรม และมีเสรีภาพ ประโยคสำคัญที่สุชาติ สวัสดิ์ศรี แปลถอดความมีใจความว่า
“เผด็จการทั้งหลายจะม้วยมอด อำนาจที่พวกเขาเอาไปจากประชาชน จะกลับคืนสู่ประชาชน มนุษย์หลั่งเลือดล้มหายตายจากไป แต่เสรีภาพจะคงอยู่”
ข้อสังเกตคือ ภาพยนตร์ทั้งหลายของชาร์ลี แชปลิน จะลงท้ายด้วยความหวังเสมอ แม้ว่าตัวละครของเขาจะเผชิญกับความไม่เป็นธรรมและความโหดร้ายอย่างไรก็ตาม วลีแห่งความหวังในสุนทรพจน์นี้ ชาร์ลีได้ประกาศผ่านช่างตัดผมว่า
“ในนามแห่งประชาธิปไตย เราจงมาใช้อำนาจนั้น จงมาร่วมมือกัน จงมาต่อสู้เพื่อโลกใหม่ โลกอันรื่นรมย์ ที่จะให้มนุษย์มีโอกาสทำงานร่วมกัน ให้วัยหนุ่มสาวมีอนาคต และให้วัยชรามีความมั่นคง
ด้วยคำมั่นสัญญานี้ พวกมนุษย์กินเลือดที่ขึ้นสู่อำนาจนั้นล้วนแต่หลอกลวง พวกเขาไม่ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ และพวกเขาจะไม่มีวันทำ เผด็จการทั้งหลายทำได้แต่เพียงทำให้ตัวเองเท่านั้นเป็นอิสระ แต่กลับกดประชาชนลงเป็นทาส”
บทเรียนจากภาพยนตร์เรื่องนี้ อาจจะสรุปได้ว่า ระบอบเผด็จการไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหน ก็เป็นเรื่องตลกและน่าขัน ชาร์ลีได้บอกเราว่า เผด็จการไม่มีวันที่จะชนะ ขอให้มีความหวังต่อประชาชนเสมอ
ไม่น่าเชื่อว่า ภาพยนตร์ของชาลีเรื่องนี้ ยังทันสมัยมากสำหรับสังคมไทยปัจจุบัน!
เผยแพร่ครั้งแรกใน: โลกวันนี้วันสุข ปีที่ 10 ฉบับที่ 476 (9 - 15 สิงหาคม 2557)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น