"การห้ามเปิดตัวรายงานเป็นเรื่องน่าเสียดาย" กายาทรี เวนกิทสวารัน ผู้อำนวยการสมาพันธ์ผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) กล่าวถึงกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งให้มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ประเทศไทย เลื่อนการจัดแถลงข่าว "ดัชนีสถานภาพสื่อเอเชีย: ประเทศไทย 2557" ซึ่งเดิมกำหนดจัดวันที่ 30 ม.ค. ออกไปอย่างไม่มีกำหนด
"โอกาสในการทำความเข้าใจภูมิทัศน์สื่อไทยได้สูญเสียไป ทั้งที่นี่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการปฏิรูปสื่อ" ผู้อำนวยการ SEAPA ขยายความ
ดัชนีชี้วัดสถานภาพสื่อเอเชีย ดำเนินการโดย มูลนิธิฟรีดิค เอแบร์ท เป็นโครงการประเมินสถานการณ์สื่อของชาติต่างๆ ในเอเชีย ซึ่งจะมีการประเมินทุก 2-3 ปี โดยสื่อและภาคประชาสังคมในแต่ละประเทศเป็นผู้ทำการประเมินตนเอง โดยอาศัยมาตรฐานในเรื่องสิทธิเสรีภาพสื่อเป็นเกณฑ์ประเมิน และมีการให้คะแนนตั้งแต่ 1-5 เรียงจากไม่ได้มาตรฐานไปจนถึงได้มาตรฐานในทุกด้าน
รายงานดัชนีชี้วัดสถานภาพสื่อไทย แบ่งหัวข้อการประเมินออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1.เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งเสรีภาพของสื่อได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมอย่างแข็งขัน 2.ภูมิทัศน์ของสื่อรวมถึงสื่อใหม่มีลักษณะของความหลากหลาย เป็นอิสระ และยั่งยืนมั่นคง 3. กิจการวิทยุและโทรทัศน์มีความโปร่งใสและเป็นอิสระ มีเจตจำนงทางการเมืองในการปฏิรูปให้เป็นสื่อสาธารณะ และ 4. สื่อมีความเป็นมืออาชีพในระดับสูง
โดยในส่วนที่ 1 เรื่อง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งเสรีภาพของสื่อได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมอย่างแข็งขัน ประเทศไทยได้คะแนนเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 2.8 คะแนน โดยคะแนนเฉลี่ยสูงสุด (4.19 คะแนน) คือการที่เว็บไซต์และเว็บบล็อกไม่ต้องจดทะเบียน หรือไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ส่วนคะแนนเฉลี่ยต่ำมากที่สุด (1.5 คะแนน) มี 2 ประเด็นคือ ยังมีกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็น หรือกฎหมายแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชนอย่างไม่มีเหตุผล และแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายและหรือโดยศาล
อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า มีหลายดัชนีชี้วัดที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าครึ่ง ซึ่งคะแนนที่ต่ำเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผลจากการที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องเผชิญกับการคุกคามเสรีภาพจากประกาศ คำสั่ง และแนวปฏิบัติของ คสช. การบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม และการคุกคามจากมวลชนในช่วงที่มีการชุมนุมประท้วง
ทั้งนี้ ส่วนบทวิเคราะห์ของบทนี้ระบุว่า แม้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 จะรับรองสิทธิและเสรีภาพไว้ แต่ยังมีมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน ซึ่งให้อำนาจแก่หัวหน้า คสช.อย่างกว้างขวาง ประกอบกับกฎอัยการศึกที่มีสถานะใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จึงไม่มีความแน่นอนว่าประชาชนจะได้หลักประกันสิทธิเสรีภาพจริง
นอกจากนี้ ยังมีประกาศและคำสั่ง คสช. หลายฉบับที่ควบคุมเสรีภาพในเผยแพร่ข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน มีผู้ถูกจับกุมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพิ่มขึ้น และไม่ได้รับการประกันตัวตามกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ มีการใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ร่วมกับกฎหมายหมิ่นประมาท
กรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกแล้ว ยังมีการใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2550 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ทำให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระมีต่ำมาก
ส่วนที่ 2 ภูมิทัศน์ของสื่อรวมถึงสื่อใหม่มีลักษณะของความหลากหลาย เป็นอิสระ และยั่งยืนมั่นคง พบว่า โดยรวม ประเทศไทยได้มาตรฐานตามดัชนีชี้วัดเพียงบางด้าน โดยมีคะแนนเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 2.3 คะแนน ในบรรดาประเด็นย่อยทั้งหมด มีเพียงสองหัวข้อที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่า 3 คะแนน คือ การที่พลเมืองสามารถเข้าถึงแหล่งข่าวสารอย่างกว้างขวางได้โดยง่าย และการที่ข่าวสารจากสื่อสารมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศไม่ถูกจำกัดโดยหน่วยงานของรัฐ อย่างไรก็ตาม ประเด็นหลังมีแนวโน้มย่ำแย่ลงภายหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557
ส่วนที่ 3 กิจการวิทยุและโทรทัศน์มีความโปร่งใสและเป็นอิสระ มีเจตจำนงทางการเมืองในการปฏิรูปให้เป็นสื่อสาธารณะ ในภาพรวม ประเทศไทยได้มาตรฐานเพียงบางด้าน โดยมีคะแนนเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 2.3 คะแนนในบรรดาประเด็นย่อยทั้งหมด มีเพียงสามประเด็นที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าครึ่ง คือ การที่ประชาชนสามารถเข้าถึงการแพร่ภาพขององค์กรวิทยุและโทรทัศน์ของรัฐและสาธารณะได้ในขอบเขตทั่วประเทศ องค์กรวิทยุและโทรทัศน์ของรัฐและสาธารณะเสนอรายการที่มีรูปแบบหลากหลายสำหรับผู้บริโภคทุกกลุ่ม ในขณะที่มีการเสนอเรื่องราวที่มีเนื้อหาหลากหลายและรูปแบบที่สร้างสรรค์เท่าที่มีงบประมาณอยู่ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ครอบคลุมทุกภาคส่วนหรือทุกกลุ่มความสนใจ เนื่องจากองค์กรสื่อของรัฐและสาธารณะแต่ละสถานี (ททบ.5, NBT, ไมเดิร์นไนน์, ไทยพีบีเอส) มีจุดเน้นที่แตกต่างกัน
ส่วนประเด็นที่ได้คะแนนน้อยที่สุดในส่วนนี้คือ การที่องค์กรจัดสรรคลื่นและกำกับดูแลยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการผลักดันให้เกิดโทรทัศน์ดิจิตอลชุมชน รวมทั้งการระบุแนวทางให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงกองทุนวิจัยและพัฒนา ทั้งยังไม่มีการนิยามแบ่งประเภทวิทยุชุมชนภาคประชาชน กับวิทยุท้องถิ่นธุรกิจให้ชัดเจน ในขณะที่วิทยุชุมชนยังเป็นเป้าหมายในการปิดกั้นในช่วงที่เหตุการณ์ทางการเมืองไม่ปรกติ
และ ส่วนที่ 4 สื่อมีความเป็นมืออาชีพในระดับสูง พบว่าโดยรวม สื่อไทยได้มาตรฐานเพียงบางด้าน โดยมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5 คะแนน มีเพียงสองประเด็นที่สื่อไทยได้คะแนนเฉลี่ยเกิน 3 คะแนน ได้แก่ การที่องค์กรสื่อมวลชนส่งเสริมเรื่องการให้โอกาสที่เท่าเทียมกันแก่ผู้ปฏิบัติงานโดยไม่เลือกเชื้อชาติ กลุ่มทางสังคม ความเป็นหญิง-ชาย และเพศสภาพ รวมทั้งความแตกต่างทางศาสนา ความพิการ และวัย และการที่นักวิชาชีพสื่อสารมวลชนสามารถเข้าถึงการฝึกอบรมต่างๆ รวมทั้งโอกาสในการพัฒนาเพิ่มพูนทักษะ
ประเด็นที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำมาก คือ ความเป็นอิสระของสื่อ ที่พบว่า นักหนังสือพิมพ์และบรรณาธิการมีการเซ็นเซอร์ตนเองสูง เนื่องจากค่านิยมสังคม ทั้งผู้ปฏิบัติงานมีวิธีคิดที่ยอมรับการกระทำดังกล่าว อีกทั้งยังถูกกดดันจากรัฐ กลุ่มการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์ โดยบทวิเคราะห์ระบุว่า สื่อมักเซ็นเซอร์ตัวเองและวัฒนธรรมนี้แผ่ขยายมาถึงแวดวงสื่อออนไลน์ เนื่องจากมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งกำหนดให้ผู้ให้บริการเว็บต้องรับผิดชอบต่อข้อมูลและความเห็นในเว็บไซต์ ทำให้สื่อออนไลน์ต้องละเว้นการนำเสนอข้อมูลวิเคราะห์บางเรื่องและปิดเว็บบอร์ด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น