รอมือละห์ แซเยะ และมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ เขียนจดหมายเปิดผนึกเสนอแนวทางแก้ไขความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยชี้ว่ารัฐต้องเร่งสร้างความเป็นธรรมทั้งภายในและภายนอกกระบวนการยุติธรรม รับฟังผู้เห็นต่าง ต้องไม่มองเป็นศัตรู และเร่งคืนอำนาจให้ประชาชนเพื่อใช้แนวทางการเมืองนำการทหารแก้ปัญหา
หมายหตุ: เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. รอมือละห์ แซเยะ ภรรยาของมูาฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ หรือ อันวาร์ อดีตบรรณาธิการสำนักสื่อบุหงารายา ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงในภาคใต้ ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกที่ทั้งสองเขียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานีโดยสันติวิธี มีรายละเอียดดังนี้
000
จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
เรื่อง ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานีโดยสันติวิธี
เรียน นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านแม่ทัพภาคที่ 4
ดิฉัน นางสาวรอมือละห์ แซเยะ และนายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของคนทำงานภาคประชาสังคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความขัดแย้งและจากระบบกระบวนการยุติธรรม ขอมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ด้วยการนำเสนอความคิดเห็นบางประการเพื่อมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของชาติบ้านเมือง แม้ว่าเราจะเป็นเพียงส่วนเล็กๆในสังคมแต่ก็เชื่อว่า เสียงของคนตัวเล็กๆเพียงสองคนนี้จะไม่ใช่คนที่โดดเดี่ยวจากสังคมรอบตัว และเป็นเสียงที่สะท้อนความเห็นของคนไม่น้อยในพื้นที่ที่ยังไม่กล้าแสดงออก
มูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ มีสถานะเป็นนักโทษเด็ดขาดชาย คดีกระทำการอั้งยี่ซ่องโจร ถูกศาลฎีกาตัดสินเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 ให้ต้องโทษจำคุก 12 ปีด้วยหลักฐานที่มาจากการซัดทอดและจากฐานความผิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการลงมือก่อเหตุใดๆ ซึ่งสำหรับคนจำนวนไม่น้อยอาจถือได้ว่ามูฮัมหมัดอัณวัรเป็นนักโทษเพราะความคิดทางการเมือง รอมือละห์ แซเยะ ภรรยาของมูฮาหมัดอัณวัร ทำงานภาคประชาสังคมด้วยการช่วยเหลือเยาวชนและครอบครัวนักโทษคดีความมั่นคงจำนวนหนึ่งรวมทั้งขับเคลื่อนเรื่องกระบวนการสันติภาพ มูฮาหมัดอัณวัรเอง เมื่อยังไม่ได้เข้าสู่เรือนจำก็ไม่เคยหลบหนีการดำเนินคดี ทั้งในเวลาก่อนและหลังถูกจับกุมตลอดจนถึงช่วงเวลาที่มีการดำเนินคดี มูฮาหมัดอัณวัรทำงานเป็นสื่อสารมวลชนในพื้นที่ เราทั้งสองคนแม้จะมีความเห็นบางเรื่องแตกต่างจากรัฐแต่เป็นผู้ที่ยึดมั่นในวิถีทางสันติมาโดยตลอด และเรายังเชื่อมั่นว่ามูฮาหมัดอัณวัรเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรมที่ตัดสินเอาผิดคนในสิ่งที่ไม่สมควรต้องเอาผิดและถือว่าคดีนี้เป็นตัวอย่างอันหนึ่งของการที่ผู้ที่ยึดมั่นในแนวทางสันติตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งความเป็นเหยื่อกล่าวได้ว่ามีทั้งในทางตรงและในทางทัศนคติ อย่างไรก็ตาม การถูกจำขังไม่ได้ทำให้เกิดความย่อท้อในการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาของสังคม จดหมายเปิดผนึกถึงท่านนายกรัฐมนตรีฉบับนี้เป็นการนำเสนอความเห็นเพื่อขอให้มีการปรับปรุงการบริหารประเทศด้วยความบริสุทธิ์ใจไม่มีเจตนาอื่นใดแอบแฝง เป็นเสียงเรียกร้องจากคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงและอยากเห็นการคลี่คลายความขัดแย้งอย่างยั่งยืน
