การชุมนุมของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ ขปส. (P-move) หน้าทำเนียบรัฐบาลวันสุดท้าย เมื่อ 23 พ.ค. 2556 (แฟ้มภาพ/ประชาไท) (ชมภาพทั้งหมด)
ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ชุมนุมต้องแจ้ง จนท. ล่วงหน้า 24 ชม. ห้ามชุมนุมใกล้พระราชวัง ห้ามชุมนุมในสภา ทำเนียบ ศาล ยกเว้นจัดสถานที่ให้ - ห้ามเดินขบวนยามวิกาล ห้ามปราศรัยหลังเที่ยงคืนถึง 6 โมงเช้า - ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามชุมนุมคุก 6 เดือน - กีดขวางทางเข้าออก คุก 6 เดือน - ตัดน้ำตัดไฟ ปิดระบบขนส่งสื่อสาร ผู้จัดชุมนุมคุกไม่เกิน 10 ปี
14 ก.ค. 2558 - ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 132 ตอนที่ 63 ก ฉบับวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ซึ่งผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
โดยสาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าว หมวด 1 บททั่วไป "มาตรา 6 การชุมนุมสาธารณะต้องเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธการใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้ชุมนุมในระหว่างการชุมนุมสาธารณะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย"
"มาตรา 7 การจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมีหนึ่งร้อยห้าสิบเมตรจากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป พระราชนิเวศน์ พระตําหนักหรือจากที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ประทับหรือพำนัก หรือสถานที่พํานักของพระราชอาคันตุกะ จะกระทํามิได้"
"การจัดการชุมนุมสาธารณะภายในพื้นที่ของรัฐสภา ทําเนียบรัฐบาล และศาลจะกระทํามิได้ เว้นแต่มีการจัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สําหรับการชุมนุมสาธารณะภายในพื้นที่นั้น"
"ศาลตามวรรคสองหมายความถึง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร และศาลอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาล"
"ในกรณีจําเป็นเพื่อประโยชน์แห่งการรักษาความปลอดภัยสาธารณะและความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีอํานาจประกาศห้ามชุมนุมในรัศมีไม่เกินห้าสิบเมตรรอบสถานที่ตามวรรคสอง ทั้งนี้ ให้คํานึงถึงจํานวนของผู้เข้าร่วมชุมนุมและพฤติการณ์ในการชุมนุมด้วย"
"มาตรา 8 การชุมนุมสาธารณะต้องไม่กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่ ดังต่อไปนี้
- (1) สถานที่ทําการหน่วยงานของรัฐ
- (2) ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งสาธารณะ
- (3) โรงพยาบาล สถานศึกษา และศาสนสถาน
- (4) สถานทูตหรือสถานกงสุลของรัฐต่างประเทศ หรือสถานที่ทําการองค์การระหว่างประเทศ
- (5) สถานที่อื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด"
"มาตรา 9 หน่วยงานของรัฐอาจจัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สําหรับการชุมนุมสาธารณะก็ได้
การจัดให้มีสถานที่เพื่อการชุมนุมสาธารณะตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อเสรีภาพของประชาชน ที่จะจัดการชุมนุมสาธารณะในที่สาธารณะอื่น
มิให้นําความในหมวด 2 การแจ้งการชุมนุมสาธารณะ มาใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะที่จัดขึ้นภายในสถานที่ตามวรรคหนึ่ง"
ในหมวด 2 การแจ้งการชุมนุมสาธารณะ "มาตรา 10 ผู้ใดประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ ให้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง
ให้ถือว่าผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวัน เวลา และสถานที่ที่กําหนดไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ รวมทั้งผู้ขออนุญาตใช้สถานที่หรือเครื่องขยายเสียงหรือขอให้ทางราชการอํานวยความสะดวกในการชุมนุมเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะตามวรรคหนึ่ง"
หมวด 3 หน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุม
"มาตรา 15 ผู้จัดการชุมนุมมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
- (1) ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
- (2) ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ ตลอดจนดูแลและรับผิดชอบให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามมาตรา 16
- (3) แจ้งให้ผู้ชุมนุมทราบถึงหน้าที่ของผู้ชุมนุมตามมาตรา 16 และเงื่อนไขหรือคําสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ
- (4) ให้ความร่วมมือแก่เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะในการดูแลการชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปตาม (1) และ (2)
- (5) ไม่ยุยงส่งเสริมหรือชักจูงผู้ชุมนุมเพื่อให้ผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามมาตรา 16
- (6) ไม่ปราศรัยหรือจัดกิจกรรมในการชุมนุมโดยใช้เครื่องขยายเสียงในระหว่างเวลา 24.00 นาฬิกา ถึงเวลา 06.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น
