เมื่อเวลา 14.20 น. วันที่ 30 มกราคม 2558 ที่ศาลาประชุมหมู่บ้านม.3 ต.นาข้าวเสียอ.นาโยง จ.ตรัง เครือข่ายคนกรีดยางจ.ตรัง นำโดยนายสุวิทย์ ทองหอม นายสมคิด ทองหนัน นายสาโรช ขำณรงค์ นัดรวมตัวเกษตรกรที่กรีดยางพาราในจังหวัดตรัง ประมาณ 100 คนแถลงการณ์สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังพิจารณาในวันเดียวกันและคัดค้านการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ. 2535 ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา
เครือข่ายคนกรีดยาง จ.ตรัง ระบุเหตุผลของการสนับสนุนว่า เพราะในร่าง พ.ร.บ.การยางฯ มีการให้คำจำกัดความของคำว่าเกษตรกรสวนยาง รวมถึงผู้กรีดยางพารานอกจากนี้ในร่าง พ.ร.บ. การยางฯ ยังได้บัญญัติถึงการจัดสวัสดิการให้ชาวสวนยางพาราด้วย ซึ่งในร่างเดิมของ พ.ร.บ.นั้นไม่ได้ระบุไว้
ส่วนประเด็นคัดค้านการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ. 2535 นั้น เครือข่ายคนกรีดยาง จ.ตรัง ระบุว่า การมีไม้ยางพาราในบัญชีแนบท้าย อาจส่งผลให้มีการตรวจสอบเข้มงวดว่าไม้ยางพาราไหนถูกปลูกในแปลงที่จดทะเบียนตาม พ.ร.บ.สวนป่าฯ หรือปลูกโดยเกษตรกร อาจส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนในตอนต้องตัดโค่น และขนย้ายไม้ยางพาราได้อย่างลำบากมากขึ้น
แถลงการณ์เครือข่ายคนกรีดยาง จ.ตรัง ฉบับที่ 1
ตามที่คนกรีดยางซึ่งได้รวมตัวกันเป็น “เครือข่ายคนกรีดยาง จ.ตรัง” และภาคใต้ ในนาม “แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง” ได้ยื่นข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหายางพารา และเรียกร้องให้มีการปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย โดยให้มี
1.เกษตรกรชาวสวนยาง หมายความว่า ผู้ทำสวนยางและมีสิทธิ์ได้รับผลผลิตจากต้นยางในสวนยางที่ทำนั้น และรวมถึงคนกรีดยาง (ความตามร่างเดิมไม่มีคนกรีดยาง)
2.ให้มีบทบัญญัติว่าด้วย การจัดสวัสดิการชาวสวนยาง (ซึ่งในร่างเดิมไม่มี)
และในวันนี้ (30 มกราคม 2558) กรรมาธิการวิสามัญประจำสภาฯ จะทำการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว
พวกเราเครือข่ายคนกรีดยางฯ ต้องการจะสื่อสารไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญว่า พวกเราต้องการสนับสนุนให้มีการพิจารณาเพื่อเห็นชอบให้คนกรีดยาง ได้เป็นเกษตรกรชาวสวนยาง ตามนิยามแห่งพ.ร.บ.ฉบับนี้ และให้ชาวสวนยางได้มีสวัสดิการบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วย
พวกเราเครือข่ายคนกรีดยาง จ.ตรัง ไม่เห็นด้วย และคัดค้าน พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ.2535 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งได้มีบัญชีแนบท้ายอยู่ด้วย อันอาจจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนในการตัดโค่น ขนย้ายไม้ยางพาราไม่ได้อย่างมีอิสรเสรี ได้อีกต่อไป
ดังนั้น “เครือข่ายคนกรีดยาง จ.ตรัง” ในนาม “แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง” จึงได้นัดรวมตัวกัน เพื่อแสดงพลังให้เห็นว่า
1.พวกเราสนับสนุนร่างพ.ร.บ.การยางฯ ดังกล่าวข้างต้น
2.คัดค้านพ.ร.บ.สวนป่า ซึ่งมีม้ยางพาราแนบท้ายอยู่ด้วย
หากไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์อันบริสุทธิ์นี้ พวกเราจะรวมตัวกันต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเรียกร้องและเจตนารมณ์ของพวกเราข้างต้น อย่างถึงที่สุด
ด้วยความศรัทธาและเชื่อมั่นในพลังประชาชน
เครือข่ายคนกรีดยาง จ.ตรัง
30 มกราคม 2558
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น