วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2557

'วีระกานต์' ไม่เห็นด้วยเลือกนายกโดยตรง ชี้ต้องไม่นิรโทษกรรมแกนนำ-ผู้สั่งการ



"วีระกานต์ มุสิกพงศ์" อดีตประธาน นปช. แสดงความเห็นต่อกรรมาธิการยกร่าง รธน. ระบุไม่เห็นด้วยกับการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง ชี้ถ้าจะให้ประชาชนยอมรับต้องทำประชามติรัฐธรรมนูญ เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม แต่ควรจะนิรโทษเฉพาะประชาชน และผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ ที่ไม่ใช่แกนนำ หรือผู้สั่งการ
 
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2557 ที่ผ่านมาเว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่า พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยถึงกรณีที่ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้เข้าให้ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่านายวีระกานต์ ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรง รวมถึงประเด็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง เพราะที่ผ่านมาเห็นว่า ส.ส. ที่ไม่ได้สังกัดพรรคจะไม่มีจุดยืนในการทำงาน และจะไม่สามารถเสนอกฎหมายเข้าสู่สภาได้ นอกจากนี้ นายวีระกาต์ ยังให้ความเห็นในเรื่องอำนาจการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งอยากให้มีความชัดเจนในการแบ่งอำนาจหน้าที่ ส่วนด้านศาลและกระบวนการยุติธรรม เห็นว่าควรนำบุคคลภายนอกมาเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการตุลาการ ส่วนการปฏิรูปองค์กรอิสระ ก็อยากให้ได้มีการตรวจสอบองค์กรอิสระด้วย เนื่องจากมีความเป็นอิสระมากเกินไป
 
ขณะที่ด้านการปฏิรูป นายวีระกานต์ ระบุว่า ส่วนตัวก็มีหลายความคิดเห็นที่สอดคล้องกับพรรคเพื่อไทยที่ได้เคยเสนอไว้แล้ว เช่น การส่งเสริมประเทศไทยให้มีประชาธิปไตยที่แท้จริง การสร้างความสมานฉันท์และการขจัดการทุจริตคอรัปชั่น ทั้งนี้ มองว่าเมื่อร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ควรเสนอทำประชามติ เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากประชาชนทั้งประเทศ พร้อมทั้งไม่เห็นด้วยในการเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐที่อยู่นอกเหนือประชาธิปไตย และอยากเห็นการนำหลักธรรมะมาใช้ในการปกครองประเทศ นอกจากนี้ยังเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม แต่ควรจะนิรโทษเฉพาะประชาชน และผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ ที่ไม่ใช่แกนนำ หรือผู้สั่งการ
 
พล.อ.เลิศรัตน์ ยังเปิดเผยอีกว่า ในวันที่ 22-26 ธันวาคมนี้ คณะกรรมาธิการยกร่างร่างรัฐธรรมนูญจะประชุมเพื่อวางกรอบและแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญจากทุกฝ่ายที่เสนอมา ก่อนที่จะลงรายละเอียดเป็นรายมาตราในช่วงต้นเดือนมกราคมต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น