หมายเหตุกองบรรณาธิการ: ข้อเขียนนี้เป็นเนื้อหาที่เผยแพร่ครั้งแรกในบล็อกของ Abu Hafiz Al-Hakim ที่ชื่อ “PENGISYTIHARAN SIDANG PEJUANG-PEJUANG PATANI” ซึ่งอัพโหลดเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา กล่าวถึงคำประกาศที่ประชุมกลุ่มต่อสู้เพื่อปาตานี (Pengisytiharan Sidang Pejuang-pejuang Patani) เมื่อ 25 ปีที่แล้ว จากคำประกาศ 9 ข้อ นำไปสู่การเกิดขึ้นของแนวร่วมเพื่อเอกราชแห่งปาตานีหรือเบอร์ซาตู และจุดยืนปัจจุบันต่อกระบวนการสันติภาพจะเป็นอย่างไร ให้ร่วมกันติดตาม
ในระหว่างที่เราเฝ้าติดตามกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ (Proses Dialog Damai) ระหว่างรัฐบาลไทยกับตัวแทนนักต่อสู้ปาตานีว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่อย่างไร หรือจะเริ่มต้นอีกครั้งเมื่อใด คงจะดีไม่น้อยหากเราจะย้อนกลับไปย้อนพิจารณาคำประกาศที่ประชุมกลุ่มต่อสู้เพื่อปาตานี (Pengisytiharan Sidang Pejuang-pejuang Patani) ที่มีขึ้นเมื่อ 25 ปีที่แล้ว
คำประกาศดังกล่าวที่แถลงขึ้นนอกพื้นที่ปาตานีนั้นเป็นผลมาจากการประชุมครั้งหนึ่ง – การประชุมของนักต่อสู้เพื่อปาตานี (Conference of Patani Freedom Fighters) เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 1989 ที่จัดขึ้นโดยฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีบรรดาแกนนำระดับสูงของกลุ่มนักต่อสู้กลุ่มหลักๆ เข้าร่วม ซึงต่อมาได้มีการลงนามในเอกสารครั้งประวัติศาสตร์อีกด้วย ผู้เข้าร่วมในครั้งนั้นมีดังต่อไปนี้คือ
- 1. หัวหน้ากลุ่มบีอาร์เอ็น (ขบวนการปฏิวัติแห่งชาติ - BRN) คองเกรส
- 2. หัวหน้ากลุ่มบีไอพีพี (ขบวนการอิสลามปลดปล่อยปาตานี–BIPP)
- 3. หัวหน้ากลุ่มจีเอ็มพี (ขบวนการมูญาฮิดีนปาตานี - GMP) และ
- 4. ผู้นำระดับสูงของกลุ่มพูโล (องค์การปลดปล่อยสหปาตานี–PULO)
เนื้อหาบางส่วนของคำประกาศดังกล่าวระบุว่า:
“ทั้งนี้เราขอประกาศว่า
- 1.การต่อสู้เพื่อปลดแอกปาตานีคือการต่อสู้เพื่อให้บรรลุถึงอิสรภาพที่เที่ยงแท้ เพื่อการสถาปนารัฐมลายูอิสลามที่มีอำนาจอธิปไตย (Berdaulat)
- 2. การต่อสู้ของเราการญิฮาดที่ใช้กำลังอาวุธตามแนวทางของอิสลามและได้รับการสนับสนุนจากประชาชนชาวมลายูปาตานี
- 3. เราคัดค้านนโยบายและกฎเกณฑ์ทั้งหมดของเจ้าอาณานิคมไทยที่มีมุ่งหมายจะขจัดความเชื่อศรัทธา เชื้อชาติ ภาษาและวัฒนธรรมมลายูปาตานี
- 4. เราต่อต้านการกดขี่ ความอยุติธรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของการฆาตกรรมการควบคุมตัวที่ไร้คำอธิบาย การซ้อมทรมาน และการเลือกปฏิบัติ
- 5. เราต่อต้านการให้ความร่วมมือกับนักล่าอาณานิคมไทยจากหลายๆ ฝ่ายทุกรูปแบบ ของทุกๆ ฝ่าย ในการหยิบฉวยผลประโยชน์และความรื่นเริงกับแหล่งทรัพยากรทางเศรษฐกิจและความสมบูรณ์บนแผ่นดินปาตานี
- 6. เราจะปฏิบัติขั้นเด็ดขาดสำหรับใครก็ตามที่ให้ความร่วมมือกับนักล่าอาณานิคมไทย ในฐานะผู้ที่กระทำการทรยศต่อการต่อสู้ของชาวปาตานี
- 7. เราขอเรียกร้องให้ชาวมุสลิมให้การสนับสนุนการต่อสู้ที่บริสุทธิ์ของเรา
- 8. เราขอเรียกร้องไปยังบรรดาประเทศและองค์กรต่างๆ ที่ใฝ่ฝันถึงเสรีภาพความยุติธรรมและสันติภาพ เพื่อให้การสนับสนุนในด้านศีลธรรมและปัจจัยวัตถุต่อขบวนการต่อสู้ของชาวปาตานี
