15 ก.ค.2558 ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ รองศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเกียวโต และนักวิจัยรับเชิญมหาวิทยาลัย Freiburg เยอรมนี โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุสถานทูตไทยในเยอรมนีแทรกแซงมหาวิทยาลัยในเยอรมนีให้งดจัดกิจกรรมทางวิชาการหลังปวินเข้าร่วม
สำหรับรายละเอียดในเรื่องนี้ ปวินเล่าถึงสองกรณีที่เกิดขึ้น กรณีหนึ่งคือการที่สถานทูตไทยติดต่อมหาวิทยาลัยเพื่อส่งคนเข้าร่วมงานวิชาการเรื่องสถานการณ์การเมืองไทยที่เขาบรรยาย ส่วนอีกกรณีเป็นเรื่องที่ทำให้เขาไม่พอใจอย่างมากคือ กรณีที่กงสุลไทยสั่งให้มหาวิทยาลัยยกเลิกงานที่เชิญเขาไปบรรยายโดยขู่จะตัดเงินสนับสนุนและทางมหาวิทยาลัยก็ยินยอม
ปวินเท้าความว่า เขากำลังอยู่ในระหว่างการเป็นนักวิจัยรับเชิญ ณ มหาวิทยาลัย Freiburg ของเยอรมนี เริ่มต้นการรับตำแหน่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา หน้าที่สำคัญคือการได้รับเชิญไปบรรยายหัวข้อที่เขากำลังทำวิจัยอยู่คือเรื่องสถานการณ์การเมืองปัจจุบันของไทย
เขากล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน ได้พยายามแทรกแซงกิจกรรมทางวิชาการที่เขาเกี่ยวข้อง เมื่อครั้งที่ได้รับเชิญให้เล็คเชอร์ ณ มหาวิทยาลัย Freiburg เมื่อวันที่ 6 ก.ค. นางนงนุช เพ็ชรรัตน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ได้ขอให้เจ้าหน้าโทรศัพท์มาสอบถามมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการบรรยายและขอส่งเจ้าหน้าที่มาเข้าร่วม ทางมหาวิทยาลัยได้ตอบปฏิเสธไปทันที เนื่องจากเป็นกิจกรรมทางวิชาการที่ไม่ควรมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง จากนั้นทางมหาวิทยาลัยได้แจ้งเรื่องดังกล่าวแก่เขา ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นความพยายามของสถานเอกอัครราขทูตในการข่มขู่การประกอบวิชาชีพของเขา
“หากใครตามเฟซบุ๊คผมก็จะทราบว่า ผมได้เขียนเรื่องความอึดอัดนี้โดยทันที โดยย้ำว่า คสช ลงโทษผมทางกฏหมายอย่างไม่ชอบธรรมแล้ว ผมจะไม่ยอมอย่างเด็ดขาดที่จะให้สถานเอกอัครราขทูต ณ กรุงเบอร์ลิน มาสร้างความกดดันต่อผม ผมขอสู้ตาย” ปวินกล่าว
เขากล่าวต่อว่า เขาตอบโต้โดยการเดินทางไปยังสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลินวันรุ่งขึ้น (7 ก.ค.) เพื่อร่วมประท้วงกับกลุ่มส่งเสริมประชาธิปไตยเรียกร้องให้ คสช. ปล่อยตัวนักศึกษาทั้ง 14 คนซึ่งขณะนั้นยังถูกจำคุกอยู่ และเขายังเรียกร้องขอพบนงนุชแต่ไม่มีตัวแทนจากสถานเอกอัครราชทูตคนใดออกมาพบ
“ผมเห็นว่า เป็นความขลาดของคนจากสถานเอกอัครราชทูตที่จะออกมาเผชิญหน้าผมอย่างตรงไปตรงมา” ปวินกล่าว
ปวินกล่าวต่อว่า หลายวันต่อมาเขาได้รับการติดต่อจากนักศึกษาของมหาวิทยาลัย Goethe-Universität Frankfurt am Main เพื่อเชิญบรรยายเกี่ยวกับพัฒนาการทางการเมืองของไทย ในอีเมลเชิญนักศึกษาที่เป็นผู้ติดต่อได้เขียนอย่างตรงไปตรงมาว่าไม่อาจเชิญปวินอย่างเป็นทางการได้ เพราะเกรงว่าอาจทำให้สถานกงสุลไทย ณ นครแฟรงค์เฟิรต์ขุ่นเคือง และอาจนำไปสู่การตัดเงินช่วยเหลือแก่สถาบันได้ เขาตอบรับการบรรยายอย่างไม่เป็นทางการที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 ก.ค.
