วันจันทร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558

รอยปริ 'ชาตินิยมจ๋า ปะทะ เทคโนแครต' เมื่อ สปช. โหวตล้ม 'สัมปทานปิโตรเลียม'


ปีกชาตินิยมจ๋าใน สปช. นำโดยกลุ่ม 40 ส.ว. โหวตล้มเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ด้วยระบบสัมปทานไทยแลนด์ทรี พลัสตามที่เทคโนแครตสายพลังงานเสนอ แต่ท้ายสุด ‘ประยุทธ์’ ไฟเขียว ก.พลังงาน เดินหน้าเปิดสัมปทาน
“ระบบไทยแลนด์ทรีพลัส” (Thailand (III) Plus) คืออะไร (คลิ๊กอ่านเบื้องต้น) และอ่านพิจารณาศึกษาเรื่องการเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21  ตามที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สปช. (คลิ๊กอ่าน)
ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในประเด็นพลังงานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็คือการโหวตล้มมติการเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21  ตามที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ เป็นผู้เสนอ
โดยเมื่อวันที่ 13 ม.ค. มีรายงานว่า ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ครั้งที่ 4/2557 ได้พิจารณาศึกษาเรื่องการเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21  ตามที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานเสียงข้างมากเป็นผู้เสนอ  โดยได้ดำเนินการประชุม และอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่เวลา 10.00 น. กระทั่งเวลา 19.32 น. ได้มีการลงคะแนน โดยมี น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช. คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม
ขณะที่นายทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน แถลงผลการศึกษาว่า ผลการพิจารณาสรุปเป็น 3 แนวทาง คือ 1.ให้กระทรวงพลังงาน ดำเนินการเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ด้วยระบบสัมปทาน ระบบไทยแลนด์ทรีพลัส (Thailand (III) Plus) ตามแผนงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน 2.ยกเลิกการใช้ระบบสัมปทาน ในการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 และนำระบบแบ่งปันผลผลิต และ 3.ให้ดำเนินการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ด้วยระบบสัมปทานระบบไทยแลนด์ทรีพลัส (Thailand (III) Plus) และให้กระทรวงพลังงาน ดำเนินการศึกษาและเตรียมการให้มีระบบแบ่งปันผลผลิตที่ เหมาะสมกับศักยภาพของการผลิตปิโตรเลียมให้พร้อมไว้เพื่อเป็นทางเลือก แล้ให้รัฐบาลตัดสินใจในการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในครั้งต่อๆ ไป ซึ่งได้คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนเป็นหลัก จึงมีมติเสนอทางเลือกที่ 3 ต่อที่ประชุม สปช.เพื่อพิจารณาเสนอ ครม.ต่อไป
ท้ายสุดที่ประชุมในวันนั้นได้มีการลงมติ โดยสมาชิก สปช. ส่วนใหญ่ มีมติไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สปช. เสียงข้างมาก  ที่จะให้มีการเดินหน้าสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21  ด้วยคะแนน 130 ต่อ 79 คะแนน งดออกเสียง 21 เสียง

22 ต่อ 3 เสียงในชั้นกรรมาธิการ
นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยต่อสื่อมวลชนต่อกรณีนี้ว่า
"กรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน 25 คน มีจำนวน 22 คน ที่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และ 3 คนซึ่งเป็นกรรมาธิการเสียงข้างน้อยขอสงวนความคิดเห็น โดยในการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมใหญ่ของ สปช. ผู้อภิปรายส่วนใหญ่ก็มีแนวคิดที่สนับสนุนการเปิดสัมปทานครั้งนี้ แต่เมื่อเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิก สปช. ไม่เห็นด้วย ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะตัดสินใจว่าจะยึดเอาเหตุและผลตามรายงานที่มีการศึกษาของกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ หรือจะทำตาม มติของ สปช.เสียงส่วนใหญ่ โดยเรื่องนี้หากรัฐบาลมีการชะลอการเปิดสัมปทานออกไปก็จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะได้มีการประกาศให้นักลงทุนได้ทราบเป็นทางการแล้วว่ารัฐบาลจะดำเนินการเรื่องนี้"
นายคุรุจิต กล่าวว่า กรรมาธิการปฏิรูปพลังงานไม่ได้มีแนวคิดที่จะเป็นล็อบบี้หรือขอเสียงจากสมาชิก สปช.คนอื่นๆ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี ขอความเห็นจาก สปช. จึงน่าจะเป็นเรื่องที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานทำความเห็นส่งให้รัฐบาล เพื่อประกอบการตัดสินใจเท่านั้น แต่เมื่อกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานเสียงข้างน้อย ซึ่งเคยทำงานด้านการเมืองและมีความคุ้นเคยกับสมาชิก สปช.คนอื่นๆ สามารถที่จะรวมเสียงได้ ผลจึงออกมาว่ากรรมาธิการปฏิรูปพลังงานเสียงข้างมากแพ้มติ
"กรณีนี้เชื่อว่าน่าจะทำให้การปฏิรูปพลังงานในเรื่องที่มีความสำคัญเรื่องอื่นๆ ที่จะช่วยแก้ปัญหาวิกฤตพลังงานของประเทศมีปัญหาตามมาด้วย เพราะสิ่งที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานเสียงข้างมาก นำเสนอขึ้นไป ก็อาจจะถูกเสียงส่วนใหญ่ ที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของพลังงานโดยตรง ตีตกไปในลักษณะเดียวกันนี้อีก"
โดยนายคุริจิตระบุว่ากรรมาธิการปฏิรูปพลังงานเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทาน ปิโตรเลียมรอบที่ 21 คือนายอลงกรณ์ พลบุตร,นายชาญณรงค์ เยาวเลิศ และนางสาวรสนา โตสิตระกูล [ดู: วิวาทะ 'สัมปทานปิโตรเลียมรอบ21', กรุงเทพธุรกิจ, 15 มกราคม 2558]

