วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2557

‘พระสุเทพ’ เบิกความคดีฮิโรยูกิฯ 10 เมษา ไล่ Timeline ระบุออกคำสั่งให้ จนท.ใช้อาวุธป้องกันตนเองหลังชุดดำโจมตี

 ‘ฮิโรยูกิ-วสันต์-ทศชัย’

พระสุเทพ เบิกความไต่สวนการตาย ‘ฮิโรยูกิ’ 10 เม.ย.53 ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ระบุออกคำสั่งให้จนท. ใช้อาวุธป้องกันตนเองหลังชุดดำโจมตี ยันพยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยสันติวิธี เพื่อรักษานิติรัฐ แต่นปช. ขยายพื้นที่การชุมนุมสร้างปัญหาจราจรอย่างมาก นัดฟังคำสั่ง 30 เม.ย. 2558
วานนี้ (19 ธ.ค. 2553) ศาลอาญากรุงเทพใต้มีนัดสืบพยาน สุเทพ เทือกสุบรรณ หรือ พระสุเทพปภากโรพยานปากสุดท้ายของไต่สวนชันสูตรพลิกศพของฮิโรยูกิ มูราโมโต้ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น ผู้ตายที่ 1 วสันต์ ภู่ทอง ผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ผู้ตายที่ 2 และทศชัย เมฆงามฟ้า ผู้ชุมนุม นปช. ผู้ตายที่ 3 จากการถูกยิงเสียชีวิตในคืนวันที่ 10 เม.ย. 2553 จากปฏิบัติการขอคืนพื้นที่การชุมนุม นปช. ของทหารบนถนนดินสอ บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา โดยเป็นการสืบผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
พระสุเทพ เบิกความว่าเมื่อปี 2553 ขณะนั้นตนได้ดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ตนได้เท้าความไปก่อนเกิดการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ในช่วงมี.ค.-พ.ค. ปี 2553 ว่า ตั้งแต่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากการลงมติเลือกของสภาผู้แทนราษฎร ใน 15 ธ.ค. 2551 ก็ถูกกลุ่ม นปช. ประท้วงต่อต้าน ซึ่งได้ก่อเหตุรุนแรงถึงขั้นปิดล้อมรัฐสภาและต่อมา 10-12 เม.ย. ปี 2552 ก็มีการไปชุมนุมปิดล้อม โรงแรมรอยัลคลิฟบีช รีสอร์ท พัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมอาเซียนซัมมิทจนต้องยกเลิกการประชุมไป
จากนั้น นปช.ยังได้ยึดกรุงเทพมหานครโดยการปิดถนนตามแยกต่างๆ และก่อเหตุเอารถโดยสารประจำทาง รถแท็กซี่ มาเผา รัฐบาลจึงต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งในวันที่ประกาศ กลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ยังได้เข้าปิดล้อมกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรัฐบาลใช้เป็นสถานที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และได้พยายามเข้าทำร้ายตนและอภิสิทธิ์ แต่เนื่องจากอยู่ในรถประจำตำแหน่ง ซึ่งเป็นรถกันกระสุนจึงไม่ได้รับอันตราย แต่ นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีและสุธรรม ลิ้มสุวรรณเกษม รองเลาขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ถูกทำร้ายบาดเจ็บสาหัสรวมถึงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำตัวนายกรัฐมนตรีและผู้ชุมนุมยังได้ยึดอาวุธไปและนำไปแสดงบนเวที นปช. ที่ข้างทำเนียบรัฐบาลอีกด้วย
รัฐบาลจึงได้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าคลี่คลายสถานการณ์จน นปช. ยอมยกเลิกการชุมนุมและส่งผู้ชุมนุมกลับภูมิลำเนาในวันที่ 14 เม.ย. 2552 โดยในเหตุการณ์ไม่ได้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิต แต่มีชาวบ้านในชุมชนนางเลิ้งเสียชีวิต 2 รายจากการถูกอาวุธปืนยิงโดยผู้ชุมนุม นปช. หลังจากนั้นแกนนำได้ประกาศให้ประชาชนเข้าใจผิดว่ารัฐบบาลได้สั่งฆ่าประชาชนเสียชีวิตหลายร้อยคนแล้วทหารนำศพไปทิ้งและซ่อนไว้เพื่อสร้างความเกลียดชังต่อรัฐบาล และมีการปลุกระดมต่างๆ ผ่านทางโทรทัศน์ดาวเทียมและวิทยุชุมชน
ต่อมาในปี 2553 วันที่ 26 ก.พ. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินยึดทรัพย์อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร แกนนำกลุุ่ม นปช. ก็ได้ประกาศชุมนุมใหญ่ที่กรุงเทพฯ ทันที โดยในระหว่างวันที่ 9-11 มี.ค. ได้ประกาศระดมพลทางภาคเหนือและอีสานให้นำรถที่ใช้ในการเกษตรเข้ามาปิดล้อมกรุงเทพฯ
พระสุเทพเบิกความว่า ได้เสนอนายกรัฐมนตรีให้มีการตั้งคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ และให้ประกาศใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติในวันที่ 9 มี.ค. เห็นชอบให้ประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันส่งผลกระทบต่อการรักษาความมั่นคงภายใน ในพื้นที่กรุงเทพฯ บางอำเภอของนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐม ฉะเชิงเทรา อยุธยา และให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.)รับผิดชอบป้องกัน ระงับยับยั้งเหตุร้าย โดยนายกฯ ได้มอบหมายให้ตนเป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ผอ.ศอ.รส.) โดยได้ออกประกาศและข้อกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตาม พรบ.ความมั่นคง บังคับใช้เป็นห้วงเวลา 4 ห้วงเวลา ห้วงแรก 11-23 มี.ค. ห้วงที่สอง 24-30 มี.ค. ห้วงที่สาม 31 มี.ค. - 7 เม.ย. ห้วงที่สี่ 8 – 20 เม.ย. โดย ศอ.รส.ได้ประกาศว่าการปฏิบัติจะเป็นไปตามกฎหมาย สิทธิมนุษยชน และเป็นไปตามหลักสากล ควบคุมการชุมนุมจากเบาไปหาหนัก
