ประชาชน 150 รายชื่อ เรียกร้องให้มีการกระบวนการจัดทำประชามติร่าง รธน. ที่เป็นประชาธิปไตย และหากร่าง รธน. ฉบับ สปช. ไม่ผ่านประชามติ ต้องเข้าสู่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยย้ำว่าอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญต้องเป็นของประชาชน
เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ในเฟซบุ๊ค "เรียกร้องประชามติที่เป็นประชาธิปไตย" นักวิชาการ นักศึกษา กลุ่มสหภาพแรงงาน นักเขียน ผู้กำกับ สื่อมวลชน นักการเมือง และประชาชนภาคส่วนต่างๆ กว่า 150 คน อาทิ นิธิ เอียวศรีวงศ์, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, เกษียร เตชะพีระ, จอน อึ้งภากรณ์, สุชาติ สวัสดิ์ศรี, ซะการีย์ยา อมตยา, เป็นเอก รัตนเรือง, ปิยบุตร แสงกนกกุล, สฤณี อาชวานันทกุล, รวมทั้งจาตุรนต์ ฉายแสง ได้ลงชื่อท้ายแถลงการณ์เรียกร้องประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย โดยมีข้อเสนอสามข้อหลัก ได้แก่
- (1) หาก สปช. ปัดร่าง รธน. ตก ให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนขึ้นมา
- (2) หาก สปช. ให้ความเห็นชอบต่อร่าง รธน. ต้องจัดให้มีการลงประชามติภายใน 30 วัน
- (3) หากประชาชนไม่เห็นชอบต่อร่าง รธน. หรือประชามติไม่ผ่าน ให้เริ่มต้นกระบวนการร่างใหม่ โดยที่สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนภายใน 45 วัน, จากนั้นให้ สสร. จัดทำร่าง รธน. ให้เสร็จภายใน 90 วัน เมื่อแล้วเสร็จต้องมีประชามติภายใน 30 วัน และหากผลการลงประชามติผ่านร่าง รธน. ให้จัดการเลือกตั้งภายใน 60 วันหลังจากนั้น
อนึ่ง กลุ่มผู้เรียกร้องประชามติเห็นว่า หากจัดให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดผลในกรณีที่ประชาชนไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญไว้เพียงให้แต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ และดาเนินการจัดทาร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งตามกระบวนการเดิม นั่นหมายความว่า อำนาจในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ยังคงอยู่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชาชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมอีกเช่นเคย การออกเสียงประชามติเช่นนี้ถือเป็น "การออกเสียงประชามติที่ปราศจากทางเลือก" และไม่สามารถสะท้อนความคิดเห็นที่แท้จริงของประชาชนได้ อันขัดต่อเป้าหมายของการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้ประชาชนมีโอกาสตัดสินใจเลือกรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศได้ด้วยตนเอง
สำหรับรายละเอียดของข้อเสนอมีดังนี้
เนื่องด้วยในรอบหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกลุ่มต่างๆ หลายกลุ่มในสังคมแสดงความคิดเห็นเพื่อเรียกร้องให้มีการออกเสียงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญ เรา, คณะบุคคลที่ร่วมลงชื่อแนบท้าย, เห็นด้วยกับการจัดให้มีการออกเสียงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญเพราะเราเชื่อว่าอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญคืออำนาจของประชาชน รัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้โดยประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการให้ความเห็นชอบย่อมไม่ชอบธรรมที่จะใช้ปกครองประชาชน
อย่างไรก็ตาม หากจัดให้มีการออกเสียงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดผลในกรณีที่ประชาชนไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญไว้เพียงให้แต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ และดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งตามกระบวนการเดิม นั่นหมายความว่า อำนาจในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ยังคงอยู่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชาชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมอีกเช่นเคย
เราเห็นว่าการออกเสียงประชามติที่กำหนดผลไว้ในลักษณะนี้เป็นการออกเสียงประชามติที่บีบบังคับประชาชนต้องเลือกเพียงสองกรณี กรณีแรก หากประชาชนให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ก็ได้กลับเข้าสู่ระบบปกติ มีการเลือกตั้งแต่ต้องอยู่กับระบอบการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งของคนในชาติได้อีก กรณีที่สอง หากประชาชนไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ก็ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และเริ่มต้นกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมต่อไป การออกเสียงประชามติที่มีทางเลือกอันไม่เป็นประชาธิปไตยเช่นนี้ ไม่ต่างอะไรกับการออกเสียงประชามติที่ปราศจากทางเลือก และไม่สามารถสะท้อนความคิดเห็นที่แท้จริงของประชาชนได้ อันขัดต่อเป้าหมายของการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้ประชาชนมีโอกาสตัดสินใจเลือกรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศได้ด้วยตนเอง
เราเห็นว่า หากประชาชนไม่ให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและสภาปฏิรูปแห่งชาติ ย่อมแสดงให้เห็นว่าประชาชนปฏิเสธกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญและเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามกระบวนการเดิมย่อมไม่มีความชอบธรรมอีกต่อไป แต่ประชาชนในฐานะผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ คือ ผู้ที่มีความชอบธรรมในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง ดังนั้น เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริงเราจึงขอเสนอให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญโดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
- 1. ในกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง และจัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามข้อเสนอ 3.2 ถึง 3.6
- 2. ในกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญ ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญภายใน 30 วัน นับแต่วันที่สภาปฏิรูปแห่งชาติให้ความเห็นชอบ
- 3. ในกรณีที่ประชาชนไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้มีผลดังต่อไปนี้
3.2 เริ่มต้นกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยจัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่ผูกพันกับข้อจำกัดใดๆ ที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย
3.3 การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญต้องมีขึ้นภายใน 45 วันนับจากวันที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนผ่านการออกเสียงประชามติ
3.4 สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับจากวันเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
3.5 เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญภายใน 30 วัน
3.6 จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างช้าที่สุดภายใน 60 วันนับจากวันที่ออกเสียงประชามติ
เราขอเรียนเชิญทุกท่านร่วมรณรงค์เรียกร้องให้มีการออกเสียงประชามติตามข้อเสนอข้างต้น ประชามติที่ไม่มีทางเลือกคือประชามติที่ไม่มีความหมาย กระบวนการจัดทำและให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญต้องยึดโยงกับประชาชน อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญต้องเป็นของประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อเสรีภาพ เพื่อประชาชน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น