วันอังคารที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2558

คำต่อคำ: วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ชี้ อะไรคือปัญหาที่ควรจะปฎิรูป


เปิดบทเสวนาฉบับเต็ม เวทีเสวนาการปฏิรูปเพื่อความงาม ความเจริญ และความเป็นธรรม วรเจตน์ ชี้ ปัญหาที่ต้องแก้ ทำอย่างไรให้อำนาจเป็นของราษฎรเท่าเทียมกัน และมีการปกครองประเทศด้วยกฎหมายที่ยุติธรรม
หมายเหตุ : ประชาไทถอดความ บทเสวนาของ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ บนเวทีเสวนาวิชาการทางสังคมศาสตร์เรื่อง การปฏิรูป เพื่อความงาม ความเจริญ และความเป็นธรรม เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2558 ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ : อะไรคือปัญหาที่ต้องปฏิรูป
ผมเห็นว่าที่เราต้องปฏิรูปการเมือง เพราะเราอาจจะมีปัญหาอย่างน้อย 2 ประการ หรืออาจจะมีมากกว่านี้อีกก็ได้ ประการแรกคือปัญหาที่ว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นยังไม่เป็นของราษฎรทั้งหลาย ปัญหาที่สองคือปัญหาที่ว่า ประเทศนี้ยังไม่ได้ปกครองโดยกฎหมายที่ยุติธรรม ทั้งสองเรื่องนี้น่าจะเป็นปัญหาใหญ่และเป็นปัญหาหลัก และถ้าหากจะพูดถึงเรื่องของการปฏิรูปการเมืองเราก็ควรพูดอย่างมีเป้าหมาย และเป้าหมายของการปฏิรูปการเมืองซึ่งเป็นแกนกลางของการปฏิรูปเรื่องอื่นๆ ด้วย ก็คือทำอย่างไรให้อำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดของประเทศได้เป็นของราษฎรทั้งหลายหรือของประชาชนอย่างแท้จริงประการหนึ่ง กับอีกประการหนึ่งก็คือการทำอย่างไรให้ประเทศไทยปกครองโดยกฎหมายที่ยุติธรรมมีหลักของ The Rule of Law
ปัญหาประการแรกหลายคนอาจจะบอกว่าในรัฐธรรมนูญทุกฉบับก็เขียนว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย หรือมาจากปวงชนชาวไทย รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่สุดของสยามประเทศก็คือ พ.ร.บ.ธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475 ในมาตรา 1 ก็บัญญัติเอาไว้ว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย ในยุคหลังๆ ดูเหมือนจะมีบางท่านไม่ชอบคำว่าราษฎร ฟังแล้วอาจชวนให้ระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ผมใช้คำว่า ราษฎรที่สื่อความหมายถึงประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ แน่นอนว่าเมื่อเราพูดถึงประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจมันหมายถึงตัวระบอบประชาธิปไตยโดยปริยาย ประเด็นก็คือว่าอะไรเป็นแก่นของระบอบนี้ สุดท้ายแล้วมันจะทำลายคุณค่าในทางจารีตหรือไม่ ผมคิดว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญและจะต้องทำให้ชัดเจนกัน