ช่วงดังกล่าว นปช. ได้มีการก่อเหตุร้ายแรงขนานไปกับการตั้งเวทีปราศรัย ในวันที่ 15 มี.ค. มีการยกกำลังไปที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ และยิงเอ็ม 79 เข้าไป ทำให้ทหารได้รับบาดเจ็บ 3 นาย วันที่ 16 มี.ค. ไปเทเลือดที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ และวันเดียวกันได้มีการยิงเอ้ม 79 ยิงบ้านประชาชนที่ซอยลาดพร้าวซึ่งสันนิษฐานว่าตั้งใจยิงบ้านของอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด
20 มี.ค. มีการขว้างระเบิดเอ็ม 67 ใส่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และยิงจรวดอาร์พีจีใส่กระทรวงกลาโหมแต่ภายหลังได้ตามจับกุมตัวได้โดยได้สารภาพว่าถูกจ้างมาให้ยิงใส่วัดพระแก้ว 23 มี.ค. รัฐบาลได้จัดประชุม ครม.กันที่กระทรวงสาธารณสุข นปช. ได้ยิงเอ็ม 79 ใส่ 2 นัด
26 มี.ค. มีการขว้างระเบิดเอ็ม 67 เข้าไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด 27 มี.ค. มีการยิงปืนเอเค-47 ใส่ธนาคารกรุงเทพ สาขาดอกคำใต้ จ.พะเยา, ขว้างระเบิดเอ็ม67 ใส่สถานีโทรศัน์ช่อง 5 พญาไท และ เอ็ม 79 ใส่สถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีทำให้มีผู้บาดเจ็บ 3 คน 28 มี.ค. ยิงเอ็ม 79 เข้าไปที่กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ ศอ.รส.เป็นจำนวน 2 นัด ทำให้ทหารได้รับบาดเจ็บ 4 นาย บาดเจ็บสาหัส 1 นาย และมีการขว้างระเบิด ชเอ็ม 67 เข้าไปที่บ้นของบรรหาร ศิลปอาชา ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 คน
ซึ่งรัฐบาลก็ได้พยายามใช้สันติวิธีในการแก้ไขปัญหา มีการจัดเจรจาระหว่างแกนนำผู้ชุมนุมประกอบด้วย วีระ มุสิกพงษ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จตุพร พรหมพันธุ์ และเหวง โตจิราการ กับฝ่ายรัฐบาลซึ่งมีอภิสิธิ์เป็นหัวหน้าคณะเจรจา โดยการเจรจาครั้งนี้ได้ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ทั้ง 2 วัน แต่เห็นได้ชัดว่าแกนนำผู้ชุมนุมที่เข้าร่วมการเจรจาไม่สามารถตัดสินใจเองได้ต้องรอให้ทักษิณออกคำสั่งจึงทำให้การเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ ภายหลังการเจรจาทาง นปช. ก็ได้ก่อเหตุรุนแรงต่อไปเช่นตัวอย่างที่ได้กล่าวไป
จนกระทั่งวันที่ 7 เม.ย. นปช. นำโดยอริสมันต์ พงษ์เรืองรองได้บุกไปที่รัฐสภาซึ่งกำลังมีการประชุมอยู่ และพังประตูรัฐสภาเข้าไปตามล่าจับกุมตัวตนและอภิสิทธิ์ ทำร้ายเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรีและยึดอาวุธทั้งปืนพก 9 มม. และเอ็ม 16 ไป ทำให้การประชุมต้องยกเลิก และตนต้องขึ้นเฮลิคอปเตอร์หนีออกไป
จากเหตุการดังกล่าวในตอนค่ำวันเดียวกันโดยความเห็นชอบของ ครม. นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ และบางอำเภอในจังหวัดดังต่อไปนี้ได้แก่ นนทบุรี, สมุทรปราการ ปทุมธานี, นครปฐม และอยุธยา ซึ่งรัฐบาลก็ได้ประกาศชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ
หลังจากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ได้ตั้ง ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) โดยนายกฯได้แต่งตั้งให้ตนเป็น ผอ.ศอฉ. และเป็นหัวหน้าควบคุมปฏิบัติการ และออกประกาศการโอนอำนาจของรัฐมนตรีให้นายกฯ และให้ตนใช้อำนาจตามประกาศนี้แทนนายกรัฐมนตรีและได้ออกข้อห้ามตามความในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หลายข้อ เช่น ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน หรือยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ห้ามนำเสนอข่าวที่จะทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเข้าใจผิด ส่งผลต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดี, ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม หรือห้ามเข้าหรือใช้อาคาร และให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการจับกุมตัวผู้กระทำความผิด
