วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ร้องศาลอาญาตรวจสอบกรณี ตร.ออกหมายค้นรถทนาย 14 ผู้ต้องหา


Mon, 2015-06-29 16:45


จากกรณีพนักงานสอบสวนพยายามค้นรถทนายความของผู้ต้องหา 14 คนซึ่งเป็นนักศึกษาและนักกิจกรรมกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ประกอบมาตรา 83 เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมาและมีการออกหมายค้นรถในวันถัดมา

29 มิ.ย. 2558 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ออกจดหมายเปิดผนึกถึงศาลอาญา ขอให้ศาลอาญาตรวจสอบการขอออกหมายค้นรถยนต์ของทนายความ โดยระบุว่า อาจเป็นการออกหมายค้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เผยแพร่วันที่ 29 มิถุนายน 2558

จดหมายเปิดผนึกถึงศาลอาญา

ขอให้ศาลอาญาตรวจสอบการขอออกหมายค้นรถยนต์ของทนายความ (ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน) ซึ่งอาจเป็นการออกหมายค้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย


สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2558 พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ได้ขออนุญาตออกหมายค้นรถยนต์หมายเลขทะเบียน กค 9966 ยโสธร จากศาลอาญา เนื่องมาจากกรณีที่ผู้ต้องหาที่เป็นนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ทั้ง 14 คน ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่ 3/2558 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ประกอบมาตรา 83 ทั้งนี้ รถยนต์คันดังกล่าวเป็นรถยนต์ของนางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ หนึ่งในทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งทำหน้าที่เป็นทนายความให้ความช่วยเหลือคดีดังกล่าว และได้ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมมาโดยตลอดตามหลักวิชาชีพทนายความ

ซึ่งในทางสากลและตามหลักการปฏิบัติหน้าที่ทนายความนั้น ย่อมได้รับการคุ้มครองในการปฏิบัติหน้าที่ทนายความ โดยเฉพาะในการทำหน้าที่ตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ซึ่งมีสาระสำคัญตามข้อ 11 และข้อ 12 ว่า ห้ามเปิดเผยความลับของลูกความที่ได้รู้ในหน้าที่ของทนายความ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากลูกความนั้นแล้ว หรือโดยอำนาจศาล และห้ามกระทำการอันอาจทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของลูกความ ซึ่งออกตามความในมาตรา 27(3)(จ) และมาตรา 51 และด้วยความเห็นชอบของสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจึงมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528

ในกระบวนการขั้นตอนการขอออกหมายค้นของพนักงานสอบสวนนั้น พนักงานสอบสวนจำเป็นต้องให้ข้อมูลต่อศาลว่าเป็นการขอออกหมายเพื่อค้นรถยนต์ของทนายความผู้ต้องหา ทั้งนี้ เพื่อให้ศาลมีข้อมูลดังกล่าวประกอบการตรวจสอบการขอออกหมายค้นของพนักงานสอบสวน ตามระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยแนวปฏิบัติในการออกหมายจับและหมายค้นในคดีอาญา พ.ศ.2545 ข้อ 18 ซึ่งระบุว่า “ในกรณีที่การจับหรือการค้นมิอาจจะกระทำได้เพราะมีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นให้เอกสิทธิ์หรือความคุ้มกันแก่บุคคลหรือสถานที่ใดไว้ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบว่าด้วยการนั้น”

ซึ่งตามระเบียบดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ทนายความ ย่อมได้รับความคุ้มครองตามระเบียบข้าราชการตุลาการฯ ข้อ 18 ดังกล่าวด้วย
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) จึงขอเรียกร้องต่อศาลอาญาขอให้มีการตรวจสอบ ทบทวนการขอออกหมายค้นดังกล่าว ว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อมูลต่อศาลหรือไม่ว่าขอออกหมายค้นเพื่อค้นรถยนต์ของทนายความ เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลสำคัญเพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจของศาลว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ออกหมายค้น หากไม่มีการแจ้งข้อมูลดังกล่าวให้ศาลทราบ อาจมีผลให้การออกหมายค้นดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย สิ่งของใดๆ ที่ได้มาจากการค้นย่อมไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานตำรวจให้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อันจะเป็นการคุ้มครองความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความโดยไม่ถูกคุกคามจากอำนาจใดๆ ถือเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรม เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมต่อไป

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)

เลขาฯสภาทนายความ ชี้ค้นรถทนาย คุกคามการทำหน้าที่

ด้านมติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. นิวัฒน์ แก้วล้วน เลขาธิการสภาทนายความฯ กล่าวถึงกรณีการค้นรถของทนายว่า ประเด็นการค้นรถนี้ต้องดูเป็นกรณีไป กฎหมายให้อำนาจค้นในกรณีที่มีเหตุสงสัย หรือความผิดซึ่งหน้า แต่ถ้าไม่มีเหตุอะไรเลยนั้น ทำไม่ได้ ส่วนกรณีการค้นรถของทนายนั้น มองว่า ทนายมีสิทธิของทนายในการปกป้องลูกความของตัวเอง เรื่องนี้มีกฎหมายอนุญาตหรือเปิดช่องไว้

นิวัฒน์ กล่าวว่า การที่ทนายไปเยี่ยมลูกความ แล้วจู่ๆ คุณก็บอกว่ามีเหตุสงสัยว่ามีสิ่งผิดกฎหมายอยู่ในรถทนาย แล้วจะขอทำการค้นรถ พร้อมกับขอยึดรถไว้ก่อนอย่างนี้มุมมองตนเห็นว่าทำไม่ได้ ถ้าทนายไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มนักศึกษาอย่างนี้ก็ว่าไปอย่าง แต่การที่ทนายขับรถมาเพื่อเยี่ยมลูกความแบบนี้น่าจะไม่ได้ ในมุมมองของตน ตนคิดว่าเรื่องนี้เป็นการคุกคามการทำหน้าที่ของทนาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่น่าจะทำอย่างนี้ คุณควรให้เกียรติวิชาชีพทนายที่ทำหน้าที่ในตรงนี้ เพราะหากค้นแล้วไม่เจออะไรคุณจะรับผิดชอบอย่างไร ต้องมอง 2 มุม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น