วันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

คำประกาศสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป: เรียกร้องรัฐหยุดใช้อำนาจควบคุมสิทธิเสรีภาพ ปชช.


เปิดเวทีสภาประชาชนฯ ครั้งที่ 2 จับตาวาระเพิ่มอำนาจรัฐในการแก้ไข รธน. พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดใช้อำนาจรัฐควบคุมสิทธิเสรีภาพระชาชน ทบทวนการใช้กฎอัยการศึก เปิดหรือสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนในการแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาชุมชน และปกป้องสิ่งแวดล้อมให้ประชาชนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย
25 ก.พ. 2558 – ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มีการจัดเวทีสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ครั้งที่ 2 “จับตาการเพิ่มอำนาจรัฐ ปกป้องอำนาจประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องดีกว่าเดิม” โดยมีบำรุง คะโยธา เป็นผู้เปิดสภาประชาชนดังกล่าว ทั้งนี้ตลอดช่วงเช้า มีการอภิปรายกรณีปัญหาจากพื้นที่ ซึ่งชุมชนต่างๆ ที่เข้าร่วมการประชุมเห็นว่าเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชน ได้แก่ การสัมปทานเหมืองแร่ทองคำและเหมืองแร่โปแตส ที่บ้านนามูล - ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น แผนแม่บทพิทักษ์ป่าไม้ กรณีปัญหา: สวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ พื้นที่ปลอดภัยของประชาชน กรณีปัญหา: การทำกิจกรรมในพื้นที่ภาคใต้ และพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทั้งนี้ในเวลา 11.30 น. ในที่ประชุมมีการอ่าน "คำประกาศสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปฉบับที่ 3: ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มอำนาจประชาชน” เฝ้าระวังการเพิ่มอำนาจรัฐ สร้างพื้นที่ปลอดภัยของประชาชน” โดยมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดการใช้อำนาจรัฐควบคุมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และต้องใช้ความระมัดระวังในการบริหารราชการแผ่นดิน ทบทวนการใช้กฎอัยการศึก เปิดหรือสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนในการแสดงความคิดเห็น ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาท้องถิ่น การแก้ไขปัญหาชุมชน การปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ตนเองสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย โดยมีรายละเอียดของคำประกาศดังนี้
000
คำประกาศสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปฉบับที่ 3: "ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มอำนาจประชาชน"
เฝ้าระวังการเพิ่มอำนาจรัฐ สร้างพื้นที่ปลอดภัยของประชาชน”
ในวาระการปฏิรูปประเทศไทยและสภาวะการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่ปกติ ได้มีหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรภาคธุรกิจบางองค์กร ใช้โอกาสนี้อพยพโยกย้ายชุมชน คุกคามจำกัดการใช้สิทธิชุมชนในการปกป้องคุ้มครองตนเองให้สามารถดำรงอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี การละเมิดสิทธิชุมชน การปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมตัดสินใจกำหนดทิศทางการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง การขยายอำนาจรัฐในการอนุมัติอนุญาตโครงการที่ต้องใช้ความรอบคอบ ในการศึกษา การรับฟังความเห็นของประชาชน จนอาจส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรง ดังกรณี
1) การใช้กองกำลังเจ้าหน้าที่รัฐ เข้าไปควบคุมการแสดงความคิดเห็น การรวมกลุ่มร้องเรียนหรือแก้ไขปัญหาชุมชนหรือการใช้สิทธิชุมชน เช่น การขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมที่บ้านนามูล-ดูนสาด จ.ขอนแก่น หรือ การควบคุมการประชุมรับฟังความคิดเห็นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ที่ จ.กระบี่
2) การจัดทำและเร่งปฏิบัติการตามแผนแม่บทพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้แห่งชาติ ซึ่งส่งผลเป็นการทำลายพืชผลทรัพย์สินของเกษตรกร ในพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภาคอีสาน และการอพยพชุมชนบ้านโคกยาวและบ้านบ่อแก้ว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ
3) การเร่งรัดให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเช่น พระราชบัญญัติแร่ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และอาจมีการเพิ่มอำนาจหน่วยงานราชการ การลดขั้นตอนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และอนุมัติอนุญาตโดยไม่รอการกำหนดหลักการสิทธิเสรีภาพ และการวางระบบปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ปัญหาความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในสังคม มีรากฐานมาจากความเหลื่อมล้ำ การรวมศูนย์อำนาจ การกระจุกตัวของรายได้ ระบบการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่เป็นธรรม การจัดสวัสดิการโดยรัฐที่ไม่ทั่วถึงสำหรับคนทุกคน
สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปเห็นว่า รัฐบาลต้องหยุดการใช้อำนาจรัฐควบคุมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และต้องใช้ความระมัดระวังในการบริหารราชการแผ่นดิน ทบทวนการใช้กฎอัยการศึก เปิดหรือสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนในการแสดงความคิดเห็น ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาท้องถิ่น การแก้ไขปัญหาชุมชน การปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ตนเองสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย
ด้วยจิตคารวะ
สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป
25 กุมภาพันธ์ 2558

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น