ศอฉ. ดำเนินการในรูปแบบของคณะกรรมการ โดยมีทั้งหมด 27 คน ประกอบด้วยหัวหน้างานส่วนราชการต่างๆ ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ พนักงานอัยการสูงสุด กฤษฎีกา อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ปลัดกระทรวงต่างๆ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทั้งสามเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ในฐานะผอ.ศอฉ.และผู้กำกับการปฏิบัติการได้ออกคำสั่งปฏิบัติการ ฉบับที่ 1/2553 ศอฉ. ลงวันที่ 7 เม.ย. ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับวิธีการใช้กำลังควบคุมฝูงชนและได้กำหนดวิธีการเอาไว้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติในการใช้กำลังทางกายภาพโดยได้จัดทำภาคผนวก ค. ว่าด้วกฎการใช้กำลังประกอบคำสั่ง 1/2553 เป็นการเฉพาะ
จากนั้นก็ได้พยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยสันติวิธี มีการส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปเจรจากับแกนนำเพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนในการใช้รถใช้ถนนของประชาชน เมื่อฝ่าย นปช. ได้ขยายพื้นที่การชุมนุมจากเดิมที่ตั้งเวทีที่สะพานผ่านฟ้าตั้งแต่ 14 มี.ค. เป็นต้นมาจนถึง 3 เม.ย. ได้ไปตั้งเวทีใหม่ที่แยกราชประสงค์อีกที่หนึ่งจึงทำให้เกิดปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ อย่างมาก
พระสุเทพ เบิความด้วยว่า ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้พิจารณามีคำสั่งให้ณัฐวุฒิและจตุพรซึ่งเป็นแกนนำยกเลิกการกระทำที่ทำให้ประชาชนกรงุเทพฯเดือดร้อน ซึ่งศาลแพ่งก็ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 5 เม.ย. ว่าการชุมนุมของ นปช. ไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐบาลสามารถบังคับใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่แล้ว แม้ว่าจะมีคำสั่งออกมาดังกล่าวแต่ นปช. ก็ยังไม่ยกเลิกการชุมนุมควบคู่ไปกับการก่อเหตุร้ายต่อไป
ในวันที่ 9 เม.ย. ศอฉ. ได้ส่งกำลังเจ้าหน้าที่ของศอฉ. ซึ่งประกอบด้วยตำรวจและทหารไปยังสถานีดาวเทียมไทยคมที่ลาดปลาเค้า เนื่องจากต้องการระงับการส่งสัญญาณการถ่ายทอดของสถานีโทรทัศน์ People Channel หรือ PTV ศอฉ.ได้มีคำสั่งให้ระงับการออกอากาศแล้ว แต่กลุ่ม นปช. ได้ระดมคนไปกดดันบังคับให้สถานีดาวเทียมไทยคมเชื่อมต่อสัญญาณออกอากาศใหม่ ทางศอฉ. จึงจำเป็นต้องจัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปควบคุมรักษาความปลอดภัยของสถานีดาวเทียมและเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามประกาศของ ศอฉ. ซึ่งเป็นการรักษาไว้ซึ่งอำนาจนิติรัฐ
ปรากฎว่าตั้งแต่ 10.00 น. นปช.เกือบ 20,000 คน นำโดยณัฐวุฒิ ได้บุกไปที่ไทยคม 2 ไล่ทุบตีทำร้ายเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ได้พยายามหลีกเลี่ยงการปะทะ ยอมถอนกำลังออกจากสถานีดาวเทียม โดยเจ้าหน้าที่ถูกทำร้ายบาดเจ็บเป็นจำนวนมากและได้ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ไปจำนวนหนึ่งด้วยและต่อสัญญาณ PTV ใหม่ ซึ่งได้ทำระหว่างที่มีการทำร้ายและยึดอาวุธเจ้าหน้าที่
ต่อมาในวันที่ 10 เม.ย. ศอฉ.ได้สั่งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจและพลเรือนสนธิกำลังกันขอคืนพื้นที่การจราจรถนนราชดำเนินในส่วนเชื่อมต่อสะพานพระราม 8 และสะพานพระปิ่นเกล้า เพราะว่าเมื่อ นปช. ได้ย้ายเวทีไปที่ราชประสงค์แต่ยังคงยึดถนนราชดำเนินทั้งสายเอาไว้ทำให้ประชาชนฝั่งกรุงเทพฯและฝั่งธนบุรีสัญจรไปมาด้วยความยากลำบาก ศอฉ. จึงจำเป็นต้องขอคืนพื้นที่บางส่วนของถนนราชดำเนินส่วนเชื่อมต่อสะพานพระราม 8 และสะพานพระปิ่นเกล้าเพื่อให้การจราจรคล่องตัวเป็นไปโดยสะดวก โดยไม่ได้เจตนาที่จะเข้าไปยึดหรือรื้อเวทีสะพานผ่านฟ้าลีลาศแต่อย่างใด
การปฏิบัติการเริ่มตั้งแต่ 13.00 น.เศษ ก็ได้มีการผลักดันกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม นปช. ซึ่งมีภาพถ่ายที่เห็นได้ชัดที่สะพานมัฆวานรังสรรค์และสะพานชมัยมรุเชฐ โดยไม่ได้มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น