“ผมเดินทางออกจาก Freiburg ไปยังแฟรงค์เฟิรต์แต่เช้า แต่เพียงไม่กี่นาทีก่อนที่เล็คเชอร์จะมีขึ้น ผมได้รับแจ้งว่า ทางผู้จัดขอยกเลิกงานเล็คเชอร์ของผม เพราะสถานกงสุลฯ ได้โทรศัพท์มาขอให้ยกเลิก และได้มีการพูดถึงการขู่ว่าจะมีการตัดเงินช่วยเหลือจากสถานกงสุลฯ หากผู้จัดยังดื้อที่จะให้มีเล็คเชอร์ของผมต่อไป”
“เมื่อผมทราบข่าว ผมรู้สึกไม่พอใจอย่างมาก เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่หน่วยงานราชการของไทยในเยอรมนีพยายามแทรกแซงงานวิชาการ และในส่วนตัว มันยังเป็นความพยายามสร้างแรงกดดันต่อผม ปฏิกิริยาตอบโต้จากผมคือการกล่าวตำหนิผู้จัดอย่างรุนแรงที่ยอมให้เงินบริจาคของสถานกงสุลฯ เข้ามามีอิทธิพลเหนือชุมชนวิชาการในเยอรมนี จากนั้น ผมได้เรียกร้องให้นักศึกษาที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้จัด ได้ช่วยผมในการรักษาพื้นที่ทางวิชาการ โดยขอให้ช่วยสนับสนุนให้งานเล็คเชอร์ผมมีต่อไป แม้ว่าจะถูกทางมหาวิทยาลัยสั่งยกเลิกไปแล้ว ซึ่งนักศึกษาจำนวนหนึ่งเห็นด้วย และยังกล่าวต่อว่า จะไม่ยอมให้หน่วยงานของไทยมามีอิทธิพลต่อมหาวิทยาลัย และพร้อมส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการ จนในที่สุด เล็คเชอร์ของผมก็มีขึ้น และได้จบลงไปด้วยดี”
ปวินกล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นปรากฏให้เห็นชัดว่าตัวแทนทางการทูตของไทยยินดีทำตามนโยบายของ คสช ในการกำจัดพื้นที่แสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทย โดยใช้อิทธิพลทางการเงินเป็นเครื่องมือต่อรองสถาบันการศึกษาต่างๆ ในเยอรมนี
“นางนงนุชแม้ว่าจะเป็นที่รู้กันดีในกระทรวงการต่างประเทศถึงความใกล้ชิดที่เคยมีกับอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ท่าทีล่าสุดของนางนงนุชชี้ถึงความพร้อมที่จะสนองต่อนโยบายของ คสช แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักปฏิบัติทั่วไปที่ประเทศอื่นๆ มีต่อแวดวงวิชาการ สถานกงสุลใหญ่ที่แฟรงค์เฟิรต์ ก็ดำเนินนโยบายใกล้เคียงกัน โดยใช้วิธีการปิดกั้นผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง แทนที่จะใช้วิธีการเดินทางมาเข้าร่วมงานเล็คเชอร์และแสดงความเห็นที่ต่างไป หรืออธิบายจุดยืนของสถานกงสุลฯ ในวิถีทางที่ไม่สกปรกและซิวิไลซ์” ปวินกล่าว
นอกจากนี้ปวินยังแสดงความไม่พอใจต่อท่าทีของมหาวิทยาลัย Goethe-Universität Frankfurt am Main โดยระบุว่าคณาจารย์ต่างปฏิเสธการปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ และไปให้ความชอบธรรมต่อท่าทีของสถานกงสุลฯ ไม่มีอาจารย์คนใดของมหาวิทยาลัยออกมาอธิบายถึงเรื่องที่เกิดขึ้น ต่างกลับพร้อมใจที่จะไม่ปรากฏตัวในระหว่างเล็คเชอร์ของเขา เพื่อแสดงให้สถานกงสุลฯ เห็นว่าตัวเองไม่มีส่วนรู้เห็นการการเชิญปวินมาบรรยาย
“เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ประเทศอย่างเยอรมนี ที่มีความเป็นเลิศด้านการศึกษา ได้ผลิตนักวิชาการที่มีอิทธิพลในสาขาต่างๆ จำนวนมากตั้งแต่อดีต แต่วันนี้ กลับตกเป็นทาสทางการเงินของหน่วยงานไทย จนทำให้ละทิ้งหน้าที่การส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการ พวกคุณควรต้องละอายใจต่อตัวเองเป็นอย่างยิ่ง” ปวินกล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น