ผมคิดว่าจริงๆ แล้ว ในเชิงระบอบประชาธิปไตยตัวระบบของมันเป็นระบอบที่ใจกว้างในแง่ที่ว่า ไม่ทำลายคุณค่าในแง่จารีต ถ้าคุณค่าทางจารีตสอดรับกับแกนของตัวระบอบนี้ ก็คือเรื่องของสิทธิและเสรีภาพ แน่นอนว่าระบอบประชาธิปไตยคงจะไม่บังคับให้ใครคนใดคนหนึ่งต้องถือจารีตแบบนั้น ถือจารีตแบบนี้ อันนี้ก็เป็นสิทธิส่วนตัวของบุคคลที่ตัวระบอบยอมรับให้ปฏิบัติ แต่ว่าในขณะเดียวกันถ้าจารีตบางอย่างมันทำลายระบอบประชาธิปไตย มันไม่ไปกับระบอบประชาธิปไตย ระบอบประชาธิปไตยก็จะมีกลไกที่จะป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกทำลายลงจากจารีตเหล่านั้น
ในคำว่าระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ ประชาชนย่อมมีความหลากหลาย ทำให้ในทางปฏิบัติต้องหาวิธีทำให้ประชาชนอยู่ร่วมกันได้ซึ่งจะต้องมีแกนบางอย่าง ที่มาจากการตัดสินใจให้เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดคือการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เมื่อมีส่วนร่วมก็ต้องมีการตัดสินใจ เราก็อนุวัตให้เป็นไปตามเสียงข้างมาก แต่ต้องเป็นเสียงข้างมากที่เคารพหรือคำนึงเสียงข้างน้อยด้วย หมายถึงว่าต้องไม่ไปละเมิดสิทธิอันเป็นแกนบางอย่างของฝ่ายข้างน้อย ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ฝ่ายข้างน้อยได้แสดงออกอย่างเสรี เมื่อถึงจุดหนึ่งเราก็ต้องตัดสินใจ ไม่มีวิธีใดที่จะดีไปกว่าการให้คนเข้ามาร่วมในการตัดสินใจแล้วอนุวัตไปตามเสียงข้างมาก ในห้วงเวลาอื่นๆ ซึ่งบางเรื่องอาจจะเปลี่ยนแปลงได้อีกซึ่งมันไม่เป็นแบบนั้นไปตลอดกาล เมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่งที่เสียงข้างมากเปลี่ยนไปมันก็เปลี่ยนอีก ประชาธิปไตยเป็นการเปิดโอกาสให้เสียงข้างน้อยเปลี่ยนเป็นเสียงข้างมากได้ และเสียงข้างมากก็เป็นเสียงข้างน้อยได้ โดยการแสดงเหตุแสดงผลซึ่งกันและกันเป็นแบบนี้ แต่ถ้าที่ใดก็ตามที่เสียงข้างน้อยไม่เคารพเสียงข้างมาก เสียงข้างน้อยอ้างอิงหลักการปกครองบางอย่างซึ่งปกครองโดยกฎหมาย ใช้กฎหมายทำลายเจตจำนงของเสียงข้างมาก สิ่งนี้ย่อมไม่เป็นประชาธิปไตย
ผมอาจจะพูดถึงข้อตำหนิในประชาธิปไตยได้หลายอย่างในวันนี้ ระบอบนี้ไม่ใช่ระบอบที่ซึ่งไม่มีข้อตำหนิเลยที่จะมานั่งพูดกันในวันนี้ มีคนหยิบยกขึ้นมาบ่อยๆ ว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่อาจนำไปสู่ระบอบเผด็จการได้เหมือนกัน ตัวอย่างที่ถูกยกขึ้นอยู่เสมอก็คือระบอบนาซีเยอรมันในสมัยที่ฮิตเลอร์เรืองอำนาจเพราะว่าฮิตเลอร์มาจากการเลือกตั้ง ชนะการเลือกตั้งคุมเสียงข้างมาก และนำเยอรมันไปสู่การปกครองเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ เยอรมันในช่วงสมัยไวมาร์เป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากระบอบที่มีจักรพรรดิเป็นประมุข เยอรมันแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 และเข้าสู่ความเป็นสาธารณรัฐ (Republic) การประเมินว่าฮิตเลอร์เข้าสู่อำนาจได้อย่างไร? เราประเมินตัดขาดเนื่องจากฮิตเลอร์ไม่ได้ชนะจากเสียงเลือกตั้งโดยเด็ดขาด การเลือกตั้งเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งแต่ฮิตเลอร์ไม่ได้ชนะการเลือกตั้งได้เสียงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรแห่งจักรวรรดิ ในเวลานั้นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฮิตเลอร์ขัดกับการเลือกตั้ง ส่วนสำคัญมาจากกลุ่มชนชั้นนำ (Elite) ในสมัยไวมาร์ซึ่งไม่เชื่อถือศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยจริงๆ ไวมาร์ได้ประธานาธิบดีคนที่ 2 ซึ่งเป็นนายทหารมาจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และถึงที่สุดไม่ได้ศรัทธาในสาธารณรัฐ เมื่อถึงเวลาจำเป็นที่จะต้องปกป้องสาธารณรัฐ ปกป้องรัฐธรรมนูญ เขาก็ทำไม่ได้ ศาลที่ตัดสินเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญในสมัยไวมาร์เองก็เคยตัดสินทำลายแหล่งที่มั่นของพรรคการเมืองที่เป็นแหล่งประชาธิปไตยซึ่งการตัดสินคดีก็ได้เป็นการทำลายฐานประชาธิปไตย และในอีกไม่กี่ปีต่อมาก็เป็นผลพวงทำให้ฮิตเลอร์ขึ้นมาสู่อำนาจได้สำเร็จ
มันมีปัจจัยหลายประการที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยของเยอรมันล้มเหลวในช่วงสมัยไวมาร์ แต่เมื่อมองดูเยอรมันในวันนี้เยอรมันไม่เคยละทิ้งคุณค่าที่มีต่อความศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย ขณะนี้ก็มีระบบการเลือกตั้งที่เราจะไปเลียนแบบเขามาซึ่งกำลังพูดกันในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เรามีตัวอย่างในหลายประเทศที่อาจจะไม่ประสบความสำเร็จมากนักในทางประชาธิปไตย ซึ่งแต่ละประเทศคงมีปัจจัยที่แตกต่างกัน แต่โดยกรณีความแตกต่างเรื่องของการคอร์รัปชั่นก็ลองไปดูประเทศที่เป็นประชาธิปไตย การเกิดทุจริตคอร์รัปชั่นมันมีอยู่ไม่หมดไปแต่อาจจะมีสัดส่วนน้อยกว่าซึ่งไปดูสถิติได้ในทางระบบ บางคนอาจจะบอกว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องของตะวันตกจะใช้ก็ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ก็ต้องบอกว่าปรับได้แต่ไม่อาจจะปรับเพื่อทำลายแก่นของมัน หลายคนอาจสงสัยว่าการมีระบอบแบบนี้จะทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้นหรือไม่? จะทำเพื่อปฏิรูปให้นำมาเพื่อความงามความเจริญจะทำได้หรือไม่?
ผมอยากให้ดูตัวอย่างของเกาหลี เพราะทั้งสองเกาหลีก็เป็นเอเชียเหมือนกัน 50-60 ปีก่อนเกาหลีเป็นประเทศซึ่งมีความเจริญน้อยกว่าไทย เราเคยไปรบในสงครามเกาหลี ต่อมาในเกาหลีก็แยกประเทศกันเดินทางในระบอบสองระบอบที่ประเทศหนึ่งเดินเส้นทางของระบอบประชาธิปไตย อีกประเทศหนึ่งเดินเส้นทางของระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย คงไม่ต้องบอกว่าเราคงไม่ต้องพิสูจน์อะไรอีกแล้ว วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ความก้าวหน้าของทั้งสองประเทศมันต่างกันอย่างไร เพราะฉะนั้นระบอบจึงสำคัญในแง่ของการกำหนดทิศทางและความเป็นไปของประเทศ เพราะฉะนั้นการปฏิรูปก็ต้องปฏิรูปเพื่อให้ตัวเจ้าของอำนาจเขามีอำนาจจริงๆ แต่อย่างไรก็ตามตัวประชาธิปไตยอย่างเดียวมันยังไม่พอ มันต้องมีการปกครองโดยกฎหมายกำกับ เพื่อช่วยคุ้มครองฝ่ายข้างน้อยไม่ให้ถูกละเมิดจากฝ่ายข้างมากในเวลาที่ฝ่ายข้างมากมีอำนาจอยู่ ในที่นี้ไม่ได้พูดถึงกฎหมายที่อะไรก็ได้ออกมาเป็นกฎหมาย กฎหมายในระบอบประชาธิปไตยต้องเป็นกฎหมายที่ยุติธรรม มีมาตรฐานในความยุติธรรมระดับหนึ่ง แน่นอนว่าเราอาจเถียงกันว่าความยุติธรรมคืออะไร? เราเถียงกันมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณจนถึงปัจจุบันนี้ และก็พยายามค้นหาความหมายของความยุติธรรมอยู่ แน่นอนว่ากฎหมายถูกทำขึ้นเพื่อความเป็นไปได้ในการอยู่รวมกัน เราต้องเคารพกฎหมายแต่ไม่ใช่กฎหมายอะไรก็ได้ที่เราต้องเคารพ กฎหมายที่จะเคารพได้อย่างน้อยต้องมีเป้าหมายที่สอดคล้องกับความเป็นธรรม
คำว่านิติรัฐจึงไม่ใช่การที่รัฐมีแต่กฎหมายเฉยๆ ที่จะพูดอะไรก็ได้ แต่มันต้องเป็นรัฐที่มีกฎหมายเป็นธรรม ส่วนระบอบประชาธิปไตยที่มันมีกฎหมายอยู่ในมาตรฐานของความยุติธรรม แน่นอนว่ามันส่งผลถึงคนที่มีอำนาจในทางการเมือง เวลาที่เราจะปฏิรูปทางการเมืองประเด็นส่วนใหญ่ที่คนเขาพูดกันก็คือเรื่องของความชอบธรรมและเรื่องของความน้อมรับผิดของคนซึ่งเข้ามาใช้อำนาจแทนประชาชน คุณมีอำนาจอย่างเดียวแต่คุณน้อมรับผิดไม่ได้ คุณมีอำนาจโดยขาดความชอบธรรมไม่ได้ อย่างที่บอกว่าความชอบธรรมต้องมาจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ และถามว่าเขาแสดงออกซึ่งความชอบธรรมในการเป็นเจ้าของอำนาจอย่างไรหากมีใครไม่ยอมรับว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจก็คงจะไม่มานั่งเถียงกันเพราะเป็นเรื่องของระบอบที่ยอมรับในเรื่องอำนาจของประชาชน แต่ถ้ายอมรับว่าในระบอบมีผู้ทรงอำนาจคือประชาชน ซึ่งหมายถึงทุกกลุ่มประชาชน ซึ่งการปกครองนั้นต้องมีความชอบธรรมและความชอบธรรมนั้นต้องสืบสาวกลับไปยังประชาชนเจ้าของอำนาจได้  ถามว่าเรามีวิธีไหนที่จะส่งความชอบธรรมของประชาชนไปยังตัวผู้ปกครอง แน่นอนว่าถ้าเราอ้างอิงความชอบธรรมมาจากแหล่งอื่น เช่น ความชอบธรรมมาจากคนดีมีคุณธรรม ถ้าคุณมีคนดีเข้ามาปกครองแล้วเพราะฉะนั้นคุณก็ไม่ต้องสนใจประชาชน หัวของประชาชนแต่ละคนคุณก็ไม่ต้องมองเพราะมันไม่มีความหมาย เพราะคุณถือว่าความชอบธรรมมาจากคนซึ่งเป็นคนดีและมีคุณธรรมและปัญหาจะเกิดขึ้นเสมอมาและจะเกิดขึ้นตลอดไปถ้าคุณมองเช่นนั้น
