โฆษก กมธ.ยกร่างฯ เผย เตรียมดันกม.26 ฉบับตามรธน.ใหม่ พร้อมเตรียมเชิญ กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน กสม.ให้ข้อคิดเห็นต่อร่าง รธน. 12 มี.ค. นี้ และยันว่าเพื่อไทยเข้าใจผิดที่วิจารณ์ว่า รธน. ใหม่ให้อำนาจศาล รธน. มากเกินไป
10 มี.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงข่าวภายหลังการประชุม กมธ.ยกร่างฯว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวนร่างรัฐธรรมนูญ โดยคาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ และจะส่งร่างให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ศึกษาและเสนอความเห็น ขณะเดียวกันได้กำหนดประเภทและจำนวนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ที่จะเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อย่างน้อย 26 ฉบับ โดยเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 12 ฉบับ อาทิ
- ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว.
- ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะรัฐมนตรี
- ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
- ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
- ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ
- ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
- ขณะเดียวกันยังมีร่าง พ.ร.บ.อีก 14 ฉบับ ที่ต้องตราขึ้นตามร่างรัฐธรรมนูญ อาทิ
- พ.ร.บ.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ
- พ.ร.บ.สมัชชาพลเมือง
- พ.ร.บ.ว่าด้วยหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ
รวมถึงพ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ตามมาตรา 66 ของร่างรัฐธรรมนูญ ที่ประชาชน 1 หมื่นคนสามารถเข้าชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ได้ ทั้งนี้ยังกำหนดว่าสนช.จะต้องตั้ง กมธ.ที่มาจากกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างน้อยคณะละ 2 คนในการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว
เลิศรัตน์ กล่าวด้วยว่า ในวันที่12 มี.ค. 58 จะเชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมาชี้แจงและให้ข้อคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญที่ให้คณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง จัดการเลือกตั้งแทน กกต. และการควบรวมผู้ตรวจการแผ่นดินกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตามการจัดการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ จะยังเป็นหน้าที่กกต.ในการจัดการเลือกตั้ง เพราะการสรรหา กจต.มาทำหน้าที่จะต้องใช้เวลา
ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์วิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญนั้น พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้ให้ทำหนังสือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว โดยเฉพาะประเด็นที่มองว่าร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมากเกินไป ถือเป็นความเข้าใจที่คาดเคลื่อน เพราะการจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จะต้องเข้าเงื่อนไขว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น