- 9. เราจะให้ความร่วมมือกับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่ออิสรภาพ และที่ใฝ่ฝันเพื่อสันติภาพต่างๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งขบวนการเคลื่อนไหวอิสลาม”
ต้นฉบับของเอกสารคำประกาศดังกล่าวนี้เป็นภาษามลายู จากนั้นได้มีการจัดทำรวมเล่มใหม่อีกครั้งและเผยแพร่เป็นสามภาษาด้วยกัน คือภาษามลายู (รูมีและยาวี) ภาษาอาหรับและภาษาอังกฤษ
ทั้งนี้ ควรต้องสังเกตไว้ด้วยว่า ขบวนการบีอาร์เอ็นที่เข้าร่วมในการประชุมดังกล่าว คือมาจาก บีอาร์เอ็นคองเกรส(ปีกการทหารของบีอาร์เอ็นเดิม) และไม่ใช่บีอาร์เอ็นโคออดิเนต แต่อย่างใด ขณะที่ขบวนการพูโลที่ในช่วงเวลานั้นยังคงรวมเป็นหนึ่งเดียวและยังไม่ได้แตกตัวออกมาเป็นสามกลุ่มเช่นทุกวันนี้
เป็นที่เข้าใจว่าหลังจากมีคำประกาศดังกล่าวนี้เพียงไม่กี่เดือน ก็มีการถือกำเนิดขึ้นขององค์กรร่มที่มีชื่อว่าแนวร่วมเพื่อเอกราชแห่งปาตานี (Barisan Bersatu Kemerdekaan Patani) หรือเป็นที่รู้จักกันดีในนามเบอร์ซาตู (BERSATU) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากขบวนการทั้งสี่กลุ่มที่กล่าวมาข้างต้น ด้วยเหตุนี้พอที่จะสรุปได้ว่า การประกาศข้างต้นนั้นได้รับการสนับสนุนเบอร์ซาตูอย่างเต็มที่
มีเหตุการณ์ไม่น้อยที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ที่มีคำประกาศในวันนั้น ถึงแม้ว่าการจัดตั้งเบอร์ซาตูจะมิได้นำไปสู่การดำรงซึ่งการรวมตัวอย่างแท้จริงในแง่ของความเป็นองค์กรความเคลื่อนไหวและกองกำลังติดอาวุธ ทว่ามันได้ส่งผลสะเทือนในทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญต่อขบวนการต่อสู้ปาตานี กล่าวคือ ศักยภาพของผู้นำ ความสมัครสมานสามัคคี และจิตวิญญาณที่มีความอดทนอดกลั้นระหว่างกันในการสถาปนาขบวนแถวที่สามารถส่งเสียงบางอย่างก็สร้างความโกรธเคืองให้แก่เจ้าอาณานิคมได้บ้างแล้ว
เจ้าอาณานิคมไทยเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องการใช้นโยบายแบ่งแยกแล้วปกครอง (divide and rule) แน่นอนว่าจะไม่มีสันติสุขเกิดขึ้น ตราบใดที่บรรดานักต่อสู้ปาตานีต่างรวมกันเป็นหนึ่งในการต่อกรกับพวกเขา เจ้าอาณานิคมจะมีความยินดีอย่างยิ่งหากว่าฝ่ายขบวนการต่อสู้เกิดความแตกแยกและมีการขัดขากันเอง และแน่นอนว่า สิ่งนี้จะทำให้เสียงและความพยายามของพวกเขาไม่มีพลัง จนบัดนี้ เบอร์ซาตูยังคงเป็นฝันร้ายของเจ้าอาณานิคม ถึงแม้ว่ามันจะไม่มีบทบาทใดๆ แล้วก็ตาม
ประวัติศาสตร์การก่อตั้งขบวนการเบอร์ซาตูการขับเคลื่อนภายใต้พันธกิจปกป้องชะตากรรมของประชาชาติที่ผ่านมา ตลอดจนการเผชิญกับปัญหาภายใน ที่สุดท้ายต้องลงเอยด้วยความสูญเปล่า ผู้เขียนเองมิได้ต้องการที่จะอธิบายอย่างยาวเหยียดเกี่ยวกับเรื่องราวดังกล่าว นอกจากปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักวิจัยด้านการเมืองที่มีความสนใจที่จะลงลึกในรายละเอียดเรื่องดังกล่าว สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นก็คือ จิตวิญญาณอันแรงกล้า (SEMANGAT) และจุดมุ่งหมาย (CITA-CITA) ที่ได้ระบุไว้ในคำประกาศดังกล่าวนั่นเอง