18.00 น. ศอฉ. จึงได้มีคำสั่งการทางวิทยุให้ทุกหน่วยหยุดปฏิบัติการเนื่องจากเห็นว่าเข้าสุ่ห้วงเวลากลางคืนแล้ว และให้รักษาแนวในขณะนั้น คำสั่งดังกล่าวลงวันที่ 10 เม.ย. เวลา 18.15 น. ปรากฎว่าหลังจากนั้นได้มีกองกำลังของฝ่าย นปช. ใช้ความรุนแรงโดยใช้อาวุธยิงเจ้าหน้าที่และปิดล้อมด้านหลังของเจ้าหน้าที่ ศอฉ. จึงได้ออกคำสั่งให้ถอนตัวออกจากพื้นที่ปฏิบัติการตั้งแต่เวลา 20.20 น. เป็นต้นไป แต่ว่าได้มีกองกำลังติดอาวุธซึ่งสื่อมวลชนเรียกว่ากองกำลังชายชุดดำ ใช้อาวุธสงครามทั้งเอ็ม 16 อาก้า เครื่องยิงระเบิดเอ็ม 79 ระเบิดขว้างสังหารเอ็ม 67 ยิงใส่เจ้าหน้าที่และประชาชนทั่วไป ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 5 นาย ได้แก่ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ส.อ.อนุพนธ์ ส.ท.อนุพงษ์ ส.ท.ภูริวัฒน์ และพลทหารสิงหา นอกจากนั้นยังีมเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 800 กว่านาย ในจำนวนนี้มี พล.ต.วลิต โรจนภักดี ผู้บัญชาการ กองพลที่ 2 รักษาพระองค์ถูกยิงขาหักทั้ง 2 ข้าง และมีนายทหารอีกจำนวนมากที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส มีพลเรือนเสียชีวิต 20 คน และบาดเจ้บอีกจำนวนมาก
จนกระทั่ง 23.00 น. การเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ศอฉ. และแกนนำของฝ่าย นปช. ได้ตกลงที่จะยุติการเผชิญหน้าด้วยกำลัง ศอฉ. จึงสั่งถอนกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งหมดออกจากพื้นที่
ในการสั่งการขอคืนพื้นที่จราจรได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ใช้เฉพาะโล่ กระบอง รถฉีดน้ำ แก๊ซน้ำตาชนิดขว้าง และปืนลูกซองที่ใช้กระสุนยาง อนุญาตให้แต่ละหน่วยมีปืนเล็กยาวประจำกายเอ็ม 16 ไม่เกินหน่วยละ 2 นาย แต่ผู้ใช้ต้องเป็นหัวหน้าหน่วยเท่านั้นและใช้ในกรณีป้องกันชีวิตของเจ้าหน้าที่และประชาชน และมีภาพแสดงการใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนของเจ้าหน้าที่ ขณะเคลื่อนกำลังก็มีการชี้แจงให้ประชาชนและผู้ชุมนุมทราบโดยใช้เครื่องขยายเสียงไปตลอดเส้นทาง และมีภาพของทหารตั้งโล่และกระบองเพื่อป้องกันตนเอง ขณะที่ฝ่ายผู้ชุมนุมเริ่มโจมตี และมีเจ้าหน้าที่ประกาศให้ผู้ชุมนุมเข้าใจถึงการใช้ 7 ขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก และมีภาพของเจา้หน้าที่ทหารนำปืนลูกซองสำหรับยิงกระสุนยางแทรกมาในแนวทหารหลังจากถูกผู้ชุมนุม นปช. ทำร้ายอย่างหนัก
ในคำสั่งปฏิบัติการนั้นได้กำหนดขั้นตอนการตัดสินใจในการสั่งงานเอาไว้ชัดเจนว่า ผู้บัญชาการเหตุการณ์ในพื้นที่สามารถสั่งการตัดสินใจตามสถานการณ์ได้ ถ้าหากจะต้องใช้แก๊ซน้ำตาหรือปืนลูกซองกระสุนยางต้องทำการขออนุญาตกับทาง ศอฉ. ก่อน แต่ในเหตุการณ์วันนั้นเกิดขึ้นเร็วมากจึงไม่ได้มีการขออนุญาตมาทาง ศอฉ.
การขออนุญาตการใช้อาวุธปืนและกระสุนปืนจริงเกิดขึ้นเมื่อถูกโจมตีด้วยอาวุธสงครามจากกองกำลังชายชุดดำแล้วมีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตแล้ว 5 นาย บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จึงขออนญาตใช้อาวุธเพื่อป้องกันตนเองและประชาชนในขณะที่มีการถอนกำลังและลำเลียงผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล จึงได้มีการขออนุญาตจาก ศอฉ. และได้อนุญาตตามหลักฐานเอกสาร กห. 0407.45/59 ซึ่งเป็นคำสั่งที่อนุมัติไปทางวิทยุในเวลา 20.30 น. ลงวันที่ 10 เม.ย.2553
ทั้งนี้ได้กำหนดการใช้อาวุธด้วยว่า 1. ใช้ยิงเมื่อปรากฎภัยคุกคามอย่างชัดเจนหรือกลุ่มติดอาวุธคุกคามต่อชีวิตเจ้าหน้าที่หรือประชาชน 2. การใช้อาวุธให้ใช้โดยสมควรแก่เหตุไม่มุ่งประสงค์ต่อชีวิตของเป้าหมาย ให้เล็งส่วนล่างของร่างกายตั้งแต่เข่าลงมา เเพื่อยับยั้งกลุ่มติดอาวุธที่คุกคามเจ้าหน้าที่และประชาชน ไม่ใช้อาวุธต่อเป้าหมายที่เป็นผู้หญิงและเด็ก
ในการประชุมหรือการออกคำสั่งของ ศอฉ. ไม่มีนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมด้วย มีตนที่เป็นผู้สั่งการกับเจ้าหน้าที่และคณะกรรมการ ศอฉ. อื่น และไม่ได้รายงานระเอียดลงไปในแต่ละคำสั่ง เพียงแต่รายงานว่ามีเจ้าหน้าที่หรือพลเรือนเสียชีวิตและบาดเจ็บกี่คน
พระสุเทพ เบิกความด้วยว่า ไม่ทราบรายละเอียดว่าใครเสียชีวิตอย่างไรบ้างนอกจากกรณีของฮิโรยูกิจากรายงานของพล.ท.อัมพร จารุจินดา ว่าฮิโรยูกิไม่ได้เสียชีวิตจากกระสุนปืนเอ็ม 16 แต่เสียชีิวิตจากกระสุนปืนขนาด 7.62 มม. ซึ่งเป็นกระสุนปืนอาก้า แต่ปืนรุ่นนี้ไม่มีใช้ในหน่วยทหาร
การซักถามของทนายต่อสุเทพเริ่มขึ้นในการสืบพยานช่วงบ่าย โดย พระสุเทพ อธิบายถึงการที่มอบอำนาจของนายกรัฐมนตรีว่า เป็นการออกคำสั่งแต่งตั้งผู้อำนวยการและกรรมการ ศอฉ. ตาม พรก.ฉุกเฉิน และมอบอำนาจหน้าที่ที่โอนจากรัฐมนตรีมาให้กับนายกฯ จากนั้นนายกฯ จึงมอบให้ตนซึ่งเป็นผู้อำนวยการและผู้กำกับการปฏิบัติการใช้อำนาจดังกล่าวอีกที
