ประธาน สนช. แจงถ้าจะมีการทำประชามติ ไม่สามารถใช้มาตรา 44 ได้ ชี้ถ้าจะทำ ครม. คสช. ต้องพิจารณาร่วมกัน ก่อนส่งเรื่องให้ สนช. พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชั่วคราว
30 เม.ย. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชี้แจงถึงกระบวนการทำประชามติในร่างรัฐธรรมนูญว่า ไม่สามารถใช้ช่องทางตามมาตรา 44 ได้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ไม่ได้ให้อำนาจพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่ให้ใช้ช่องทางตามมาตรา 46 ที่ให้อำนาจคณะรัฐมนตรีตรี และ คสช. ตัดสินใจ เสนอเรื่องให้ สนช. พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งผู้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องมีเหตุผลเพียงพอ เพื่อให้ สนช.ให้ความเห็นชอบ
ประธาน สนช. ชี้แจงถึงอำนาจของหัวหน้า คสช.ด้วยว่า ปัจจุบันไม่ได้ดำรงอำนาจรัฎฐาธิปัตย์ไว้ เพราะอำนาจดังกล่าวสิ้นสุดลงตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมีผลบังคับใช้และ ปัจจุบันประเทศไทยปกครองด้วยระบอบนิติรัฐ คือ รัฐที่ปกครองโดยกฎหมาย หัวหน้า คสช.ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับองค์กรอื่นๆ
ด้าน ผู้จัดการออนไลน์ ASTV รายงานต่อไปว่า พรเพชร กล่าวว่า เมื่อ คสช. เป็นองค์กรหนึ่งตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 44 ให้ คสช. ใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินการตามโร้ดแม็ป 3 ขั้น ไม่ใช่ทำอะไรก็ได้ ไม่ได้ให้อำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ดังนั้นการให้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งให้มีการทำประชามติจึงทำไม่ได้ ถึงจะสั่งก็ไม่ผูกพันหรือไม่มีผลต่อร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 ให้อำนาจ คสช. ออกคำสั่งที่มีผลในทางนิติบัญญัติได้ ในทางปกครองเช่นย้ายข้าราชการได้ ทั้งหมดอยู่ในเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ไม่สามารถทำเกินรัฐธรรมนูญได้
ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวอยู่ในมาตรา 46 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การดำเนินการตามโร้ดแม็ปเป็นไปตามที่ คสช. เห็นสมควร หากมีอุปสรรคเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญจึงจะมีการแก้ไขได้ เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อตามโร้ดแม็ป ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องของการลงประชามติ เพราะไม่ได้เขียนไว้ ถ้าอยากลงประชามติต้องแก้ไขมาตรา 46 ที่แก้ไขกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญได้ จะต้องทำโดย 3 องค์กรร่วมกัน คือ ครม. คสช. และ สนช. การตัดสินใจเบื้องต้นเป็นอำนาจของ ครม. และ คสช. แต่การเสนอเป็นของใครก็ได้ ต้องมีเหตุผล เป็นกระบวนการของกฎหมาย ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นปัจจัยที่ 3 องค์กรจะพิจารณาร่วมกัน ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีหรือตนเพียงคนเดียว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น