130 ต่อ 79 ในที่ประชุม สปช.
รสนา โตสิตระกูล คีย์แมนสำคัญในการล๊อบบี้ 130 เสียงให้โค่นมติของ กมธ.ปฏิรูปพลังงานเสียงข้างมาก ในที่ประชุม สปช. ได้ ระบุกับสื่อมวลชนภายหลังว่าหากกระทรวงพลังงานยืนยันจะเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ต่อไปโดยไม่ฟังเสียงข้างมากของ สปช. ที่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทานฯ แต่กลับไปยึดเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการพลังงาน (กมธ.) ที่เห็นชอบ ก็เท่ากับกระทรวงพลังงานอาศัย กมธ. เป็นการรับรองความชอบธรรมของตัวเองในการเปิดสัมปทานฯเท่านั้น
"ขอท้าให้กระทรวงพลังงานเอาเสียงข้างมากของ กมธ.ไปทำประชามติของประชาชน โดยถ้าคิดว่า สปช.ยังเป็นความเห็นที่ไม่เพียงพอ ก็จัดทำประชามติทุกภาคทั่วประเทศ จะได้เห็นกันว่าประชาชนมีความคิดเห็นอย่างไร"
อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ สปช.จะนำมติของ สปช.ที่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทาน 130 เสียงต่อ 79 เสียง เพื่อเสนอต่อรัฐบาลต่อไป
“ปกติการสำรวจสัมปทานปิโตรเลียมใช้เวลาถึง 9 ปี ดังนั้นไม่เห็นความจำเป็นที่กระทรวงพลังงานจะต้องรีบเร่งเปิดสัมปทาน โดยไม่รอรัฐธรรมนูญ หรือ รอการปฏิรูปพลังงานให้เสร็จก่อน ซึ่งความจริงระหว่างที่รอแก้ไขกฎหมาย ทางกระทรวงพลังงานสามารถทำหน้าที่เป็นผู้สำรวจแปลงสัมปทานปิโตรเลียมให้ชัดเจน หรือควรศึกษาถึงการนำระบบแบ่งปันผลผลิตก่อน จึงค่อยมาคิดเรื่องเปิดสัมปทาน จึงจะเหมาะสมกว่า” [ดู: วิวาทะ 'สัมปทานปิโตรเลียมรอบ21', กรุงเทพธุรกิจ, 15 มกราคม 2558]
ท่าทีที่แข็งกร้าวและเปี่ยมไปด้วยความมั่นใจนี้ เกิดจากการเกาะกลุ่มกันที่เหนียวแน่นและการแผ่ขยายอิทธิทางความคิดของกลุ่มการเมือง “40 ส.ว.” ที่มีเธอและคำนูณ สิทธิสมานเป็นแกนนำต่อ สปช. ส่วนใหญ่ได้ รวมทั้งการได้เสียง สปช. คนสำคัญหลายคน อาทิ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป, นายชัย ชิดชอบ, นายมีชัย วีระไวทยะ ฯลฯ ให้ยืนข้างมากได้ถึง 130 ขณะที่ฝ่าย สปช. เทคโนแครตด้านพลังงานได้เพียง 79 เท่านั้น