เพลโต นักปรัชญากรีกโบราณเจ้าของแนวคิดอุตมรัฐหรือรัฐในอุดมคติก็ได้พยายามนำเสนอค้นหากลุ่มคนซึ่งเป็นผู้ทรงธรรมก็พิสูจน์แล้วว่าหาไม่ได้ การหาเกณฑ์หาวิธีการแบบนั้นทำได้ยาก ในรัฐสมัยใหม่จะบอกว่าคนดีมีคุณธรรมนั้นต้องได้รับการพิสูจน์จากคนที่เป็นเจ้าของอำนาจ แล้วถ้าเกิดเขาเข้าไปแล้วเป็นคนชั่ว ระบบก็จะค่อยๆ จัดการเอง ซึ่งมีคนเถียงว่าปล่อยให้ระบบจัดการประเทศพังเสียก่อน เพราะมีสมมติฐานแบบนี้ประชาธิปไตยเราเลยไม่ไปไหนเลย เราไม่เคยปล่อยให้ระบอบประชาธิปไตยเดินด้วยตัวของมันจริงๆ ปล่อยให้มันปรับตัวและดูว่ามันจะเป็นยังไงภายใต้กลไกทางกฎหมายซึ่งมีความยุติธรรมกำกับอยู่
เมื่อเราไปสู่ผลของการปฏิรูปในทางการเมืองซึ่งผู้ปกครองจะต้องเป็นผลมาจากความชอบธรรม กฎหมายที่มีความยุติธรรมต้องทำให้ผู้ปกครองมีความน้อมรับผิดด้วย อำนาจต้องมาจากความน้อมรับผิด ต้องสร้างกลไกขึ้นมากำกับ ยกตัวอย่างสมมติเรื่องรัฐธรรมนูญเราจะทำเรื่องระบบถอดถอน เพราะที่จริงระบบถอดถอดก็ใช้วิธีการทางรัฐสภาที่มีระบบถอดถอดอภิปรายไม่ไว้วางใจอยู่แล้ว แต่พูดถึงระบบถอดถอนต้องถามว่าใครจะเป็นผู้ถอดถอน คนที่ถอดถอนมีความชอบธรรมเป็นผู้ถอดถอนหรือไม่ และมีความน้อมรับผิดหรือไม่ในการถอดถอน เราอาจให้เขาเริ่มในตำแหน่งสำคัญในการถอดถอนและก็ให้ประชาชนเป็นส่วนสำคัญที่ใช้อำนาจในการถอดถอน รัฐสภาอาจเข้าชื่อกันลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเพื่อทำการถอดถอน ให้ประชาชนมาโหวตว่าตกลงจะเอาอย่างไร ถ้าประชาชนโหวตว่านายกฯ ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ก็พ้นจากตำแหน่งไป ถ้าประชาชนโหวตให้นายกฯ ไม่ต้องพ้นจากตำแหน่ง ผลที่ตามมาคือผู้ที่ส่งให้นายกฯ ต้องถอดถอนต้องพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ เพราะเป็นการใช้อำนาจทางการเมืองและต้องมีความน้อมรับผิดมาคู่กัน
ซึ่งที่พูดมาทั้งหมดมันก็ขึ้นอยู่กับการปฏิรูปและการปฏิรูปก็มีหลายประเภท ในฐานะนักกฎหมาย การปฏิรูปโดยใช้กฎหมายก็เป็นหนทางทางหนึ่งในการปฏิรูปทางการเมือง เพื่อให้เกิดกฎหมายที่เป็นธรรมในสังคมจริงๆ ในเวลาที่เราจะออกแบบรัฐธรรมนูญก็จะต้องจะคำนึงถึงหลักการบางอย่างเสียก่อน กำหนดเป้าหมายให้ได้เสียก่อน ถ้ากำหนดเป้าหมายไม่ได้ ก็ออกแบบไม่ได้ ซึ่งจะต้องตกลงกันก่อนว่าคิดเห็นอย่างไรแล้วจึงออกแบบรัฐธรรมนูญแล้วออกแบบไปตามเป้าหมายนั้นซึ่งรัฐธรรมนูญที่ดีต้องเกิดบนหลักการพื้นฐานที่ยอมรับร่วมกันได้ เช่น ความเป็นประชาธิปไตยเป็นพื้นฐานที่คนยอมรับกันได้คือการที่คนแสดงความคิดความเห็นต่างๆ ได้

ปัญหาที่เห็นอยู่ในเวลานี้คือรัฐธรรมนูญที่กำลังจะออกมาใหม่อาจจะยังไม่มีเป้าหมายตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น ซึ่งมีบางประเด็นอย่างเช่น นายกรัฐมนตรีจะไม่ได้มาจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกต่อไป หรือมีวิธีการอื่นๆ แทนคำพูดที่สวยหรูว่าเป็นการเลือกตั้งโดยอ้อม ซึ่งที่จริงแล้วมันไม่ใช่เพราะอำนาจมันไม่ได้กลับคืนสู่ตัวประชาชนจริงๆ หากประเมินรัฐธรรมนูญที่ออกมาอาจจะมีโครงสร้างที่มีโครงสร้างสามระดับ ซึ่งอาจจะผิดไปจากนี้ไม่มากนัก ระดับล่างสุดเป็นระดับอำนาจที่ประชาชนมาจากการเลือกตั้ง นี่คือระดับต่ำที่สุดอำนาจจะน้อยลงที่สุด รัฐบาลอาจไม่มีเสถียรภาพมากเท่าไหร่ หรือมีก็อาจจะทำงานได้ไม่มากนัก ระดับที่สูงขึ้นไปเป็นอำนาจระดับที่สองอำนาจนี้จะขี่ขึ้นมาจากการเลือกตั้ง ส่วนนี้จะเป็นอำนาจขององค์กรอิสระและตุลาการคอยคุมอำนาจฝ่ายการเมืองโดยอ้างว่าเป็นการคุมของนิติรัฐหรือการคุ้มครองโดยกฎหมาย การคุมอาจก้าวล่วงไปยังการคุมนโยบายหรือกระบวนการตัดสินใจซึ่งจริงๆ มันควรจะเป็นเรื่องที่ประชาชนควรร่วมกันตัดสินใจมากกว่าที่จะส่งให้องค์กรอิสระหรือตุลาการเป็นฝ่ายควบคุม ซึ่งควรจะคุมแต่ในเรื่องจำเพาะว่าด้วยกฎหมายเท่านั้น เมื่อออกจากแถวหรือพ้นจากตำแหน่งอาจจะต้องมีเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาลทันที อำนาจอันที่สาม อันนี้ยังมองไม่เห็น ประเมินเอาไว้ว่าต้องทำรัฐธรรมนูญให้เสร็จก่อน อาจจะต้องดูในบทเฉพาะกาลถึงจะเป็นว่าอำนาจสูงสุดเป็นอย่างไรหากเป็นแบบนี้เราจะหวังผลการปฏิรูปอย่างไร แม้จะเป็นว่ารัฐธรรมนูญยังร่างไม่เสร็จแต่ก็เห็นแล้วว่าจะไปในทิศทางแบบนี้
ส่วนรัฐบาลในขณะนี้อยู่กับเราในช่วงระยะเวลาหนึ่งไม่ได้อยู่กับเราไปตลอด สักวันก็จะต้องหมดอำนาจลง แต่เราก็ต้องดำเนินต่อไป นักเรียนนักศึกษาที่อยู่ในที่นี้ก็จะต้องเติบโตต่อไป ประเด็นก็คือว่าถ้ารัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาบังคับใช้ได้ ความขัดแย้งก็จะอยู่ต่อเนื่องไปในรัฐธรรมนูญฉบับนั้น เราจะต้องพูดกันให้มันยุติว่าเป้าหมายนั้นมันคืออะไร อย่างเช่นที่ทำกันอยู่ตอนนี้วุฒิสภาไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเลย ย้อนกลับไปเมื่อปี 2520 ตัวรัฐธรรมนูญมีการแต่งหน้าทาปากแต่สารัตถะยังเป็นแบบเดิม ซึ่งอาจมีคนออกมาบอกว่าในโลกนี้ไม่มีใครเขียนหรอกว่านายกฯ ต้องมาจากสภาผู้แทนราษฎร ทำไมบ้านเราต้องเขียนเพราะส่วนใหญ่เขาไม่เขียนกันนั่นมันก็จริง ผมก็ศึกษากฎหมายมาก็ไม่มีใครเขียน แต่บ้านเราต้องเขียนเพราะบ้านเราไม่เหมือนที่อื่นเขา ที่อื่นเขามีจารีตประเพณีที่ปฏิบัติสืบกันมาว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่บ้านเราถ้าไม่เขียนทางประวัติศาสตร์ก็บอกมาแล้วว่าเราเสียเลือดเสียเนื้อในปี 2535 เพื่อคุณค่าบางประการแบบนี้ในสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย แต่เรากำลังละทิ้งคุณค่าแบบนี้ไป อีกประการหนึ่ง ในเรื่องของกระบวนการทำรัฐธรรมนูญมันไม่มีความเป็นระบบคือการเลือกตั้งครั้งหน้าจะไม่ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสังกัดพรรคการเมืองแล้ว เนื่องจากเกิดเหตุการณ์เอานักการเมืองเข้าคอก เกิดเผด็จการชักการเมือง เกิดมีนายทุนเข้ามาครอบงำการเมืองบอกให้ ส.ส. ยกมือ ให้ไปซ้าย ไปขวาได้หมด