การเข้ามาบริหารประเทศของ คสช. และท่านนายกรัฐมนตรีด้วยเหตุผลความจำเป็นหลายประการดังที่ท่านได้อธิบายต่อประชาชนนั้น บัดนี้ได้ผ่านพ้นมาจนใกล้จะครบแปดเดือน แต่ประชาชนในพื้นที่ก็ยังมองไม่เห็นชัดเจนถึงแนวทางในการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ถึงแม้ว่าจะมีข่าวการยืนยันว่าได้มีการดำเนินการพูดคุยกับผู้เห็นต่างรอบใหม่ต่อจากที่เคยเริ่มไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2556 ก็ตาม ความไม่เชื่อมั่นและความเปลี่ยนแปลงในทางรูปธรรมที่เกิดขึ้นได้ส่งผลให้เกิดความท้อแท้และเบื่อหน่ายให้กับคนในพื้นที่ ส่วนของภาคประชาชนที่เคยคึกคักและมีการพูดคุยเพื่อสร้างฉันทามติสำหรับการหาหนทางออกจากความขัดแย้ง อันเป็นการขานรับกับการขับเคลื่อนของรัฐบาลที่พูดคุยในระดับบนได้เกิดอาการชะงักงันไม่กล้าแสดงออกอีกต่อไป ขณะที่นโยบายในการพูดคุยยังไม่ปรากฏว่ามีความคืบหน้า สิ่งที่ปรากฏเป็นข่าวอย่างสม่ำเสมอและเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ก็คือปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นที่รุนแรง การทำงานที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต และการแก้แค้นกันไปมาซึ่งแม้จะไม่ใช่การกระทำของเจ้าหน้าที่ทั้งหมด แต่ก็ถือว่าเจ้าหน้าที่มีส่วนในหลายกรณี ในขณะที่คดีอันสืบเนื่องมาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่หลายคดีกลับคืบหน้าน้อยมาก ทำให้เกิดภาพว่ามีบางส่วนของกลไกรัฐที่อยู่เหนือกฎหมาย บรรยากาศการถกเถียงแลกเปลี่ยนอย่างตรงไปตรงมาได้รับผลกระทบจากความหวาดกลัวอำนาจของรัฐบาลและทหารและการติดตามเอาผิดตลอดจนการใส่ร้ายในโซเชียลมีเดียที่เห็นได้ชัดว่ามาจากคนที่มีส่วนเกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคง เหล่านี้ล้วนกลายเป็นความเคลื่อนไหวหลักที่มีอิทธิพลต่อความคิดของคนในพื้นที่และไม่ช่วยทำให้เกิดความหวังต่อการสร้างสันติภาพดังที่รัฐบาลของท่านประกาศกับประชาชนว่าพยายามจะให้เกิด
ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
การที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรงและยืดเยื้อในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ควรจะยึดแนวทางสันติวิธี มาตรการทางการทหารควรเป็นเพียงส่วนสนับสนุนงานด้านการเมืองและควรจะต้องใช้อย่างจำกัดและเพื่อความสงบ การจะสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนควรจะต้องรับฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่ และด้วยการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นคนที่เห็นพ้องหรือเห็นต่างจากรัฐบาล ขอเรียกร้องให้รัฐบาลหาทางออกในการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีและอย่างจริงจัง จริงใจ และต่อเนื่องตลอดจนขอให้กลับไปดำเนินนโยบายในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยการใช้หลักการการเมืองนำการทหารเช่นที่ผ่านมา
1. รัฐบาลควรเร่งสร้างความเป็นธรรมในสังคมทั้งภายในและนอกกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะทำให้ได้รับการยอมรับและเชื่อมั่นจากประชาชนไม่ว่ากลุ่มใด ทั้งจะเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นในการสร้างสันติภาพโดยสนับสนุนให้มีเงื่อนไขและบรรยากาศที่สามารถที่จะตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายพิเศษภายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.ก.