Fri, 2015-04-17 18:51
สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติทยอยรับรัฐธรรมนูญร่างแรกแล้ว 1 คน ได้ 3 ชุด แต่ไม่แจกสื่อมวลชน ด้าน 'เทียนฉาย' มีหนังสือประกาศปรับแนวทางการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ระยะเวลาอภิปรายทั้งหมด 79 ชั่วโมง
17 เม.ย. 2558 ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าที่รัฐสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดให้สมาชิก สปช.รับร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาเสร็จแล้วเป็นร่างแรก ได้ตั้งแต่เวลา 13.00 น. บริเวณห้องโถง ชั้น 2 อาคารรัฐสภา 1 แต่ปรากฏว่าสมาชิกให้ความสนใจมารอรับร่างรัฐธรรมนูญก่อนเวลาเป็นจำนวนมาก ทำให้บรรยากาศคึกคักตั้งแต่เวลา 12.00 น. และเริ่มแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญก่อนเวลาที่กำหนด โดยนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.ได้แจกร่างรัฐธรรมนูญให้กับสมาชิกด้วยตัวเอง สำหรับสมาชิก สปช.1 คนจะได้รับแจกเอกสาร 3 ชุด ประกอบด้วย 1. ร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 194 หน้า โดยเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ 315 มาตรา จำนวน 130 หน้า รายงานการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯ 20 หน้า และภาคผนวก 44 หน้า 2. ตารางสรุปเจตนารมณ์รายมาตราของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จำนวน 4 เล่ม และ 3. ตารางร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 18-19 เม.ย. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็ยังเปิดให้สมาชิก สปช.เข้ามารับเอกสารได้แม้เป็นวันหยุดราชการ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ทั้งนี้ บริเวณจุดรับเอกสารยังได้ตั้งจุดลงชื่อแสดงความประสงค์ขออภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ โดยบุคคลแรกที่ลงชื่อ คือ นายอมร วาณิชวิวัฒน์ สมาชิก สปช.
นายบุญเลิศ คชายุทธเดช รองโฆษกคณะกรรมาธิการประชาสัมพันธ์เพื่อการปฏิรูป สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. แถลงถึงกรณีที่ไม่มีการแจกร่างรัฐธรรมนูญให้กับสื่อมวลชนโดยมีการอ้างเป็นการทำผิดกฎหมายว่า ตั้งแต่เที่ยงของวันนี้ สมาชิกได้เดินทางมารับร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเตรียมการอภิปรายในวันที่ 20-26 เม.ย.แล้ว ส่วนปัญหาที่เกิดกับสื่อมวลชนที่ไม่ได้เอกสารเช่นเดียวกับที่ สปช.ได้รับนั้น ตนในฐานะเคยเป็นสื่อสารมวลชนประจำรัฐสภากว่า 10 ปี จึงถูกรุมล้อมจากนักข่าวว่าต้องการร่างรัฐธรรมนูญไปศึกษาทำหน้าที่สรุปสาระสำคัญให้สาธารณชนได้รับทราบ ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของการเป็นสื่อสารมวลชนที่รับผิดชอบต่อประเทศชาติและคำนึงถึงสิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชน
“สิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญหรือหมายถึงเสียงประชาชน เมื่อรัฐธรรมนูญยกร่างฯ เสร็จก็ชอบที่ประชาชนทั้งประเทศจะได้มีโอกาสรับรู้ ไม่สมควรที่จะปกปิดร่างรัฐธรรมนูญด้วยข้ออ้างใดๆ ก็ตาม เพราะไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใดมาจำกัดสิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชน เช่น ในปี 2540 ร่างเสร็จมีการเผยแพร่ต่อประชาชนอย่างกว้างขวางเพื่อรับฟังความเห็นเรียกว่ากระบวนการประชาพิจารณ์ ในปี 2550 ก็มีการจัดพิมพ์เป็นเล่มแจกประชาชนทำประชามติ ในครั้งนี้จะต้องฟังเสียงประชาชนด้วย และที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ กำหนดจะเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนในวันที่ 27 เมษายนนั้น นักข่าวต้องไปตั้งคำถามว่ามีความชอบธรรมที่จะดำเนินการอย่างนั้นหรือไม่ ซึ่งผมไม่กลัวถูกตำหนิเพราะนักข่าวสามารถได้ร่างรัฐธรรมนูญจาก สปช.คนใดก็ได้เพราะมีทั้งหมด 250 คน” นายบุญเลิศกล่าว
ปรับแนวทางการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ให้ระยะเวลาอภิปรายทั้งหมด 79 ชั่วโมง
ด้านเว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภารายงานว่านายเทียนฉาย กีระนันท์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ มีหนังสือประกาศปรับแนวทางการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ของประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติหรือ สปช. ในระหว่างวันที่ 20เมษายน ถึง วันที่ 26เมษายน ให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของสมาชิก เนื่องจากมีสมาชิกหลายคนให้ความเห็นเพิ่มเติมเพื่อให้การอภิปรายและให้ความเห็นไปอย่างกว้างขวาง ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ จึงกำหนดเวลาการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก โดยจะเริ่มประชุมในเวลา 09.00น ถึง 21.00น. ของทุกวัน ยกเว้นวันพฤหัสบดีที่23เมษายน ที่จะเริ่มในเวลา 14.00น ถึง 21.00น รวมระยะเวลาอภิปรายทั้งหมด 79ชั่วโมง
สำหรับการแบ่งเวลาอภิปรายนั้น จะให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญใช้เวลา 15ชั่วโมง โดยวันแรกจะใช้เวลานำเสนอร่างรัฐธรรมนูญ 2ชั่วโมง และเวลาชี้แจง 1ชั่วโมง ส่วนวันต่อๆไปจะให้เวลาชี้แจงประมาณ 2ชั่วโมง ส่วนสมาชิกสปช.จะใช้เวลาทั้งหมด 64 ชั่วโมง โดยให้ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภาทั้ง 18 คณะ คณะละ 30 นาที รวม 9 ชั่วโมง ส่วนสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติที่ประสงค์จะอภิปรายจะได้จัดสรรเวลาคนละประมาณ 15 นาที รวม 55 ชั่วโมง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น