ข้อที่ 1 และ 2 เป็นถ้อยแถลงที่ชัดเจนและถูกต้องแม่นยำที่ว่า การต่อสู้ที่ว่านี้มีเป้าหมายเพื่อรัฐปาตานีที่เป็นเอกราชและมีอำนาจอธิบไตย ผ่านการต่อสู้ทางการเมืองที่ใช้กำลังอาวุธโดยประชาชนที่เป็นลูกหลานปาตานีเอง ซึ่งขบวนการต่อสู้ปาตานีทั้งหมดต่างสนับสนุนในหลักการดังกล่าวนับตั้งแต่วินาทีแรกที่ก่อตั้งจวบจนปัจจุบัน ถึงแม้นว่าท่าทีในวันนี้จะมีความโน้มเอียงในการเลือกวิธีการเจรจาหรือการพูดคุยเพื่อสันติภาพ แต่นี่ก็เพียงเพื่อพยายามเสาะหาเส้นทางที่เอื้อต่อการนำพาสู่เป้าหมายเหล่านั้น และไม่เคยละทิ้งการต่อสู้ด้วยอาวุธอย่างแน่นอน
ข้อที่ 3 ที่ 4 และ 5 เป็นการแสดงท่าทีการต่อต้านของขบวนการต่อสู้ปาตานีต่อทุกๆ นโยบาย การกระทำการแสวงหาผลประโยชน์ การกดขี่ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าอาณานิคม ที่ปรารถนาจะคงเงื้อมมือเหล็กของพวกเขาไว้เหนือชาวปาตานีและรวมไปถึงแหล่งทรัพยากรในแผ่นดิน เราจะเห็นว่าในวันนี้ชาวมลายูปาตานีได้สูญเสียอัติลักษณ์ของความเป็นตัวตนเสียแล้วในฐานะมนุษยชาติที่มีศักดิ์ศรี มีความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นบนผืนแผ่นดินตัวเอง ภาษาและวัฒนธรรมเกือบจะสูญพันธุ์ พวกเขาถูกจับขัง ถูกอุ้มหาย หรือถูกฆาตกรรมตามอำเภอใจโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใสและเป็นธรรม
การต่อต้านยังหมายรวมถึงต่อความพยายามของฝ่ายที่ร่วมมือกันเพื่อลักลอบกอบโกยความมั่งคั่งจากทรัพยากรธรรมชาติจากผืนแผ่นดินปาตานี ถึงขั้นพร้อมที่จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับ "ผู้ฉ้อโกง" และพวกที่ทรยศต่อการต่อสู้ตามที่ได้ระบุไว้ในข้อที่ 6
ข้อ 7 และ 8 เป็นการเรียกร้องและแสวงหาแรงหนุนช่วยและการสนับสนุนจากบุคคล องค์กรและพร้อมยื่นมือออกไปเพื่อให้มีความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่แสวงหาความยุติธรรมเสรีภาพและสันติภาพตามที่ได้ระบุไว้ในข้อที่ 9
ถึงแม้จะผ่านเวลามาแล้วมาแล้วถึง 25 ปี ทว่าคำประกาศทั้ง 9 ข้อดังกล่าวก็ยังคงมีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในวันนี้ เพราะว่าความขัดแย้งทางการเมืองยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง บรรดาผู้นำการต่อสู้มาแล้วก็จากไป องค์กรมีความเข้มแข็งและอ่อนแอ่ต่างสลับกันขึ้นๆ ลงๆ นักต่อสู้ในพื้นที่บางส่วนได้พลีชีพ (syahid) ที่มาก่อนก็ชราภาพ ที่โดดเดี่ยวก็เงียบสงบ สิ่งที่ยังคงอยู่คือความมุ่งมาดปรารถนาในการต่อสู้ของประชาชนทั้งมวลที่มิเคยมอดดับ ดังนั้นภารกิจดังกล่าวนี้ควรต้องสืบต่อโดยชนรุ่นหลังต่อไปพร้อมๆ กับการพัฒนาขีดความสามารถในการให้ได้มาซึ่งความยุติธรรมสันติภาพและเสรีภาพที่แท้จริงบนผืนแผ่นดินปาตานีดารุสซาลาม
ทั้งนี้ เกี่ยวกับจุดยืนที่เป็นทางการของบรรดาองค์กรต่อสู้เพื่อปาตานีต่างๆ ต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ณ วันนี้นั้น ยังอยู่ในระหว่างการถกเถียง ซึ่งคาดว่าการประชุมอย่างเป็นทางการคงจะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ และตามด้วยการประกาศอย่างเป็นทางการจากฝ่ายขบวนการต่อสู้ว่าพวกเขาจะเข้าร่วมในการพูดคุยในครั้งต่อไปหรือไม่อย่างไร หรือจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม
เรามาร่วมกันติดตามต่อไป
อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม
น้ำส้มสายชูและน้ำผึ้ง – จากนอกรั้วปาตานี
17 รอบีอุลเอาวัล 1436 ฮ. / 8 มกราคม ค.ศ. 2015
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น