วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

‘รสนา’ อัด ‘เจษฎา’ ร้อนวิชา ปมเซ็งกม.พืชไร่จีเอ็มถูกถอนจาก สปช. แนะรายชื้อคนอื่นดีเบต


หลังจาก เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณ์สาธารณะ ‘Jessada Denduangboripant’ ระบุเซ็งมาก หลังร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. .... ถูกถอนออกจากการพิจารณาของ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
โดย เจษฎา กล่าวด้วยว่า หลังจากตนกลับมาจากการอบรมดูงานที่อเมริกาเรื่องพืชไร่จีเอ็ม ก็ได้ไปเดินสายอธิบายให้องค์กรต่างๆ เช่น สปช. สนช. มหาวิทยาลัย เกษตรกร ฯลฯ เห็นความสำคัญและจำเป็นของการนำเอาเทคโนโลยีนี้มาช่วยการเกษตรของประเทศไทย ที่ล้าหลังลงไปทุกทีจนเพื่อนบ้านเราจะแซงกันไปหมดแล้ว พร้อมท้า รสนา โตสิตระกูล สปช. มาดีเบตให้ประชาชนฟังกันดีกว่า ว่ารู้เรื่องจีเอ็มโอดีกว่าตนแค่ไหน และใครกันแน่ที่กำลังทำลายโอกาสของเกษตรกรของประเทศไทย (อ่านรายละเอียด)
ด้าน รสนา โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะสาธารณะเช่นกันว่า เจษฎา ไม่ทราบถึงเหตุผลในการถอนร่าง พ.ร.บ นี้ออกไป และแสดงความไม่พอใจโดยทึกทักว่าตนเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการถอนร่างกฎหมายนี้ออกไป จนถึงกับมาท้าดีเบตกับตนนั้น น่าจะเป็นเพราะไม่ได้ตรวจสอบเหตุและผลของเรื่องให้ดีเสียก่อน ซึ่งอาจทำให้คนมองไปได้ว่า เป็นอาการร้อนวิชาของคนที่ฝันกลางวันจะเป็นรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ก็ได้
รสนา อธิบายถึงเหตุผลที่คณะกรรมาธิการตัดสินใจขอถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออก เพราะ
1) เพราะร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว นั้นน่าจะเป็นเป็นการสอดไส้เข้ามาโดยผู้รับผิดชอบมิได้มีการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน ดังปรากฏในเอกสารใบนำส่งเอกสารถึงประธานสปช. เพื่อนำเข้าสู่วาระการพิจารณาในสภาปฏิรูปแห่งชาตินั้น ไม่มีรายการที่ระบุว่าจะมีร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณา ซึ่งมี สารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาอภิปรายทักท้วงและขอให้มีการชี้แจง
อีกประการหนึ่ง การรายงานวาระปฏิรูปครั้งนี้เป็นการรายงานรอบ 2 ซึ่งในรอบแรก ไม่มีประเด็นจีเอ็มโออยู่ในรายงานครั้งแรก
การทักท้วงในประเด็นนี้ จึงเป็นการทักท้วงในเรื่องของนิติกระบวนการที่ถูกต้อง (Due Process of Law) ในการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ
2) ในร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้มีจุดอ่อนหลายประเด็น ที่ร้ายแรงที่สุดคือในมาตรา 52 ที่ระบุว่า "ผู้ประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมไม่ต้องรับผิดในกรณีที่การปลดปล่อยสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมสู่สิ่งแวดล้อมและก่อความเสียหายต่อสุขภาพของมนุษย์หรือสัตว์ หรือเกิดความเสียหายแก่ความหลากหลายทางชีวภาพ ถ้าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัย หรือเกิดจากการกระทำของผู้เสียหายเอง"
ข้อกำหนดดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักสากลในพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ และพิธีสารเสริมนาโงย่า-กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการรับผิดและชดใช้ความเสียหาย ซึ่งพิธีสารดังกล่าวครอบคลุมถึงการคุ้มครองผลกระทบทางสังคมเศรษฐกิจ ดังนั้นมาตรา52 จึงขัดต่อวัตถุประสงค์ของพิธีสารดังกล่าว และเป็นการไม่คุ้มครองผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากพืชจีเอ็มโอ
มาตราที่52 นี้ และอันตรายของพืชจีเอ็มโอ มีสปช. หลายท่านอภิปรายและบางท่านขอให้ตัดมาตรานี้ หรือเห็นควรให้ถอนร่างออกไปก่อน เช่น ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ อาจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธ์ุ ดร.วินัย ดะห์ลัน รวมตนด้วยคณะกรรมาธิการจึงตัดสินใจขอถอนร่างนี้ออกจากการพิจารณาในที่ประชุม
นอกจากนี้ รสนา ยังได้ระบุรายชื่อ ผู้เชี่ยวชาญในประเด็นความปลอดภัยของพืชจีเอ็มโอต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ เพื่อให้ เจษฏา ร่วมดีเบต เช่น  รศ.ดร.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการปรับปรุงพันธุ์พืช, ดร.ทวีศักดิ์ ภู่หลำ นักปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพด และอุตสาหกรรมข้าวโพดหวานของประเทศไทย, ผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล คณะนิติศาสตร์ ม.หอการค้าไทย ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง, รศ.ดร.วินัย ดะลันห์ อดีตคณบดีสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์ด้านอาหาร และคุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ( Biothai) ผู้เชี่ยวชาญด้านการบังคับใช้กฎหมายสิทธิบัตรทรัพยากรชีวภาพ
เจษฏา รับคุยรายคน ขอเลี่ยงการใช้ความรู้สึก
อย่างไรก็ตาม เจษฏา ได้เข้าไปแสดงความเห็นท้ายโพสต์ของรสนา ด้วยว่า “ผมเชิญมาคุยทีละท่านก็ได้ครับ เพื่อที่ท่านจะได้มีข้อมูลมากขึ้นในการพิจารณาเรื่องนี้ โดยเริ่มจากท่านรสนาก็ได้ครับ อนาคตของชาติและเกษตรกรไทยจะได้ถูกตัดสินบนพื้นฐานของข้อมูล ไม่ใช่จากอคติเขิงลบที่องค์กรต่างชาตินำเข้ามาเท่านั้น โปรดหลีกเลี่ยงการใช้ความรู้สึก อย่างเช่น การบอกว่าผมร้อนวิชา ครับ”

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น