วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2558

'อภิสิทธิ์' ไม่เห็นด้วยนายกไม่ต้องมาจากเลือกตั้ง ชี้หากข้อมูลพอไม่ต้องให้ 'ประยุทธ' เป็นพยานสลายชุมนุม 53

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุกรณี กมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้ร่าง รธน.ฉบับใหม่ นายกฯ ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งในช่วงที่มีวิกฤต เป็นการถอยหลังเข้าคลองและจะยิ่งเป็นการสร้างวิกฤตให้ประเทศ ขอข้อมูล พล.อ.อนุพงษ์ คดีสลายชุมนุม นปช.ปี 53 หากครบถ้วน ไม่จำเป็นต้องให้นายกรัฐมนตรีเป็นพยาน ยันไม่มีเจตนากดดันการทำงานเจ้าหน้าที่

28 ก.พ. 2558 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งในช่วงที่มีวิกฤต ว่า ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง และไม่อยากให้เป็นการร่างรัฐธรรมนูญที่ถอยหลังเข้าคลอง เพราะขณะนี้ระบอบการปกครองประเทศเดินมาไกลมากแล้ว  อีกทั้งจะทำให้การร่างรัฐธรรมนูญได้รับแรงกดดันทั้งจากคนในประเทศและนานาประเทศที่จับตามองการสร้างประชาธิปไตยของประเทศไทยอยู่ และอาจจะยิ่งเป็นการสร้างวิกฤติให้กับประเทศได้

“หากจะเปิดช่องไว้ ก็ควรจะบัญญัติให้ชัดเจนเกี่ยวกับรายละเอียดเงื่อนไขของเหตุการณ์พิเศษที่จะทำให้เกิดการตั้งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งได้ ขณะเดียวกันไม่เห็นด้วยที่รัฐธรรมนูญที่จะกำหนดให้รัฐมนตรีจะต้องไม่เป็น ส.ส. เนื่องจากจะเป็นการทำลายระบบการเมืองในระบอบรัฐสภาที่ต้องการให้เกิดการติดโยงระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งในหลายประเทศก็กำหนดให้ผู้จะได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีจะต้องเป็น ส.ส.เท่านั้น เพราะจะทำให้ใส่ใจกับงานของสภา เพิ่มการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะหากรัฐมนตรีเป็น ส.ส.เขต จะยิ่งเพิ่มกระบวนการตรวจสอบที่ว่าหากทำงานไม่ดีแล้วจะทำให้ประชาชนในพื้นที่เลือกตั้งไม่ยอมรับ ส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไปด้วย” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้อยากให้กรรมธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกลับไปทบทวนรายละเอียดของการร่างรัฐธรรมนูญด้วย นอกจากนี้ยังเห็นว่าเมื่อร่างรัฐธรรมนูญแล้วเกิดข้อโต้แย้งในรายละเอียดเนื้อหา ทางที่ดีที่สุดคือควรมีการทำประชามติในชั้นตอนสุดท้าย จะเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุด

เผยประสานขอข้อมล อนุพงษ์ คดีสลายการชุมนุมปี 53

นอกจากนี้นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการในการชี้แจงข้อกล่าวหากรณีเหตุสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ในปี 2553 ว่า ขณะนี้ยังไมได้หนังสือแจ้งข้อกล่าวหาจากคณะกรรมการป้องกันและปรายบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ระหว่างนี้ได้เตรียมข้อมูลไว้บ้างแล้ว โดยได้ประสานขอข้อมูลไปยัง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในขณะนั้นทำหน้าที่ผู้บัญชาการทหารบกในฐานะของผู้ที่ดูแลคุมกำลังการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพราะตนเป็นเพียงผู้ดูแลเชิงนโยบายที่ลงนามในคำสั่งตั้งศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เท่านั้น และได้มอบหมายให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. และเมื่อมีการปฎิบัติงานก็มีการปรับแผนการทำงานมาหลายครั้ง คาดว่า พล.อ.อนุพงษ์ จะเข้าใจและทราบแนวทางการทำงานดีที่สุด

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตรองผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.อนุพงษ์ เป็นผู้ที่ทราบข้อมูลดี เพราะเคยทำงานร่วมกันมาก่อน อย่างไรก็ตาม หากได้ข้อมูลจาก พล.อ.อนุพงษ์ครบถ้วน ก็ไม่จำเป็นต้องให้บุคคลทั้ง 3 ไปเป็นพยานให้ ส่วนที่มีการโจมตีว่าการอ้างถึงพยานที่เป็นถึงนายกรัฐมนตรีเป็นการข่มขู่การทำงานของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.นั้น ยืนยันว่าไม่มีเจตนาที่จะไปข่มขู่การทำงานของใคร เพียงแต่บุคคลที่ 3 ทราบเรื่องและเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และอยากให้ย้อนไปในอดีตสมัยที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ใครที่ไปกดดันไม่ให้บุคคลทั้ง 3 พูดความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น