ความคิดนี้มันบอกว่าไม่ให้ ส.ส. สังกัดพรรคซึ่งเราต้องเคลียร์กันก่อนว่าอะไรคือหลักการที่ดี อะไรคือหลักการพื้นฐานที่มันถูกต้อง เช่น มีคนถามผมว่า ส.ส. ควรสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่ ผมก็บอกว่าไม่จำเป็นและไม่ควรบังคับให้ ส.ส. สังกัดพรรคการเมือง หากเป็นเช่นนี้อาจเกิดการซื้อตัว ส.ส. ขึ้นได้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องคิดกันว่าหลักการที่ทุกคนมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะในระดับการเมือง เขาต้องมีโอกาสเสนอตัวถึงเลือกเขาได้ ต่อมาในหลักการพื้นฐานสิทธิเสรีภาพการจะสังกัดพรรคหรือไม่สังกัดพรรคย่อมเป็นสิ่งที่จะทำได้ทั้งสองแบบ แต่คราวนี้ลองนึกภาพการที่ ส.ส. ที่ไม่สังกัดพรรคแล้วมีคะแนนเสียงเลือกตั้งมากมาย ในการทำงานในสภาฯ จะไม่สามารถดำเนินไปได้เพราะไม่เกิดผลของการหลอมรวมเจตจำนง มันจะเป็นเบี้ยหัวแตกไป ไม่สามารถทำงานหรือดำเนินนโยบายที่มันเป็นนโยบายซึ่งเป็นกลุ่มเป็นก้อนอันใดอันหนึ่งไม่ได้ แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร การแก้ปัญหาก็คือการทำให้นักการเมืองไปสังกัดพรรคการเมืองเพื่อความเป็นกลุ่มเป็นก้อน เกิดการลงมติให้ไปในทิศทางเดียวกัน หรืออาจจะแก้ปัญหาแบบนี้โดยไม่ทำลายหลักการก็คือว่าโดยทางหลักการใครอยากสมัครก็สมัคร เหมือนกับใครใคร่ค้าช้างค้า ใครใคร่ค้าม้าค้า คุณไม่มีพรรคการเมืองคุณมีอุดมการณ์เป็นของคุณ คุณอยากลงก็ลงเลยแต่เพื่อให้องค์ประกอบของสภาฯ มันครบก็อาจมีมาตรการเสริมทางกฎหมายบางอย่างเพื่อสนับสนุนให้คนสังกัดพรรคการเมือง เช่น อาจจะออกกฎหมายให้รัฐสภา หรือข้อบังคับในการประชุมรัฐสภาว่า คณะกรรมาธิการจะประชุมได้ต้องมาจากพรรคการเมือง กำหนดระยะเวลาในการอภิปรายให้กับพรรคการเมืองให้พรรคการเมืองกระจายไปยัง ส.ส.ในพรรค การคิดสักเรื่องหนึ่งควรคิดมาจากหลักการพื้นฐานที่มีการอธิบายที่มันเป็นเหตุเป็นผลรองรับเพื่อทำให้การปฏิรูปหรือตัวระบบมันเดินไปได้ แต่ถ้าไม่คิดตามหลักการนี้ มีเป้าหมายสะเปะสะปะ แล้วไม่เคารพเรื่องของเป้าหมายที่เป็นหลักพื้นฐาน รัฐธรรมนูญที่ร่างออกมาที่เป็นหลักกฎหมายให้กับประเทศมันก็จะกลายเป็นรัฐธรรมนูญถาวรซึ่งมูลค่าของการทำรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับไม่ได้ถูกเลย หมายถึงบรรดาเบี้ยประชุม บรรดาเงินที่จะต้องจ่ายไปในการจัดทำรัฐธรรมนูญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ช่วยเราในการแก้ปัญหาการปฏิรูปทางการเมือง ดังนั้นจึงอยากให้เอาใจใส่ในเรื่องของรัฐธรรมนูญให้มาก เพราะผู้มีอำนาจมากในขณะนี้เมื่อหมดอำนาจแล้วเขาก็จากไป แต่ตัวกฎหมายที่มันออกมาแล้วก็อยู่ต่อแล้วมันก็ใช้บังคับอยู่ต่อไป มันจะไปแก้กันหลังจากนี้ก็ไม่ง่ายแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น