วันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

FIDH วิพากษ์ไทย 'ละเมิดกติกาสากล' กรณีตัดสินคดี 'เจ้าสาวหมาป่า'

ตรงกับวันที่มีการประกาศผลรางวัลออสการ์ที่เป็นการให้รางวัลยกย่องผู้ทำงานสื่อศิลปะและการแสดง ในประเทศไทยกลับเป็นวันที่มีการตัดสินคดีลงโทษนักแสดงละคร 2 คน ซึ่งสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH)วิจารณ์ว่าเป็นการลงโทษที่ขัดต่อกติกาสากลว่าด้วยเสรีภาพสื่อและสิทธิในการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรม
24 ก.พ. 2558 เว็บไซต์สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) รายงานถึงกรณีการตัดสินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของนักแสดงละครเรื่อง "เจ้าสาวหมาป่า" กลุ่มเมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยระบุว่าในขณะที่อีกซีกโลกหนึ่งกำลังมีการประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 87 ที่เป็นการให้รางวัลกับศิลปินและนักแสดง แต่ประเทศไทยกลับมีการลงโทษผู้ที่แสดงออกอย่างเสรีในทางศิลปะ ที่ศาลอาญากรุงเทพฯ
ละครเจ้าสาวหมาป่าจัดแสดงเมื่อวันที่ 13 ต.ค. เพื่อแสดงการรำลึกครบรอบเหคุการณ์ "14 ตุลาฯ" ซึ่งมีเนื้อหาพูดถึงระบอบกษัตริย์ในแบบเรื่องแต่ง แต่กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นการหมิ่นพระมหากษัตริย์ ในรายงานของ FIDH ระบุว่าทางการไทยไม่ได้อธิบายว่าผู้ถูกกล่าวหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทั้ง 2 คน คือ ปติวัฒน์และนางสาวภรณ์ทิพย์ หรือ 'แบงค์' และ 'กอล์ฟ' ทำอะไรที่ถือเป็นความผิดตามกฎหมายมาตรา 112
ซึ่งในจุดนี้ทำให้ FIDH ชี้ให้เห็นว่ามาจากปัญหาที่มาตรา 112 ไม่มีการผ่อนปรน ทำให้ผู้ที่กล่าวถึงสาเหตุจะต้องกล่าว 'หมิ่น' ซ้ำทำให้อาจจะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 ไปด้วย
FIDH ยังระบุอีกว่าการยอมรับสารภาพของผู้ต้องหาทั้ง 2 คนไม่ได้หมายถึงการยอมรับว่าสิ่งที่พวกเขาทำถือเป็นความผิด
FIDH ระบุว่าการที่ไม่อนุญาตให้ประกันตัวในกรณีนักโทษคดี 112 ทำให้กอล์ฟและแบงค์ ซึ่งกำลังเรียนหนังสืออยู่ทำให้พวกเขาสูญเสียโอกาสทางการศึกษา เนื่องจากกอล์ฟมีแผนต้องไปศึกษาต่อต่างประเทศและแบงค์ยังคงเรียนอยู่มหาวิทยาลัย นอกจากนี้เจ้าหน้าที่เรือนจำยังจำกัดกิจกรรมของผู้ต้องขังอย่างมาก เช่นการยึดหนังสือของพวกเขาและมีการเพ่งเลงผู้เข้าเยี่ยมพวกเขาอย่างเข้มงวด
FIDH ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าหลังจากที่ประเทศไทยถูกยึดอำนาจโดยเผด็จการทหารก็มีการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเรื่องหลัก โดยมีผู้ถูกจับกุมด้วยกฎหมาย 112 แล้วอย่างน้อย 40 คน มี 7 คนถูกตัดสินก่อนหน้านี้แล้วเป็นโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี
สำหรับ FIDH แล้วการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพส่วนมากมีความเกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและสิทธิในการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรม โดยเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้รับการคุ้มครองจากกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) มาตราที่ 19 และสิทธิในการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรมได้รับการคุ้มครองจากกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในการคุ้มครองกติกาทั้ง 2 อย่างนี้จึงควรมีการปฏิบัติตามสัตยาบันที่ให้ไว้ สภานิติบัญญัติของไทยควรบัญญัติกฎหมายให้มีการคุ้มครองที่ระบุไว้ในกติกาสากลและศาลไทยก็ควรพิจารณาคดีโดยคำนึงถึงกติกาของ ICCPR และ ICESCR ด้วย
"ประเทศไทยควรปฏิบัติตามข้อตกลงกติกาของนานาชาติเช่น ICCPR และ ICESCR ในฐานะประเทศสมาชิก" FIDH ระบุ
แต่การกระทำในเชิง "ล่าแม่มด" โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในกรณีผู้ต้องสงสัยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ถือเป็นการละเมิดพันธะด้านสิทธิมนุษยชนสากล จากการที่พวกเขาล้มเหลวในการเคารพ คุ้มครอง ปละปฏิบัติตามสิทธิพื้นฐานของประชาชน โดยมีการปิดกั้นเว็บไซต์ที่พูดถึงราชวงศ์ไทย มีกรณีที่ทหารคุกคามสมาชิกกลุ่มละครบีฟลอร์ที่จัดแสดงเรื่อง "บางละเมิด" มีการลงโทษกวีที่ชื่อสิรภพจากการเขียนกลอนเกี่ยวกับระบอบกษัตริย์ไทย และมีการฟ้องร้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อบุคคลทั่วไปที่แสดงความคิดเห็นของตัวองในเฟซบุ๊ก
"ในวันจันทร์ที่ผ่านมา ขณะที่ฮอลลิวูดเฉลิมฉลองความสำเร็จในด้านความคิดสร้างสรรค์ เป็นอีกครั้งที่ประเทศไทยทำสิ่งที่แตกต่างโดยการลงโทษเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางศิลปะ" FIDH ระบุ
รายงานขององค์กรสิทธิมนุษยชนยังเรียกร้องให้เผด็จการทหารเลิกนำกฎหมายมาตรา 112 มาใช้ในทางที่ผิด และในการพยายามสร้างความปรองดองของพวกเขาก็ควรรับรู้และปฏิบัติตามหลักกติกาสากล อีกทั้งเผด็จการทหารไทยยังต้องเล็งเห็นความสามารถของเยาวชนไทยผู้มีความคิดสร้างสรรค์ในการเปิดเผยปัญหาสังคมโดยที่ไม่มีการข่มขู่หรือคุกคาม พวกเขาควรยิมรับข้อเสนอของสหประชาชาติในการปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมาย 112 ให้เป็นไปตามพันธะต่อหลักการสิทธิมนุษยชนสากล ก่อนหน้านี้สหประชาชาติแสดงความกังวลต่อการลงโทษอย่างรุนแรงบุคคลทั่วไปด้วยข้อหา 112 มาหลายครั้งแล้ว

เรียบเรียงจาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น