Thu, 2015-05-28 01:32
คณะกรรมการเยียวยาด้านตัวเงินแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง มีมติเยียวยาผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงทางการเมือง ปี56-57 รายละ 4 แสน ‘วิษณุ’ ยันจะไม่ใช้หลักเกณฑ์เดิมของรัฐบาลที่ผ่านมา
ที่ตึกสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ทำเนียบรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเยียวยาด้านตัวเงิน แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองระหว่างปี 2547 – 2553 และระหว่างปี 2556 – 2557 โดยมี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
ภายหลังการประชุม วิษณุ กล่าวว่า ตอนแถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่ง รัฐบาลระบุว่า จะพยายามสร้างความสามัคคีปรองดอง และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมการต่างๆ ดังนั้น จึงต้องมีการเยียวยาคนเหล่านี้ โดยการเยียวยา จะแยกเป็น 2 ช่วงเวลา แต่จำเป็นต้องนำช่วงเวลา ระหว่างปี 2556 - 2557 ขึ้นมาพิจารณาก่อน เพราะปลอดภัยกว่า ไม่เหมือนช่วงระหว่างปี 2547 – 2553 ที่การพิจารณาไปทางใดทางหนึ่งอาจไม่เหมาะสม และไม่ปลอดภัยนัก เนื่องจากมีคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. ระบุว่า การจ่ายเงินเยียวยาในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นอัตราที่สูงเกินไป ไม่มีกฎหมายรองรับ และไม่สามารถดำเนินการจ่ายได้ ชี้ว่านายกฯ และครม.ขณะนั้นมีความผิด ดังนั้น รัฐบาลชุดนี้ จะไปพิจารณาเพื่อทำผิดซ้ำอีกคงไม่ถูก ต้องหยุดเอาไว้ก่อน เพื่อรอให้มีความชัดเจนจาก ป.ป.ช.ก่อน
รองนายกฯ กล่าวว่า สำหรับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมช่วงระหว่างปี 2556 – 2557 ได้นำบทเรียนจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 2 และคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. ได้วางหลักเอาไว้มาพิจารณา และเอาหลักเกณฑ์และกฎหมายที่มีมาเป็นฐานรองรับ ประกอบด้วย กฎหมาย 4 ฉบับ และ 1 หลักเกณฑ์ คือ พ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 พ.ร.บ.สงเคราะห์ผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 และพ.ร.บ.สงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ.2543 รวมทั้งหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินเยียวยาผู้ที่ประสบภัยจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการจ่ายมาแล้วมาเป็นตัวตั้ง ไม่ได้มโน หรือจินตนาการไปว่า เอาไปเลย 7 ล้านบาท สำหรับหลักเกณฑ์ครั้งนี้ ในกรณีเสียชีวิตจะจ่ายเงินเยียวยาให้ 4 แสนบาท กรณีเสียชีวิตและมีบุตรต้องมีการสงเคราะห์บุตรด้วย กรณีได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรือทรัพย์สินได้รับความเสียหายเหล่านี้ ต้องได้รับการเยียวยาเช่นกัน คาดว่าจะใช้วงเงินอยู่ที่หลักร้อยล้านบาท ซึ่งเตรียมจะเสนอให้ ครม.พิจารณาในสัปดาห์หน้า
วิษณุ ยังกล่าวถึง กระแสข่าวจะมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพื่อเปิดช่องให้ทำประชามติ ว่า ไม่ทราบรายละเอียดว่าจะมีการประชุม ครม.วันที่ 29 พ.ค. ตามที่เป็นข่าวหรือไม่ คงต้องถามเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แต่ขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวปี 57 แต่จะดำเนินการตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม สำหรับขั้นตอนนั้น ทั้งนี้ เมื่อมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขเพิ่มเติมแล้วเสร็จ จะต้องนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เพื่อพิจารณา หรือจะเป็นการประชุม ร่วมคสช. และ ครม.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก็ได้ โดยการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนั้น จะบรรจุการขยายระยะเวลา ให้กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ อีก 30 วัน จากเดิม 60 วัน เป็น 90 วัน เพื่อพิจารณาข้อเสนอแนะของส่วนต่างๆ ในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ที่ส่งผลให้การลงมติรับหรือไม่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของ สปช. ต้องเลื่อนออกไป ซึ่งไม่เกิน 30 วัน จากเดิมที่ สปช. จะโหวตลงมติในวันที่ 6 ส.ค.
“ยืนยันว่า การเยียวยากลุ่มปี 2556-2557 จะไม่ใช้หลักเกณฑ์เดิมของรัฐบาลที่ผ่านมา คาดว่า การเยียวยาในครั้งนี้ จะใช้งบประมาณในหลักร้อยล้านบาท เพราะมีผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่มาก” วิษณุ กล่าว
ส่วนผู้เสียหายทางการเมืองในปี 2547-2553 นายวิษณุ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเยียวยาฯ มีมติยังไม่นำกลุ่มผู้เสียหายชุดนี้มาพิจารณา เนื่องจากคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. กำลังตรวจสอบหลักเกณฑ์การเยียวยา ซึ่งบางรายที่ได้รับการเยียวยาไปแล้ว และพบว่าเข้าข่ายผิดกฎหมาย ดังนั้น จึงรอให้คณะอนุกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จก่อน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น