คำนูณ เผยข้อสรุปที่มา ส.ว. ระบุมาจาก 5 ช่องทาง จำนวนไม่เกิน 200 คน เพิ่มอำนาจตรวจสอบประวัติ ครม. ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เสนอร่างกฏหมายเกี่ยวกับการปฏิรูป ตรวจสอบจริยธรรมหัวหน้าส่วนราชการ และร่วมลงมติถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และข้าราชการระดับสูงได้ พร้อมเผยที่มานายกรัฐมนตรี
25 ธ.ค. 2557 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า ที่รัฐสภา คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยถึงผลการพิจารณาที่มาของสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ว่า ที่ประชุมมีฉันทามติให้ ส.ว.มีจำนวนไม่เกิน 200คน ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง โดยคัดเลือกจาก 5ช่องทาง ประกอบด้วย
- 1.อดีตผู้นำในอำนาจอธิปไตยทั้ง 3 เช่น อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร
- 2.อดีตข้าราชการตำแหน่งสำคัญ เช่น อดีตผู้บัญชาการเหล่าทัพ อดีตปลัดกระทรวง
- 3.ประธานองค์กรวิชาชีพหรือผู้แทนองค์กรวิชาชีพที่มีกฎหมายรองรับ เช่น ประธานหอการค้าไทย ประธานสภาอุตสาหกรรม
- 4.กลุ่มภาคประชาชน เช่น สหภาพต่างๆ องค์กรภาคประชาชน
- 5.คัดสรรจากกลุ่มวิชาชีพที่หลากหลาย โดยใช้เลือกตั้งทางอ้อม
ส่วนอำนาจหน้าที่ ส.ว.ที่แตกต่างออกไปจากเดิม คือ สามารถเสนอร่างกฎหมายได้ พิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ และที่สำคัญได้เพิ่มอำนาจการตรวจสอบประวัติผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ก่อนนายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ รวมถึงตรวจสอบประวัติจริยธรรมของหัวหน้าส่วนราชการทุกส่วน ก่อนเปิดเผยต่อสาธารณะ นอกจากนี้ ยังมีสามารถร่วมลงมติถอดถอนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ข้าราชการระดับสูงด้วย อย่างไรก็ตามที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งของ สมาชิกวุฒิสภา
คำนูญ ยังกล่าวถึงที่มาของนายกรัฐมนตรีว่า ให้มาจากการเสนอชื่อโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2540และ 2550 โดยไม่บังคับว่านายกรัฐมนตรีจะต้องเป็น ส.ส.เพื่อเปิดช่องไว้หากเกิดกรณีสถานการณ์ไม่ปกติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น