พระสุเทพ เบิกความว่า ในวันที่ 10 เม.ย. ได้ออกคำสั่งในฐานะ ผอ.ศอฉ.ให้เจ้าหน้าที่ ตำรวจ ทหาร และพลเรือนร่วมกันเข้าขอคืนพื้นที่เพื่อแก้ไขสถานการณ์จราจรบนถนนราชดำเนิน ซึ่งในคำสั่งแต่งตั้งส่วนหนึ่งของคำสั่งให้ข้าราชการ ทหารตำรวจ พลเรือนปฏิบัติหน้าที่ภายใต้การบังคับบัญชาของหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณืฉุกเฉิน ต่อมาคำสั่งพิเศษที่ 2/2553 นายกฯ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ตนเป็นผอ.ศอฉ. และหัวหน้าผู้รับผิดชอบและผู้กำกับการปฏิบัติการในเขตท้องที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งตนก็ดำรงตำแหน่ง และมีอำนาจในการสั่งการและเป็นผู้ลงนามในคำสั่งให้ทหารตำรวจเข้าปฏิบัติการขอคืนพื้นที่
ในวันที่ 10 เม.ย. การขอคืนพื้นที่ถนนราชดำเนินโดยมีการส่งกำลังเจ้าหน้าที่ผ่านถ.ตะนาวและดินสอ ผ่านสะพานวันชาติ ดงันั้นกำลังทหารก็ต้องยึดพื้นที่ตั้งแต่บริเวณเชิงสะพานวันชาติไปตามถ.ดินสอจนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ทนายได้ถามว่าในการประชุมดูแลและการกำกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ศอฉ.และนายกฯ ร่วมอยู่ด้วยตลอดเวลาใช่หรือไม่ พระสุเทพได้ตอบว่าในการประชุมมีตนและคณะกรรมการทั้งหมดอยู่ในที่ประชุมแต่นายกฯ ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วยแต่ว่าบางครั้งนายกฯก็ได้แวะเข้าไปในที่ประชุมเพื่อสอบถามสถานการณ์ราว 1-2 ครั้ง ซึ่งคณะกรรมการได้อยู๋ในห้องประชุมตั้งแต่เช้าวันที่ 10 จนถึงราวเที่ยงคืนของวันเดียวกัน ซึ่งได้มีการถอนกำลังออกจากพื้นที่หมดแล้วถึงเลิกการประชุม
การติดตามการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหารจะมีการรายงานเป็นระยะแก่คณะกรรมการและในที่ประชุมมีโทรทัศน์รับการถ่ายทอดภาพเหตุการณ์บางจุดจากสื่อมวลชนระหว่างที่มีการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่
การปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ของเจ้าหน้าที่เป็นเรื่องของฝ่ายยุทธการแล้วก็รายงานตรงขอตนซึ่งเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบ แต่นายกฯ ไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบ
ทนายได้ถามสุเทพว่าทราบถึงเรื่องที่มีการปะทะบนถ.ราชดำเนิน บริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการระหว่างผู้ชุมนุมและทหารในช่วงบ่ายวันที่ 10 เม.ย. จนมีเหตุเจ้าหน้าที่ทหารยิงผู้ชุมนุมเสียชีวิตไป 1 รายหรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าเหตุการณ์นี้เห็นภาพจากโทรทัศน์ชัดเจนว่าตั้งแต่บริเวณตั้งแต่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ สะพานมัฆวานฯ จนถึงสี่แยก จปร. ตลอดบ่ายมีการผลักดันไปมาระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมไม่มีการยิงกันปรากฎ กรณีผู้เสียชีวิตที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการทราบเมื่อเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว 2-3 วัน และตนไม่เห็นว่ามีข่าวชายถูกยิงเสียชีวิต 1 ราย ที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ
ในการปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ใช้กำลังทหารเป็นหลัก แต่มีกำลังของตำรวจประกอบอยู่ด้วย และมีการกำหนดให้สนธิกำลังกันทั้ง 3 เหล่าทัพ กองบัญชาการตำรวจแห่งชาติและกองกำลังพลเรือนที่ขอมาช่วยปฏิบัติงานใน ศอฉ. ให้ทำงานร่วมกัน ในการออกคำสั่งได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชน โล่กระบอง รถฉีดน้ำ แก๊ซน้ำตาชนิดขว้างและปืนลูกซองกระสุนยาง โดยอนุญาตให้แต่ละหน่วยมีเอ็ม 16 แต่ในส่วนของรถลำเลียงพล ตนทราบว่าเมื่อกำลังพลเคลื่อนย้ายมาก็ต้องเอารถลำเลียงพลซึ่งมีอาวุธปืนประจำรถติดอยู่มาด้วย แต่ไม่ได้มีคำสั่งให้นำรถลำเลียงพลดังกล่าวมาใช้ในการขอคืนพื้นที่
ในการขอคืนพื้นที่บนถ.ดินสอ ช่วงกลางวันจนถึงก่อนเย็นฝ่ายเจ้าหน้าที่ยึดพื้นที่ถนนดินสอหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาจนถึงสะพานวันชาติส่วนฝั่งผู้ชุมนุมอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยการขอคืนพื้นที่นั้นเนื่องจากผู้ชุมนุมได้ยึดถ.ราชดำเนินตลอดสายตั้งแต่สนามหลวงถึงลานพระบรมรูปทรงม้า แต่เมื่อผู้ชุมนุมที่แยกราชประสงค์อีกแห่ง จึงเห็นว่าควรคืนถนนราชดำเนินบางส่วนให้ประชาชนได้ใช้และให้ไปรวมตัวอยู่ที่เวทีสะพานผ่านฟ้าเท่านั้นไม่ใช้ยึดถ.ราชดำเนินทั้งหมด
ในการขอคืนพื้นที่ได้ใช้วิธีการผลักดันโดยใช้รถกระจายเสียงประกาศให้ไปรวมตัวกันที่สะพานผ่านฟ้าและคืนพื้นผิวการจราจรที่เหลือเพื่อรองรับการจราจรจากสะพานพระราม 8 และพระปิ่นเกล้า การใช้โล่กระบองใช้เมื่อมีการประชาชนไม่ยอมไปแล้วแกนนำปลุกระดมให้มาสู้กับทหารมีการผลักดันกัน
