วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

สนช. เสนอแก้ไขร่าง รธน. ชี้ ส.ว. ควรสรรหาทั้งหมด แต่ลดอำนาจเสนอกฎหมาย ยันเห็นด้วยกับนายกฯ คนนอก




Thu, 2015-05-28 20:55


รองประธาน สนช. เผย คำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมี 24 ประเด็น ด้านเลขานุการคณะกรรมาธิการฯ ระบุ สนช. เห็นด้วยที่จะมีนายกรัฐมนตรี คนนอกแก้วิกฤตบ้านเมือง แต่ขอให้เพิ่มอำนาจ ส.ว. ให้ทำหน้าที่แทน ส.ส. ช่วงมีนายกรัฐมนตรีรักษาการ และ ส.ว. ควรสรรหาทั้งหมด

28 พ.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ส่งมอบรายงานรวบรวมความความคิดเห็นร่างรัฐธรรมนูญต่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของสมาชิก สนช. ซึ่งมีทั้งหมด 24 ประเด็น โดยมีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากสัดส่วนของ สนช. เป็นผู้รับมอบ

ขณะที่สมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา เปิดเผยเพิ่มเติม ว่า จำนวน 24 ประเด็นที่ สนช. ขอแก้ไขเพิ่มเติม มีหลายประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ เช่น ประเด็นเรื่องการกำหนดว่า “พลเมือง” ในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่ง สนช. มีความเห็นให้ตัดคำออก เพราะมีลักษณะเชิงอุดมคติ และให้ใช้คำว่า “บุคคล” แทน ตามที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ส่วนประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรีคนนอกนั้น สนช. เห็นด้วย แต่ให้ระบุความชัดเจนมากขึ้น เช่น ในกรณีที่ห้วงเวลานั้นไม่มีสภาผู้แทนราษฎร และนายกรัฐมนตรีรักษาการที่เกิดเหตุการณ์ทำให้ไม่สามารถดำรงตำแหน่งรักษาการ ได้ และเสนอให้ตัดมาตรา 181 และ 182 ออก ซึ่งเกี่ยวกับการให้อำนาจนายกรัฐมนตรียุบสภา ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติไว้วางใจน้อยกว่ากึ่งหนึ่งได้ และในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเสนอร่างพระราชบัญญัติใดต่อสภา หากสมาชิกสภาผู้แทนไม่ได้เข้าชื่อร่วมกันขอยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายเพื่อลง มติ ภายใน 48 ชั่วโมง ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นผ่านการพิจารณาและความเห็นชอบจากสภาผู้แทน ราษฎร พร้อมว่า กรณีที่มีนายกรัฐมนตรีรักษาการให้วุฒิสภาทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร

นอกจากนี้ ยังเสนอให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาจากการสรรหาทั้งหมด แต่ให้เพิ่มขั้นตอนหรือเงื่อนไขการสรรหาจากกลุ่มอาชีพให้ชัดเจน เพิ่มคณะกรรมการสรรหาให้มากขึ้น และควรให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานองค์กรแต่ละวิชาชีพเข้ามาอีกด้วย และตัดอำนาจ ส.ว.ในการเสนอร่างพระราชบัญญัติ และการถอดถอนบุคคลที่วุฒิสภาไม่ได้เป็นผู้แต่งตั้งหรือให้ความเห็นชอบ

สมชาย ยังกล่าวด้วยว่า ในส่วนของบทเฉพาะกาลเสนอ สนช. เห็นว่าควรบัญญัติเงื่อนไขห้ามมิให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรับธรรมนูญนี้ ในระยะเวลา 5 ปี ภายหลังจากที่มีการประกาศใช้บังคับแล้ว โดยนำแนวคิดจากบทเฉพาะของรัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้ และเสนอเห็นควรบัญญัติให้ ส.ว. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2557 และยังไม่ครบวาระ แต่ต้องพ้นจากตำแหน่งตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เท่านั้น ที่สามารถเข้าสู่ตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาได้ โดยไม่ถือว่ามีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญนี้ แต่ไม่ครอบคลุมถึง ส.ว. ที่เข้ารับหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่ระหว่างปี2551-2557 โดยเทียบเคียงรัฐธรรมนูญปี2550

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น