บริหารราชการแผ่นดินภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายทั่วไปเช่นกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อให้การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ภายใต้กฎหมายเป็นไปตามหลักนิติธรรมสากล ควรส่งเสริมให้การบังคับใช้กฎหมายกระทำโดยไม่เลือกปฏิบัติไร้ซึ่งอคติและทัศนคติเชิงลบต่อประชาชนที่มีความแตกต่างทางด้านชาติพันธุ์ อัตลักษณ์ และศาสนา เพราะการกระทำที่เลือกปฏิบัติจะส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังที่มีรายงานข่าวเรื่องของการทำร้ายและซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยหลังจากการจับกุมในพื้นที่เนืองๆ สิ่งเหล่านี้บั่นทอนความเชื่อมั่นในกลไกของรัฐ ส่งผลกระทบทำให้ความพยายามที่จะคลี่คลายความขัดแย้งพบอุปสรรค นอกจากนี้รัฐบาลควรยึดหลักสิทธิมนุษยชนภายใต้สนธิสัญญาระหว่างประเทศฉบับต่างๆที่เกี่ยวข้องกับหลักสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเข้าไปเป็นภาคีร่วม เจ้าหน้าที่ระดับนโยบายและระดับปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ ควรศึกษารายละเอียดของสนธิสัญญาฉบับต่างๆเหล่านี้ก่อนที่จะกำหนดนโยบายหรือส่งกองกำลังเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นการจับกุมควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยโดยพลการอย่างเช่นปัจจุบัน ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ความขัดแย้งรุนแรงมากยิ่งขึ้นและหาทางคลี่คลายได้ยากยิ่งขึ้น
2. ขอเสนอให้เปิดพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นแก่ผู้ที่เห็นต่างอย่างจริงจัง รัฐต้องไม่มองผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐทางการเมืองในพื้นที่ปาตานีด้วยสายตาที่หวาดระแวงเสมือนเป็นศัตรูกับรัฐ หรือว่ากำลังท้าทายอำนาจรัฐ ไม่ควรตั้งแง่หรือจับตาเฝ้าดูพฤติกรรมของกลุ่มบุคคลที่แสดงความเห็นแตกต่างจากรัฐว่าเป็นผู้ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ เพราะการแสดงออกด้วยวิธีดังกล่าวถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วมทางการเมืองตามระบบประชาธิปไตยที่ทั่วโลกยอมรับ และการแสดงออกทางการเมืองเช่นนี้เป็นการแสดงออกอย่างสันติวิธีที่เท่ากับเป็นการปฏิเสธการใช้ความรุนแรงไปในตัว จึงควรจะได้รับการสนับสนุน ทั้งนี้เพื่อเปิดหนทางให้ประชาชนทุกกลุ่มได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างสันติอย่างแท้จริง
3. ความไม่ต่อเนื่องของคณะรัฐบาลที่บริหารประเทศส่งผลให้มีการกำหนดนโยบายที่แตกต่าง การบริหารงานในเรื่องสำคัญเช่นการแก้ไขปัญหาภาคใต้ขาดช่วงและขาดความเชื่อมโยงกับความต้องการของประชาชนเนื่องจากทหารเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่รักษาอธิปไตยของประเทศและไม่ใช่ผู้ที่ได้สะสมประสบการณ์และองค์ความรู้เพื่อจะทำหน้าที่บริหารประเทศแต่อย่างใด ดังนั้นการคืนอำนาจให้กับประชาชนเพื่อให้มีการใช้หนทางการเมืองนำการทหารอย่างแท้จริงจะเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเช่นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ดียิ่งขึ้น
การตอบสนองข้อเสนอเหล่านี้จะสร้างกำลังใจ ความเชื่อมั่นให้กับคนในพื้นที่ สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลและประชาชน เป็นของขวัญสำหรับปีใหม่ที่กำลังจะเวียนมาถึง เปิดหนทางสู่การสร้างสันติภาพภายใต้การนำของรัฐบาลในปี 2558 ให้เป็นจริงมากยิ่งขึ้น
โปรดรับไว้พิจารณา
ด้วยความเคารพและใฝ่หาสันติภาพ
รอมือละห์ แซเยะ
มูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ
29 ธันวาคม 2557
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น