ทนายได้ถามว่ามีการใช้เฮลิคอปเตอร์โปรยแก๊ซน้ำตาในพื้นที่หน้าถ.ดินสอด้วยใช่หรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าได้สั่งให้ใช้เฮลิคอปเตอร์โปรยใบปลิวเพื่อให้ประชาชนหยุดทำร้ายเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อประชาชนใช้ความรุนแรงขึ้นเจ้าหน้าที่บนเฮลิคอปเตอร์จึงได้ใช้แก๊ซน้ำตาหย่อนลงไปเพื่อให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่แยกห่างออกจากกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มีการขออนุญาตแล้วและตนก็ได้อนุญาต ก่อนมีการใช้แก๊ซน้ำตาโปรยลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ก็ได้ใช้รถฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมหลายครั้งในวันนั้นแล้ว
หน่วยพลเรือนที่ร่วมสนธิกำลังปฏิบัติการคือ เทศกิจของกรุงเทพฯ ราว 1,000 กว่านาย เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของจังหวัดนนทบุรี แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้อาวุธปืนและกระสุนจริง มีเพียงเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเท่านั้นที่สามารถใช้อาวุธและกระสุนจริงตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาตไว้เท่านั้น
ทนายได้ถามว่าตามหลักสากลได้ห้ามสลายการชุมนุมหรือปฏิบัติการใดๆ กับผู้ชุมนุมตอนกลางคืนใช่หรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าในเวลา 18.15 ได้มีการออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่หยุดปฏิบัติการและรักษาแนวพื้นที่ตั้งอยู่ในเวลานั้น
ทนายถามว่าในคำสั่ง 0407.45/59 นั้นได้มีการอนุญาตให้ใช้อาวุธปืนและกระสุนจริงด้วยใช่หรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าในวันนั้นได้มีการออกคำสั่งขึ้นตามสถานการณ์ เช่น ใน 18.15 ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่หยุดปฏิบัติการ แต่เมื่อมีกองกำลังชายชุดดำใช้อาวุธสงครามทำร้าย เจ้าหน้าที่ไม่สามารถตอบโต้ได้เพราะกองกำลังชายชุดดำได้ใช้ผู้ชุมนุมเป็นโล่มนุษย์จึงได้สั่งให้ถอนกำลังออกเวลา 20.20 น. แต่เมื่อถอนกำลังออกแล้วเจ้าหน้าที่ยังถูกโอบล้อมและถูกโจมตีด้วยอาวุธปืน จึงออกคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธเพื่อป้องกันตนเองได้ในเวลา 20.30 น. หลังจากที่มีเจ้าหน้าที่ทั้ง 5 นาย และมีประชาชนเสียชีวิตแล้ว
ทนายถามว่าในการออกคำสั่งให้ใช้อาวุธปืนและกระสุนจริงเพื่อป้องกันตนเองได้นั้นต้องยิงตั้งแต่ระดับพื้นถึงระดับเข่าใช่หรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าในคำสั่ง 1/2553 ได้มีการออกคำสั่งไว้เช่นนั้น แต่คำสั่งเฉพาะเหตุการณ์ของวันที่ 10 เม.ย. นั้นได้มีการออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธเพื่อป้องกันตนเองและประชาชนบริสุทธิ์ได้โดยมีหลัการ 2 ข้อ คือ 1. ใช้เมื่อเห็นภัยคุกคามชัดเจน หรือเมื่อกลุ่มติดอาวุธมีท่าทีคุกคามต่อเจ้าหน้าที่หรือประชาชน 2. ใช้ให้สมควรแก่เหตุไม่ประสงค์ต่อชีวิตของเป้าหมาย
ทนายถามสุเทพต่อว่าในวันนั้นทราบข่าวว่ามีนักข่าวถูกยิงที่หน้าอกที่ขั้วหัวใจด้วยกระสุนนัดเดียวในขณะนั้นนักข่าวกำลังถือกล้องถ่ายทำข่าวหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาหรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าทราบข่าวว่ามีนักข่าวญี่ปุ่นถูกยิงเสียชีวิต แต่ข่าวไม่ได้มีรายงานถึงรายละเอียด ทนายได้ถามว่าพระสุเทพไม่เคยสั่งให้ทหารใช้อาวุธปืนยิงผู้ชุมนุมใช่หรือไม่  พระสุเทพ ตอบว่าไม่เคยมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ชุมนุม
จากนั้นทนายถามว่าอภิสิทธิ์ ในฐานะนายกฯ ไม่เคยสอบถามว่าเหตุการณ์ตายเกิดเพราะใครอย่างไร และไม่เคยบอกห้ามให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธปืนและกระสุนจริงใช่หรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าหลังเกิดเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. ได้ให้ดีเอสไอสอบสวนหาสาเหตุการตายของผู้เสียชีวิตทุกราย ทนายถามต่อว่าในวันที่ 10 ตั้งแต่ช่วงบ่ายถึงเย็น อภิสิทธิ์ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมด้วยและไม่ได้สอบถามถึงเหตุการณ์เมื่อมีข่าวการยิงและเสียชีวิตของประชาชนและทหารกับสุเทพหรือคณะกรรมการ ศอฉ. เลยใช่หรือไม่ พระสุเทพตอบว่าเมื่ออภิสิทธิ์ได้สอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตนเป็นผู้รายงานให้อภิสิทธิ์ทราบเองว่าในการขอคืนพื้นที่เกิดเหตุการณ์อะไรบ้างและมีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และการสั่งถอนกำลังในเวลา 23.00 น.