- (7) ไม่ใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าที่มีขนาดหรือระดับเสียงตามที่ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติประกาศกําหนด"
"มาตรา 16 ผู้ชุมนุมมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
- (1) ไม่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นที่ชุมนุมหรือทําให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึงคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามเหตุอันควร
- (2) ไม่ปิดบังหรืออําพรางตนโดยจงใจมิให้มีการระบุตัวบุคคลได้ถูกต้อง เว้นแต่เป็นการแต่งกายตามปกติประเพณี
- (3) ไม่พาอาวุธ ดอกไม้เพลิง สิ่งเทียมอาวุธปืน หรือสิ่งที่อาจนํามาใช้ได้อย่างอาวุธ เข้าไปในที่ชุมนุมไม่ว่าจะได้รับอนุญาตให้มีสิ่งนั้นติดตัวหรือไม่
- (4) ไม่บุกรุกหรือทําให้เสียหาย ทําลาย หรือทําด้วยประการใด ๆ ให้ใช้การไม่ได้ตามปกติซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่น
- (5) ไม่ทําให้ผู้อื่นกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน หรือเสรีภาพ
- (6) ไม่ใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้ายผู้เข้าร่วมชุมนุมหรือผู้อื่น
- (7) ไม่ขัดขวางหรือกระทําการใดๆ อันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนในการใช้ที่สาธารณะ และการดูแลการชุมนุมสาธารณะนั้น
- (8) ไม่เดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมระหว่างเวลา 18.00 นาฬิกา ถึงเวลา 06.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ
- (9) ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคําสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ"
- ในส่วนของ หมวด 5 บทกําหนดโทษ มาตรา 27 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 7 ชุมนุมในสถานที่ซึ่งห้ามไว้ หรือ มาตรา 8 ชุมนุมกีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานของหน่วยงานบางแห่ง "ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ"
มาตรา 28 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 10 มาตรา 12 มาตรา 17 หรือมาตรา 18 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท"
มาตรา 29 ผู้ใดฝ่าฝืนคําสั่งห้ามชุมนุมหรือจัดการชุมนุมระหว่างมีคําสั่งห้ามชุมนุม ตามมาตรา 11 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ"
มาตรา 30 ผู้จัดการชุมนุมผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 15 (1) (2) หรือ (3) หรือผู้ชุมนุมผู้ใด ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 16 (1) หรือ (2) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท"
มาตรา 31 ผู้จัดการชุมนุมผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 15 (4) (5) (6) หรือ (7) หรือ ผู้ชุมนุมผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 16 (3) (4) (5) (6) (7) หรือ (8) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
"ถ้าการกระทําตามวรรคหนึ่งทําให้ระบบการขนส่งสาธารณะ ระบบการสื่อสารหรือโทรคมนาคม ระบบผลิตหรือส่งกระแสไฟฟ้าหรือประปา หรือระบบสาธารณูปโภคอื่นใดใช้การไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวร ผู้จัดการชุมนุมต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ"
"มาตรา 32 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคําสั่งหรือประกาศของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตามมาตรา 19 (5) หรือมาตรา 23 ถ้าผู้นั้นเป็นผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ชุมนุม ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่ถ้าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ภายในสถานที่ชุมนุม ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท"
"มาตรา 33 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของผู้ควบคุมสถานการณ์หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจาก ผู้ควบคุมสถานการณ์ตามมาตรา 24 หรือมาตรา 25 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ"
"มาตรา 34 ผู้ใดไม่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ หรือผู้ควบคุม สถานการณ์หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ควบคุมสถานการณ์ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ พาอาวุธเข้าไปในที่ชุมนุม ไม่ว่าจะได้รับอนุญาตให้มีอาวุธนั้นติดตัวหรือไม่ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ"
"ถ้าอาวุธตามวรรคหนึ่งเป็นอาวุธปืน วัตถุระเบิด หรือวัตถุอื่นใดอันมีสภาพคล้ายคลึงกัน ผู้กระทําความผิดต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ"
"มาตรา 35 บรรดาทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการชุมนุมสาธารณะที่ยึดได้จาก การชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือที่ไม่เลิกการชุมนุมตามคําสั่งศาล ให้ศาลมีอํานาจสั่งริบ เสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคําพิพากษาหรือไม่"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น