วันอังคารที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2558

โฆษกข้าหลวงใหญ่ยูเอ็นวิตกอย่างมาก ศาลทหารลงโทษแรง จี้ แก้ ม.112


โฆษกข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ แสดงความวิตกต่อการลงโทษในคดีหมิ่นเบื้องสูง หลังศาลทหารจำคุกหลายกรณี 50-60 ปี จี้ปล่อยตัวผู้แสดงความคิดเห็นที่ถูกขังก่อนการพิพากษา และแก้มาตรา 112 รวมทั้งบังคับใช้ให้เป็นตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล
11 ส.ค.2558 ราวีนา ซัมดาซานี โฆษกประจำตัวข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แสดงความวิตกอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทย หลังศาลทหารพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยอย่างน้อย 3 รายในความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นเวลา 60 ปี 56 ปี 50 ปีตามลำดับ เนื่องจากโพสต์ข้อความวิจารณ์สถาบันกษัตริย์บนเฟซบุ๊ก
โฆษกประจำตัวข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติมีความหวาดวิตกอย่างมากจากคำพิพากษาจำคุกคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในหลายๆ เดือนที่ผ่านมาซึ่งมีการระวางโทษจำคุกอย่างไม่มีสัดส่วน (disproportionate) อย่างมีความรุนแรงมาก ในวันที่ 7 สิงหาคม 2558 ศาลทหารกรุงเทพ ตัดสินจำคุกนายพงษ์ศักดิ์ เจ้าหน้าที่บริษัททัวร์เป็นระยะเวลา 30 ปีจากการละเมิดมาตรา 112   จากการเขียนความเห็นในเฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์ราชวงศ์ไทย นายพงษ์ศัดิ์ถูกตัดสินจำคุกเป็นระยะเวลา 60 ปี หรือ 10 ปี ต่อ 1 ความเห็น แต่ถูกลดลงเนื่องจากนายพงษ์ศักดิ์รับสารภาพ ในวันเดียวกันศาลทหารจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาจำคุกนางสาวศศิวิมล พนักงานโรงแรมแห่งหนึ่ง เป็นระยะเวลา 28 ปี จากการแสดงความเห็นบนเฟซบุ๊กที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ คำตัดสินนี้ถูกลดลงจาก 56 ปี เนื่องจากนางสาวศศิวิมลรับสารภาพ ในเดือนมีนาคม 2558 ศาลทหารกรุงเทพได้มีคำพิพากษาที่รุนแรงโดยตัดสินจำคุกนายเธียรสุธรรม เป็นระยะเวลา 25 ปี (จากโทษเต็ม 50 ปี) จากการโพต์ความเห็น 5 ครั้งบนเฟซบุ๊กที่มีข้อความวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ 
“คำพิพากษาข้างต้นนับเป็นคำตัดสินคดีที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นปีที่เราเริ่มรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่ได้ถูกดำเนินคดีจากกฎหมายหมิ่นฯ จากการใช้สิทธิแสดงความเห็น” โฆษกระบุ
โฆษกประจำตัวข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุอีกว่า มีความตื่นตระหนกต่อการที่ศาลทหารเพิ่มระยะเวลาจำคุก ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชน และเป็นการไต่สวนที่ไม่เป็นธรรม โดยสาธารณชนไม่สามารถเข้ารับฟังการไต่สวน และผู้ถูกตัดสินจำคุก ไม่สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาได้
นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า ในหลายๆ เดือนที่ผ่านมายังเห็นว่าบุคคลที่มีความพิการทางจิต-สังคม ได้ถูกตัดสินจำคุกภายใต้กฎหมายหมิ่นฯ ในวันที่ 6 สิงหาคม 2558 ศาลทหารเชียงรายตัดสินจำคุกนายสมัคร เป็นระยะเวลา 5 ปี จากการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ช่วงที่กำลังเมาสุรา โรงพยาบาลในจังหวัดเชียงรายได้ตรวจทราบว่านายสมัครมีโรคทางจิตและอยู่ระหว่างการรักษาอาการประสาทหลอนทางตาและหู ในวันที่ 25 กรกฎาคม นายทะเนช ถูกศาลอาญากรุงเทพฯ ตัดสินจำคุกเป็นระยะเวลา 3 ปี 4 เดือนจากการส่ง URLs ที่มีข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปให้ผู้ดูแลเว็บไซต์แห่งหนึ่ง โดยมีรายงานว่านายทะเนชป่วยเป็นโรคจิตชนิดหวาดระแวง 
โฆษกประจำตัวข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้ศาลทหารต้องมีการรับประกันตามหลักกระบวนการอันควรของกฎหมาย ( Due process of law) ภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศทุกกรณี และเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกพิพากษาจำคุกอันเนื่องจากใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลทหารแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลระหว่างประเทศ โดยระหว่างที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมาย ไม่ควรนำมาตรา 112 มาใช้ตามอำเภอใจ เพื่อจำกัดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของประชาชนในประเด็นที่เป็นประโยชน์สาธารณะ แม้จะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ประมุขของรัฐหรือผู้นำรัฐบาลก็ตาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น