ทนายถามต่อว่าอภิสิทธิ์ไม่ได้สั่งการใดๆ หรือมีการสั่งห้ามใช้อาวุธใช่หรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าไม่ได้สั่งเพราะตนสั่งไปก่อนแล้วว่าห้ามใช้อาวุธกับผู้ชุมนุม แต่ให้ใช้กับกองกำลังติดอาวุธที่ทำร้ายเจ้าหน้าที่และประชาชนเท่านั้น
ทนายถามต่อว่าในคืนนั้นก่อนที่นายฮิโรยูกิจะถูกยิงเสียชีวิตได้มีการยิงผู้ชุมนุมที่ถือธงชาติและไม่มีอาวุธเข้าที่ศีรษะก่อนแล้วใช่หรือไม่ พระสุเทพตอบว่าไม่ได้มีการรายงานใครถูกยิงก่อนหลังเนื่องจากเหตุการณ์ยังชุลมุนอยู่ เพียงแต่มีรายงานว่ามีทหารและประชาชนถูกยิงกี่รายและเสียชีวิตกี่ราย แม้กระทั่งชื่อผู้เสียชีวิตก็ยังไม่ได้มีการรายงานในคืนนั้น และข่าวการเสียชีวิตทั้ง 3 ในทันทีทั้งในและต่างประเทศตนได้เห็นในภายหลัง ซึ่งที่ตนเห็นทั้งฮิโรยูกิซึ่งเป็นช่างภาพและวสันต์ที่ถือธงชาติทั้งสองคนไม่ได้ถืออาวุธ
ทนายได้นำภาพถ่ายทหารที่ถืออาวุธปืนในสำนวนให้สุเทพดูแล้วถามว่าทหารหลายนายที่ถืออาวุธทั้งหมดในภาพไม่ได้เป็นระดับหัวหน้าหน่วยใช่หรือไม่ และมีภาพทหารกำลังใช้อาวุธปืนยิงรวมถึงมีภาพทหารบนรถลำเลียงพลด้วย พระสุเทพ ตอบว่าไม่ทราบว่าภาพดังกล่าวถูกถ่ายที่ไหนและเมื่อไหร่ เพราะตัวตนเองอยู่ที่ ศอฉ. จึงไม่สามารถระบุได้
ทนายถามว่าทราบถึงรายงานข่าวว่ามีการเก็บกระสุนปืนจริงและปลอกกระสุนใช้แล้วจากถนนดินสอนำมาแถลงข่าวด้วย พระสุเทพตอบว่าไม่ทราบ ทนายถามต่อว่าทราบถึงมีเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนและกระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุมหรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าไม่ทราบ แต่ทราบว่ามีกองกำลังชายชุดดำใช้อาวุธปืนยิงและขว้างระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ทหาร ทนายถามอีกว่าทหารได้ใช้อาวุธปืนและกระสุนจริงยิงโต้ตอบกองกำลังดังกล่าวหรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่า ได้รับรายงานว่าทหารไม่สามารถยิงโต้ตอบได้เพราะใช้ผู้ชุมนุมเป็นโล่มนุษย์ แต่ได้ใช้อาวุธปืนและกระสุนปืนจริงในตอนที่ถอนกำลัง ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็ได้มีการขออนุญาตใช้อาวุธปืนมาที่ตน แต่จะยิงไปทางไหนบ้างตนไม่ทราบ
ทนายถามว่ามีรายงานหรือไม่ว่ามีการเบิกกระสุนปืนจริง ระเบิดเอ็ม 79 และระเบิดขว้างเอ็ม 67จากรมสรรพาวุธไปด้วย พระสุเทพ ตอบว่ามีคำสั่งห้ามเด็ดขาดห้ามใช้อาวุธสงครามอย่างอื่นนอกจากอาวุธปืนประจำตัวทหารเท่านั้น ไม่มีระเบิดเอ็ม 67 และเอ็ม 79 และตนไม่ทราบว่ามีการเบิกกระสุนหรือไม่ เพราะไม่จำเป็นต้องมีการรายงานมาที่ตนว่าได้เบิกกระสุนไปกี่นัด ซึ่งตนแค่สั่งการในเรื่องหลักการเท่านั้นว่าต้องใช้อาวุธในกรณีไหนบ้างเท่านั้น
ทนายถามว่าหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค. 2553 แล้วได้มีการสั่งการให้ตำรวจและดีเอสไอสืบสวนสอบสวนใช่หรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าใช่และมีการสรุปสำนวนส่งฟ้องศาลมีผู้ต้องหา 19 คน ปัจจุบันอยู่ในระหว่างพิจารณาคดีของศาล ทนายถามอีกว่าเคยทราบรายงานการตรวจพิสูจน์สถานที่เกิดเหตุของตำรวจที่พบร่องรอยกระสุนปืนตามต้นไม้ เสาไฟฟ้าผนังปูนของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่มีทิศการยิงมาจากสะพานวันชาติที่ทหารอยู่ พระสุเทพ ตอบว่าไม่เคยเห็นรายงานดังกล่าว และไม่ทราบถึงผลการตรวจสถานที่เกิดเหตุ
