วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ฮิวแมนไรท์วอทช์ ออกแถลงการณ์ต้านรายชื่อกสม.ชุดล่าสุด


ฮิวแมนไรท์วอทช์ออกแถลงการณ์ต่อต้านการคัดเลือกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทยครั้งล่าสุดที่มีคนที่สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างโจ่งแจ้งรวมอยู่ในนั้นด้วย อีกทั้งยังเสนอให้การคัดเลือกเป็นไปอย่างโปร่งใสและมีหลักการที่ชัดเจนกว่านี้

24 ก.ค. 2558 องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้องให้สภานิติบัญญัติไทยปฏิเสธผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย (กสม.)เนื่องจากระบบการคัดเลือกไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล อีกทั้งยังเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อระบุให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีความน่าเชื่อถือ เป็นอิสระ และตรวจสอบได้ รวมถึงมีขั้นตอนการคัดเลือกที่โปร่งใส เปิดให้มีการตรวจสอบจากสาธารณะ และการมีส่วนร่วมในวงกว้าง
หลังจากที่เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในไทยประกาศผู้ได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการจำนวน 7 คน เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยมีคณะกรรมการคัดเลือกประกอบด้วยผู้พิพากษาอาวุโสและประธานรัฐสภา พิจารณาคัดเลือกจากผู้สมัครจำนวน 121 คนโดยไม่มีหลักการพิจารณาหรือข้อมูลการพิจารณาเปิดเผยต่อสาธารณะ มีเพียงผู้สมัครรายเดียวเท่านั้นที่มีบันทึกประวัติให้เห้นต่อสาธารณะเกี่ยวกับการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน แต่กมีอีกหนึ่งรายที่สนับสนุนการปราบปรามเสรีภาพขั้นพื้นฐานและต่อต้านหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างเปิดเผย
แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทชืแผนกเอเชียกล่าวว่า ประเทศไทยกำลังต้องการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่มีความน่าเชื่อถือและมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่มากขึ้นเพื่อระบุถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายลงกว่าเดิมภายใต้การปกครองของทหาร การคัดเลือกคนที่ไม่มีประสบการณ์และผู้ที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมต่อตำแหน่งเป็นการจงใจทำให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนกลายเป็นสถาบันที่อ่อนแอและไม่มีอำนาจใดๆ
แถลงการณ์ของฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุอีกว่าในกลุ่มผู้ได้รับคัดเลือก 7 คน มีหนึ่งในนั้นเป็นผู้นำกลุ่มรอยัลลิสต์แบบสุดโต่ง นอกจากนั้นเป็นกลุ่มที่มีประวัติทำงานเกี่ยวข้องในทางตุลาการ มีเพียงคนเดียวเท่านั้นคืออังคณา นีละไพจิตร ที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนและรณรงค์ต่อต้านการอุ้มหาย การทารุณกรรม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากรัฐ
ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า บวร ยสินทร เป็นผู้ที่ต่อต้านเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด จากที่เขาอ้างใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในเชิงก้าวร้าวหลายครั้ง
คณะอนุกรรมการในการประเมินสถานะฯ ของคณะกรรมการประสานงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (International Coordinating Committee on National Human Rights Institutions: ICC) ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2536 เพื่อทำให้สถาบันด้านสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีความเข้มแข็งขึนเคยออกรายงานเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2557 ที่ผ่านมาระบุถึงปัญหาของคณะกรรมการสิทธิมนุษย์ชนของไทยว่ามักจะมีแต่คนจากในสภาบันกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนด้านสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน หรือทำหน้าช่วยไกล่เกลี่ยปัญหาระหว่างกลุ่มผลประโยชน์หรือภาคประชาสังคมใดๆ
รายงานของ ICC ยังตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของกสม. จากการที่สมาชิกองค์กรแสดงออกในการเลือกข้างทางการเมืองอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นปัญหาจากกระบวนการคัดเลือกและความสามารถในการทำงาน ทำให้มีการลดระดับสถานะกสม.จาก A เป็น B ทำให้กสม.ไม่สามารถเสนอความเห็นในที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
หลักการปารีส (Paris Principles) หรือในชื่อเต็มคือหลักการเกี่ยวกับสภานะของสถาบันแห่งชาติด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้รับการรับรองจากสภายูเอ็นในปี 2536 ระบุว่า สถาบันแห่งชาติด้านสิทธิมนุษยชนไม่ว่าจะมาจากการแต่งตั้งหรือการเลือกตั้งก็ตามจะต้องปฏิบัติงานให้เป็นไปในลักษณะที่พวกเขาจะเป้นตัวแทนของกลุ่มพลเมืองที่มีความหลากหลายในสังคม และมีส่วนร่วมในการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน
อดัมส์ยังเรียกร้องให้สนช. ปฏิเสธการคัดเลือกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไทยในครั้งนี้และให้มีการคัดเลือกใหม่ และเพื่อป้องกันไม่ให้มีความผิดพลาดแบบเดิมเกิดขึ้นอีกครั้งจึงควรให้มีระบบการคัดเลือกที่โปร่งใส ที่จะเป็นการทำให้แน่ใจว่าสถาบันสิทธิมนุษยชนไทยจะมีความน่าเชื่อถือ มีความเป็นอิสระ และมีประสิทธิภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น