วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2558

ศูนย์ทนายสิทธิฯ มอนิเตอร์การใช้ม.44 ชี้ไร้กลไกตรวจสอบการใช้อำนาจ หวั่นกระทบสิทธิปชช.


30 เม.ย. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งข้อสังเกตหลังใช้มาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แทนกฎอัยการศึก สองสัปดาห์ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญประกาศใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวม 5 ฉบับ ชี้มีแนวโน้มการใช้อำนาจตามมาตรา 44 อย่างต่อเนื่อง ชี้การดำรงอยู่และการใช้อำนาจตามมาตรา 44 สะท้อนความไร้ประสิทธิภาพในการทำงานของฝ่ายบริหารในการใช้กลไกและเครื่องมือของรัฐประเทศที่มีอยู่ ซ้ำยังตรวจสอบการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ไม่ได้ หวั่นประชาชนขาดหลักประกันสิทธิและเสรีภาพ และความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะ

รายละเอียดมีดังนี้


             พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญประกาศใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติรวม 5 ฉบับในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา

ตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย. 58 -29 เม.ย. 58 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาใช้อำนาจตามมาตรา 44 ประกาศใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติรวม 5 ฉบับ ดังต่อไปนี้

  • 1.  คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 6/2558[1] เรื่อง การกําหนดตําแหน่งเพิ่มและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดํารงตําแหน่ง ซึ่งมีสาระสำคัญในการโยกย้ายตำแหน่งปลัดกระทรงศึกษาธิการ เลขาธิการสภาการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

  • 2.  คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2558 เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการคุรุสภา คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา และคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริม สวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา[2] ซึ่งมีสาระสำคัญคือ

          ให้กรรมการคุรุสภา ตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 กรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 และกรรมการในคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการ และสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาพ้นจากตำแหน่ง โดยแต่งตั้งกรรมการโดยตำแหน่งหน้าที่แทนโดยมีผลจนกว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะสิ้นสุดลง

          กำหนดให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ตามคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔๕/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตรวจสอบความถูกต้องและโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณ การบริหารการเงิน ทรัพย์สิน และผลประโยชน์อื่นใด ของคุรุสภา สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา และองค์การค้าของสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา

  • 3.  คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 8/2558 เรื่อง การเลือกกรรมการแทนตําแหน่งที่ว่างในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ[3] ซึ่งมีสาระสำคัญคือให้ กสทช. ประกอบด้วยกรรมการเท่าที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน โดยไม่ต้องดําเนินการสรรหา และคัดเลือกบุคคลใดแทนตําแหน่งที่ว่างตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกํากับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553และเมื่อมีเหตุที่จะต้องมีการเลือกกรรมการใน กสทช. แทนตําแหน่งที่ว่างลงในอนาคต ในกรณีเช่นว่านั้น ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดําเนินการตามกฎหมายโดยอนุโลมต่อไป

  • 4.  คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 9/2558 เรื่อง การให้ข้าราชการสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่[4] ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ให้ นายพิชิต นิลทองคํา จัดหางานจังหวัดชลบุรี ซึ่งมาปฏิบัติหน้าที่ผู้อํานวยการสํานักบริหารแรงงานต่างด้าวตามที่มีคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 70/2557 เรื่อง การแต่งตั้งให้ข้าราชการ ปฏิบัติหน้าที่ สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ผู้อํานวยการสํานักบริหารแรงงานต่างด้าวลง

  • 5.  คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 10/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม[5] ซึ่งมีสาระสำคัญคือ

         ให้จัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย” (Command Center for Combating Illegal Fishing) เรียกโดยย่อว่า ศปมผ. (CCCIF) เป็นศูนย์เฉพาะกิจ ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทํา การประมงผิดกฎหมาย (ผบ.ศปมผ.) โดยมีการกำหนดโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ที่ของศปมผ.ไว้ ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาจากการที่ประเทศไทยได้รับการประกาศเตือนจากสหภาพยุโรปถึงการจัดให้มีมาตรการในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing : IUU Fishing)

ทั้งนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่า

  • 1.   หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีแนวโน้มการใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 อย่างต่อเนื่อง โดยคำสั่งทั้ง 5 ฉบับข้างต้นเป็นการใช้อำนาจ

  • 1.1     ทั้งในแง่การบริหารงานบุคคลซึ่งเป็นอำนาจฝ่ายบริหารโดยแท้และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาในฐานะนายกรัฐมนตรีสามารถกระทำได้โดยไม่จำเป็นต้องออกเป็นคำสั่งตามมาตรา 44 และ
  • 1.2     การให้พ้นจากตำแหน่งหรือแต่งตั้งคณะกรรมการซึ่งมีที่มาตามกฎหมาย รวมถึงที่มาของกรรมการในองค์กรอิสระอย่าง กสทช. ซึ่งเป็นในภาวะปกตินายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้

  • 2.   การดำรงอยู่และการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ย่อมสะท้อนความไร้ประสิทธิภาพในการทำงานของฝ่ายบริหารในการใช้กลไกและเครื่องมือของรัฐประเทศที่มีอยู่ ทั้งที่ฝ่ายบริหารขณะนี้มีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หากปัญหาบางประการจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายควรกระทำผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งมีกระบวนการกลั่นกรองมากกว่า

  • 3.   ประชาชนรวมถึงบุคลากรของรัฐไม่สามารถตรวจสอบความโปร่งใส ความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งและการกระทำตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้เพราะมาตรา 44 ได้รับรองความชอบรัฐธรรมนูญไว้ ส่งผลให้ประชาชนขาดหลักประกันสิทธิและเสรีภาพ และความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะ แม้จะมีการรับรองสิทธิเสรีภาพตามมาตรา 4 รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ไว้แล้วก็ตาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น