วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

แพทย์จุฬาฯ ย้ำ 30 บาท เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน ไม่แบ่งรวย-จน


แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว จุฬาฯ ย้ำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน ชี้เส้นแบ่งรวยจนวัดยาก เหตุคนยุคปัจจุบันผูกติดทุนนิยม รวยเร็วจนเร็ว แนะ 3 ขั้นตอน สร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพ
5 พ.ค.2558 ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ จากสำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นต่อกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวผ่านรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมาว่า ขอให้คนรวยหรือคนมีฐานะปานกลางสละสิทธิการใช้ 30 บาทรักษาทุกโรคให้กับให้กับคนจน
นพ.ธีระ กล่าวว่า ไม่ได้เห็นขัดแย้งกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม แต่เห็นว่าต้องตีความ ‘ความเป็นธรรมในสังคม’ ให้แตกก่อนว่าเป็นอย่างไร และยืนยันว่า “การรักษาพยาบาลควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าจะเป็นคนยากจน ร่ำรวย ต่างต้องมีสิทธิในการได้รับการดูแลรักษาจากสถานพยาบาลหรือหน่วยงานภาครัฐเช่นกัน”
นพ.ธีระ กล่าวว่า ต้องดูว่าการกำหนดให้คนจนควรได้รับการรักษาฟรี และให้คนมีรายได้ระดับหนึ่งต้องจ่ายค่ารักษาทุกครั้งที่เข้ารับบริการ เป็นการสร้างความเป็นธรรมหรือไม่ เพราะเรื่องเส้นแบ่งความยากจนเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันมานาน แม้แต่ในต่างประเทศ ซึ่งมีความพยายามใช้ระดับรายได้มาคิดเพื่อแบ่งระดับความยากจน แต่แนวคิดนี้กลับไม่ได้รับการยอมรับทั่วโลก เพียงแต่มีการยอมรับในหมู่นักวิชาการเท่านั้น และในความเป็นจริงพบว่า คนรวยในปัจจุบันอาจกลายเป็นคนจนได้ เพราะการใช้ชีวิตและเศรษฐกิจของประชาชนผูกติดกับทุนนิยม อย่าง ตลาดหุ้น ที่คนลงทุนมาก เมื่อหุ้นขึ้นก็รวย แต่ก็ยากจนได้ทันทีเมื่อหุ้นลง ดังนั้นจึงมีถามว่า เส้นแบ่งคนจนคนรวย สามารถปรับตามสถานการณ์ที่ขึ้นลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้ได้หรือไม่
นพ.ธีระ กล่าวว่า โดยส่วนตัวคิดว่า หากรัฐบาลจะจัดสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน ต้องให้กับทุกหมู่เหล่า ซึ่งหลักเกณฑ์การสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพง่ายๆ ทำได้โดยดำเนินการใน 3 ขั้นตอน คือ
1. รัฐต้องดูว่าทรัพยากรที่มีอยู่ในระบบมีอะไรบ้าง มากน้อยแค่ไหน จากนั้นจึงจำแนกว่าเรื่องใดบ้างที่ควรกำหนดเป็นสิทธิบริการพื้นฐานที่รัฐต้องช่วยดูแลให้ครอบคลุม โดยดูความจำเป็นด้านสุขภาพ อาทิ การรักษาในภาวะวิกฤตฉุกเฉินที่เป็นการช่วยชีวิต ซึ่งการกำหนดสิทธิบริการพื้นฐานเหล่านี้ต้องทำโดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะจากภาคประชาชน ซึ่งจะทำให้เกิดการยอมรับง่ายขึ้น  
2. การวิเคราะห์การกระจายตัวของทรัพยากรในประเทศว่าเป็นไปอย่างเท่าเทียมกันหรือไม่ เพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์ส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ และเขตเมืองใหญ่ๆ ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ประชาชนโดยเฉพาะในเขตชนบทสามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเติมในพื้นที่ซึ่งยังขาด หรือจัดบริการส่งต่อที่มีกลไกให้เข้าถึงบริการได้
3. ควรตรวจดูพฤติกรรมประชาชนในการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลว่าเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมาภาครัฐจะเป็นกำหนดและจัดบริการให้ แต่ไม่ดูว่าตรงกับความต้องการของประชาชนหรือไม่ ขั้นตอนเหล่านี้จะทำให้ภาครัฐสามารถจัดการบริการสุขภาพให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึง
ส่วนความเพียงพอของทรัพยากรในระบบสุขภาพนั้น นพ.ธีระ กล่าวว่า ไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน หากดูความต้องการบริการจะพบว่าอย่างไรก็ไม่เพียงพอ ดังนั้นในการดำเนินนโยบายสุขภาพจึงต้องเปลี่ยนมุมมองที่ทรัพยากรด้านสุขภาพไม่ได้จำกัดเพียงแค่ในกระทรวงสาธารณสุขหรือกองทุนสุขภาพ แต่มีการกระจายอยู่นอกระบบด้วย เนื่องจากการบริการสุขภาพครอบคลุมตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษา และการฟื้นฟูผู้ป่วย เป็นต้น เพียงแต่ไม่มีการเปิดรับ ทั้งที่เป็นเรื่องที่ต้องมีส่วนร่วมกัน ซึ่งแม้แต่องค์การอนามัยโลกยังประกาศชักจูงให้ทุกประเทศร่วมกันทำให้เรื่องสุขภาพเป็นนโยบายสาธารณะที่ต้องช่วยกัน 
นพ.ธีระ กล่าวด้วยว่า หลักการข้างต้นจะเชื่อมโยงกับนโยบายหมอครอบครัวที่ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข ได้ประกาศนโยบายไว้ แต่ส่วนตัวมองว่าอาจไม่ยั่งยืน เพราะแม้จะออกแบบการมีส่วนร่วมของสหวิชาชีพ แต่ก็ยังจำกัดเฉพาะในระบบสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ นักบริบาล รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุข และจากภาระงานด้านสุขภาพที่มีมาก ประกอบกับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ด้วยจำนวนคนที่จำกัด อาจทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้นทางออก จึงต้องให้ทุกสหวิชาชีพ ทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามีส่วนร่วมในระบบสุขภาพ ซึ่งจะส่งผลให้มีความยั่งยืนกว่า ทั้งยังช่วยลดภาระงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลของประเทศลงได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น