เดินหน้าตามแนวทางเทคโนแครต
แต่หลังการออกมาระบุภายหลังของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติเมื่อวันที่ 16 ม.ค. ที่ผ่านมา อาจทำให้ สปช. สายชาตินิยมจ๋าต้องสะอึกเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่าในเรื่องของทางปฏิบัติเป็นเรื่องของ ครม. ของกระทรวงพลังงานที่จะต้องรับผิดชอบในเรื่องของการดำเนินการต่อไปให้ถูกต้อง เพียงพอและไม่ให้ประสบปัญหาในเรื่องของวิกฤตด้านพลังงานในอนาคต สอดคล้องกับการออกมาระบุแก่สื่อมวลชนก่อนหน้านั้นว่าการเตรียมพลังงานสำรองถือเป็นเรื่องดี เพราะหากไม่สามารถใช้พลังงาน ทั้งไฟฟ้าและก๊าซ ที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านได้ ก็ยังมีพลังงานในประเทศสำรองไว้ใช้ การได้มาของพลังงานสำรองจากการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ก็จะสอดคล้องกับสัมปทานที่รัฐบาลเคยดำเนินการมาในอดีต ที่ขณะนี้ก็ทยอยที่จะหมดสัมปทานแล้ว
“การที่มีกลุ่มคนออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย โดยเกรงว่าจะทำให้ประเทศเสียประโยชน์จากการเปิดสัมปทาน ก็อยากจะชี้แจงว่า การเปิดสัมปทานในแต่ละจุด ไม่มีใครรู้ว่าจุดไหนจะมีน้ำมันมากหรือน้อย คุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ เพราะต้องเข้าไปสำรวจก่อน และหากขัดขวางจนสุดท้ายประเทศไม่มีพลังงานไว้ใช้ในอีก 6 ปี ข้างหน้า ก็ขอให้ผู้ที่คัดค้านออกมารับผิดชอบ โดยให้มาเซ็นสัญญาเพื่อเป็นหลักฐานและเมื่อใดที่มีปัญหาด้านพลังงาน จะได้ให้คนกลุ่มนี้รับผิดชอบ”
และ พล.อ.ประยุทธ์ ยังระบุว่าจะไม่ยอมให้มีการเคลื่อนไหวไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดก็ตาม ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพลังงานและการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ไม่ว่าจะเป็นการจัดเวทีแสดงความคิดเห็นปลุกระดม หรือเดินขบวน เพราะไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้ง รัฐบาลยืนยันว่าจะทำทุกอย่างโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ และยึดหลักดำเนินการด้วยความโปร่งใส และพร้อมที่จะรับฟังและนำความเห็นของผู้ที่ไม่เห็นด้วยมาพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นของ สปช. หรือกลุ่มใดก็ตาม [ดู: “ประยุทธ์” ให้พลังงานชี้ขาดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21, โลกวันนี้, 16 มกราคม 2558]
ซึ่งความหมายของพล.อ.ประยุทธ์ ก็น่าจะเป็นการใช้แนวทางของกระทรวงพลังงาน ตามที่ สปช.สายเทคโนแครตด้านพลังงานชงไว้ให้แล้ว แม้จะไม่ผ่านความเห็นชอบจาก สปช. ชุดใหญ่ก็ตาม
สำหรับประเด็นพลังงาน ไม่ว่าจะรัฐบาลไหน (เป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตย) ก็มักจะใช้แนวทางจากเทคโนแครตในอุตสาหกรรมพลังงานที่มีความผูกพันกับกระทรวงพลังงานและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ปตท. กฟผ. หรือจากบรรษัทพลังงานต่างๆ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมานี้เทคโนแครตในอุตสาหกรรมพลังงานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดก็น่าจะหนีไม่พ้นปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานบอร์ด ปตท. คนปัจจุบัน
ส่วนคีย์แมนคนสำคัญของคณะกรรมธิการปฏิรูปพลังงาน สปช. ก็เป็นฝ่ายเทคโนแครตในอุตสาหกรรมพลังงานและส่วนใหญ่ก็เป็นลูกหม้อของ ปตท. กฟผ. และกระทรวงพลังงาน ด้วยเช่นกัน อาทินายทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ คณะกรรมธิการปฏิรูปพลังงาน เขาเคยเป็นอดีตผู้ว่าการ ปตท. คนแรก ประธานกรรมการ / กรรมการอิสระ/ กรรมการตรวจสอบ บมจ. สามารถคอร์ปอเรชั่น ประธานกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน บมจ. สามารถคอร์ปอเรชั่น ประธานกรรมการ บมจ. ลินเด้ (ประเทศไทย), นายคุรุจิต นาครทรรพ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน บอร์ด ของบริษัท ปตท. และเพิ่งรับการแต่งตั้ง จาก ครม. เป็นประธานบอร์ดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 มกราคม ที่ผ่านมา, นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตกรรมการ ปตท., กรรมการไทยออยล์, สมาชิกกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน, นายมนู เลียวไพโรจน์ ขึ้นเวที กปปส. / อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, ประธานกรรมการ บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน), นายมนูญ ศิริวรรณ ประธานคณะกรรมการบริษัทการจัดการธุรกิจจำกัด นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน, อดีตผู้บริหาร บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และนายอนนต์ สิริแสงทักษิณ ปี 56 กรรมการ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด ปี 55 ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล. ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สผ. กรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นต้น
สำหรับฝ่ายชาตินิยมจ๋าแม้จะชนะในโหวตในสภา แต่ท้ายสุดก็อาจจะเป็นผู้พ่ายแพ้ และนี่เป็นบทเรียนอีกครั้งว่าพวกเขา (ฝ่ายชาตินิยมจ๋า) ไม่ได้สู้แค่นักการเมืองเท่านั้น หากจะเปลี่ยนประเทศไทยไปตามที่พวกเขาฝัน เหล่าเทคโนแครตอันเป็นมันสมองระบบราชการไทย ก็ยังเป็นพลังเอกเทศ ที่แม้บางครั้งดูเหมือนจะเข้าได้กับฝ่ายชาตินิยม แต่ส่วนใหญ่แล้วเทคโนแครตเหล่านี้ก็ต้องเดินไปตามระบบทุนนิยมเสรีเป็นหลัก.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น