ทนายถามสุเทพเกี่ยวกับรายงานที่ใช้อ้างในตอนให้การและให้ไว้กับพนักงานสอบสวนถึงชายชุดดำที่อยู่ในรถตู้ มีแต่เพียงภาพถ่ายรถตู้แต่ไม่ได้มองเห็นว่ามีชายชุดดำในรถตู้หรือไม่ ใช่หรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าภาพเหล่านี้เป็นเอกสารที่ได้จากดีเอสไอซึ่งได้รวบรวมการสอบสวนปรากฎเป็นสำนวน และได้งข้อหาก่อการร้ายกับผู้ต้องหา 26 คน ซึ่งตนได้อ้างตามการสอบสวนของดีเอสไอทุกอย่าง รวมทั้งภาพรถตู้ที่ถูกบันทึกด้วยกล้องวงจรปิดที่แยกสี่กั๊กในคืนวันที่ 10 เม.ย. ในเวลา 20.00 น. เศษ ภาพรถตู้มี 4 ภาพทั้งภาพตอนขาเข้าและขาออก และมีอีก 1 ภาพเป็นภาพที่มีคนใช้เครื่องยิงระเบิดเอ็ม 79 อยู่ข้างรถตู้ สวมหมวกปิดหน้าและมีผ้าผูกแขนสีแดง ซึ่งดีเอสไอระบุว่าเป็นกองกำลังชายชุดดำที่ยิงเจ้าหน้าที่และประชาชนในวันนั้น แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าในภาพถ่ายรถตู้นั้นคนในรถเป็นใคร ซึ่งดีเอสไอรายงานแก่ตนว่าเวลา 20.19น. เป็นภาพถ่ายรถตู้ขับเข้าไป และ21.00 น.เป็นเวลาที่รถตู้ขับกลับออกไป ส่วนรถตู้ขับไปส่งที่ใดบ้างนั้นไม่มีรายงาน
ทนายถามว่าเจ้าหนา้ที่ทหารถูกชายชุดดำยิงตอนเวลาเท่าใด พระสุเทพ ตอบว่าได้รับรายงานว่าเกิดเหตุในเวลาราว 2 ทุ่ม แต่ก่อนหน้านั้นก็มีการยิงใส่เจ้าหน้าที่อยู่ตลอด ซึ่งก็ได้มีการอนุญาตใช้อาวุธตอนราว 2 ทุ่มเศษ
ทนายถามต่อว่าหลังเหตุการณ์ยังมีการชุมนุมต่อใช่หรือไม่ แล้วทหารได้กลับที่ตั้ง พระสุเทพ ตอบว่าราว 23.00น. แกนนำได้ประกาศให้ยุติการใช้กำลังต่อเจ้าหน้าที่ทหาร ทหารจึงได้ถอนกำลังกลับที่ตั้ง
ทนายถามว่าพระสุเทพเกี่ยวกับจำนวนกระสุนจริงที่ใช้ จำนวนกองกำลังและมีหน่วยใดบางในปฏิบัติการ และจำนวนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้หรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าไม่ได้รับรายงานและไม่ได้มีการสั่งให้รายงาน ในส่วนของจำนวนผู้เสียชีวิตตนได้รับรายงานในวันรุ่งขึ้นจากกระทรวงสาธารณสุข
ทนายถามว่าไม่เคยมีการรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับทางการญี่ปุ่นใช่หรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เคยเข้าพบอภิสิทธิ์ และตนเพื่อขอให้สืบสวนหาตัวผู้ยิงนายฮิโรยูกิ แต่ไม่เคยชี้แจงให้ทราบว่าใครเป็นผู้ยิงฮิโรยูกิ เพราะคดียังอยู่ระหว่างการสอบสวน ในสมัยที่พยานอยู่ในคณะรัฐบาล ดีเอสไอได้ทำการสอบสวนว่าวันที่ 10 เม.ย. มีการเสียชีวิตใดบ้างทั้งที่เกิดจากผู้ก่อการร้ายชายชุดดำ และเจ้าหน้าที่ ซึ่งเคยเร่งรัดให้ดีเอสไอสืบสวนสอบสวน แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับรายงานที่สมบูรณ์
เมื่อการสืบพยานเสร็จสิ้นศาลได้นัดฟังคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพของผู้เสียชีวิตทั้ง 3 คน ในวันที่ 30 เม.ย. 2558 โดยศาลให้เหตุผลว่าช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. ศาลมีคดีที่ต้องพิจารณาเป็นจำนวนมากและในคดีนี้มีข้อเท็จจริงที่ต้องพิจารณาเป็นจำนวนมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น