วันอังคารที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2558

ผู้นำโลกหลายคนถูกวิจารณ์ 'มือถือสากปากถือศีล' หลังร่วมชุมนุมหนุนเสรีสื่อในปารีส

การชุมนุมเพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับเหยื่อที่ถูกกลุ่มก่อการร้ายโจมตีในฝรั่งเศสในช่วงสัปดาห์ที่แล้วมีผู้นำหลายคนจากทั่วโลกเข้าร่วมด้วย แต่ตัวแทนส่วนหนึ่งก็ถูกวิจารณ์ "มือถือสากปากถือศีล" เพราะมาจากประเทศที่มีการปิดกั้นเสรีภาพสื่อหรือมีการปราบปรามผู้ต่อต้านขัดขืน

12 ม.ค. 2558 เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (11 ม.ค.) มีการชุมนุมครั้งใหญ่ในกรุงปารีสของฝรั่งเศสเพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับนิตยสารชาร์ลี เอบโด ที่ถูกคนร้ายบุกโจมตีจนมีผู้เสียชีวิต 12 คน รวมถึงผู้สูญเสียจากกรณีบุกจับคนในร้านค้าชาวยิวเป็นตัวประกันโดยมีผู้เข้าร่วมชุมนุมอย่างน้อย 1.5 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีผู้นำจาก 50 ประเทศเข้าร่วมการชุมนุมด้วย
อย่างไรก็ตามผู้สังเกตการณ์การชุมนุมจำนวนมากวิจารณ์ผู้นำที่เข้าร่วมชุมนุมบางส่วนว่าเป็นการแสดงออกอย่าง "มือถือสากปากถือศีล" เนื่องจากแม้ว่าพวกเขาจะแสดงออกในเชิงสนับสนุนเสรีภาพสื่อในการชุมนุมที่ฝรั่งเศส แต่ในประเทศของพวกเขาเองกลับมีการจำกัดเสรีภาพสื่อ เช่น มาร์ค ลินช์ ศาตราจารย์จากมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตันกล่าวว่าผู้นำบางคนที่ร่วมชุมนุมมีการจับกุมหรือทารุณกรรมนักข่าวและผู้ต่อต้านตนเอง
ทางด้านองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนระบุว่าพวกเขารู้สึกไม่พอใจที่เห็นเจ้าหน้าที่ตัวแทนจากบางประเทศที่ลิดรอนเสรีภาพสื่อและข้อมูลข่าวสารไปปรากฏตัวในการชุมนุมที่ฝรั่งเศสด้วย เช่น นายกรัฐมนตรีของตุรกี รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย อียิปต์ อัลจีเรีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประธานาธิบดีประเทศกาบอง ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนอยู่ในระดับท้ายตารางของการจัดอันดับเสรีภาพสื่อโลกประจำปีขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน
ยกตัวอย่างเช่นประเทศอียิปต์ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 159 จาก 180 อันดับ เป็นประเทศที่เพิ่งเกิดรัฐประหารและมีการลิดรอนเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการชุมนุมอย่างหนักโดยมีการดำเนินคดีในศาลกับนักข่าวอัลจาซีรา 3 คนด้วยข้ออ้างว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ก่อการร้าย ประเทศตุรกีอยู่ในอันดับที่ 154 มีสถิติเป็นประเทศที่จับกุมนักข่าวสูงสุดในปี 2555-2556 และในปี 2557 ก็ยังจับกุมนักข่าวอีกหลายคน
นอกจากนี้ยังมีการยกตัวอย่างรัสเซียซึ่งอยู่ในอันดับที่ 148 พวกเขามักจะตั้งเป้าหมายเป็นบล็อกเกอร์และนักกิจกรรมผู้ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันขณะที่สำนักข่าวอิสระต้องพยายามเอาตัวรอดอย่างมาก ส่วนประเทศอัลจีเรียซึ่งอยู่ในอันดับที่ 121 มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งถือเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพเมื่อปี 2554 นอกจากนี้ยังมีการจับกุมนักข่าวจำนวนหนึ่งในช่วงก่อนการเลือกตั้งปีที่แล้ว
องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระบุว่าประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีการปิดกั้นเสรีภาพสื่ออย่างมากนับตั้งแต่ปี 2554 มีนักกิจกรรมสายสันติวิธีและผู้วิจารณ์รัฐบาลถูกจับกุมไปแล้วมากกว่า 100 คน ส่วนในประเทศกาบองมีนักข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนรายหนึ่งที่ชื่อโจนาส มูวเลนดา ต้องหลบหนีออกจากประเทศเนื่องจากถูกขู่ฆ่า
ทั้งนี้ยังมีตัวแทนจากประเทศอื่นๆ ที่ไปปรากฏตัวโดยที่ถูกมองว่า "มือถือสากปากถือศีล" คนอื่นๆ เช่น ผู้นำฮังการีซึ่งเคยมีเสนอให้มีการเก็บภาษีอินเทอร์เน็ต ตัวแทนจากอิสราเอล นาฟตาลี เบนเนตต์ รัฐมนตรีเศรษฐกิจ ก็เคยกล่าวผ่านสื่อว่า "ผมเคยสังหารชาวอาหรับมามาก แล้วก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร" ในทวิตเตอร์มีผู้ไม่พอใจจำนวนมากเมื่อทราบว่ามีเจ้าหน้าที่ทางการซาอุดิอาระเบียหลายคนเข้าร่วมการชุมนุมที่ฝรั่งเศสทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่กี่วันพวกเขาเพิ่งสั่งลงโทษบล็อกเกอร์รายหนึ่งข้อหาละเมิดศาสนา
สำนักข่าววอชิงตันโพสต์ระบุว่าการชุมนุมในกรุงปารีสของเหล่าผู้นำอาจจะเป็นการย้ำเตือนว่าคนเราสามารถแสดงออกในเชิงสนับสนุนเสรีภาพสื่อกันได้ง่ายๆ เมื่อมันเป็นแนวคิดที่คลุมเครือ และคำวิจารณ์เรื่อง "มือถือสากปากถือศีล" อาจนำมาใช้กับผู้นำสหรัฐฯ ได้ด้วยเนื่องจากทางการสหรัฐฯ เคยสั่งจำคุกอดีตทหารเชลซี แมนนิ่ง 35 ปีจากการที่เขานำข้อมูลลับของรัฐบาลเผยแพร่ในวิกิลีกส์ อย่างไรก็ตามมีการตั้งข้อสังเกตว่าไม่มีผู้นำระดับสูงของสหรัฐฯ เดินทางไปร่วมการชุมนุมครั้งนี้เลย มีเพียงเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำฝรั่งเศสเท่านั้นที่เป็นตัวแทนเข้าร่วม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น