วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2558

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: “แม่น้ำ 5 สาย” ของขบวนการประชาธิปไตยใหม่


ขบวนการประชาธิปไตยใหม่เริ่มกำเนิดขึ้นมาจากนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด ร่วมกับประชาชนชาวบ้านในชนบท และต่อมาได้ร่วมกับนิสิตนักศึกษาในกรุงเทพฯอีกจำนวนหนึ่ง เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย จนเกิดกรณีการจับกุมคุมขังนักศึกษา 14 คน นำไปสู่การเคลื่อนไหวของนักวิชาการและประชาชนให้ปล่อยตัวนักศึกษาทั้งหมดจนเป็นผลสำเร็จ
ความคิดที่เป็นธงนำของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ก็คือ หลักการกำปั้น 5 ข้อ ได้แก่ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม การมีส่วนร่วม และสันติวิธี มีสัญลักษณ์เป็นกำปั้น โดยทั้งห้านิ้วมือสะท้อนหลักการ 5 ข้อ เป็นการสรุปรวบยอดความคิดจากบทเรียนและประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาเหล่านี้ที่หนุนช่วยประชาชนที่เดือดร้อนจากโครงการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติโดยรัฐและเอกชนตลอดสิบปีมานี้
แนวทางการเคลื่อนไหวเพื่อให้บรรลุหลักการกำปั้นทั้ง 5 ข้อคือ การร่วมกับประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกกลุ่ม ยุติความขัดแย้งกันเองในหมู่ประชาชน สามัคคีกันไปเผชิญกับปัญหาเฉพาะหน้าคือ ความไม่เป็นประชาธิปไตย ไร้สิทธิมนุษยชน ปราศจากความยุติธรรม กีดกันประชาชนออกไปจากกระบวนการทางการเมือง และใช้ความรุนแรงกับประชาชน
การสามัคคีประชาชนทุกหมู่เหล่าภายใต้แนวทาง “ยกเลิกขั้ว สลายสี” ดังกล่าว เป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งในภาวะการณ์ปัจจุบัน เพราะความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในหมู่ประชาชนที่ยาวนานนี้ ยังร้าวลึกไปด้วยความทรงจำและเจ็บช้ำในอดีต แต่ก็เป็นภารกิจเดียวที่ผู้ที่ต้องการประชาธิปไตยในวันนี้จะต้องฝ่าฟันไปให้จงได้
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เรียกร้องให้ปล่อยตัวนิสิตนักศึกษาทั้ง 14 คนในช่วงปลายมิถุนายน-ต้นกรกฎาคนที่ผ่านมาก็มี “สัญญาณเริ่มต้น” ของการ “ยกเลิกขั้ว สลายสี” ดังกล่าวอย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้ว่า นี่เป็นครั้งแรกนับแต่รัฐประหาร 2557 ที่ได้เกิดการเคลื่อนไหวร่วมมือประสานกันอย่างเป็นไปเองจากประชาชน 5 กลุ่ม จนอาจกล่าวได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นของ “แม่น้ำ 5 สาย” ของขบวนการประชาธิปไตยใหม่
แม่น้ำสายหนึ่งคือ นักเรียนนิสิตนักศึกษา ซึ่งมีหัวหอกสำคัญคือ นักศึกษามหาวิทยาลัยภูธรร่วมกับนิสิตนักศึกษากรุงเทพฯ จำนวนหนึ่ง ปัจจุบันยังมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับนักเรียนนักศึกษาทั้งหมด แต่ก็เป็นกลุ่มที่เต็มไปด้วยอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยอันร้อนแรง มีจิตใจเข้มแข็ง ทุ่มเทเสียสละและเอาการเอางานที่สุด
แต่เราไม่สามารถนำพวกเขาไปเปรียบเทียบกับขบวนการนิสิตนักศึกษายุค 2516-19 ได้ด้วยปริบททางการเมืองและสังคมที่แตกต่างกัน ในเวลานั้น นิสิตนักศึกษาได้รับอิทธิพลทางความคิดจากลัทธิสังคมนิยม เคลื่อนไหวในปริบทที่พวกจารีตนิยมเข้มแข็งและได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจสากลที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ยุคสงครามเย็น ส่วนรูปแบบการเคลื่อนไหวคือ การชุมนุมเดินขบวนแสดงกำลังในประเด็นการเมืองต่าง ๆ
ขบวนนิสิตนักศึกษาในวันนี้พัฒนาและเคลื่อนไหวในปริบทที่พวกจารีตนิยมได้เข้าสู่สภาวะเสื่อมโทรม โดดเดี่ยวและถูกต่อต้านจากนานาชาติ การเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาในปัจจุบันจึงได้รับการสนับสนุนจากโลกเสรีประชาธิปไตย แต่อุปสรรคสำคัญของนิสิตนักศึกษาในปัจจุบันกลับเป็นความเฉื่อยเนือยและมึนชาของนิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่อันเป็นผลจากการครอบงำทางความคิดจากผู้ปกครองมายาวนาน ภารกิจเฉพาะหน้าของนิสิตนักศึกษาที่เป็นกองหน้าในวันนี้จึงเป็นการไปสัมพันธ์กับ “มวลชน” ซึ่งประกอบด้วยสองส่วนคือ “มวลชน” ประชาชนที่เคลื่อนไหวในเรื่องสิทธิและความเป็นธรรมเฉพาะของตน และ “มวลชน” นิสิตนักศึกษาทั่วไป ให้พวกเขาตื่นตัว สนับสนุน และร่วมการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย
แม่น้ำสายที่สองคือ อาจารย์นักวิชาการ ทั้งในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เป็นกลุ่มคนที่มีสถานะเฉพาะในสังคมไทย พวกเขามี “พื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น” ที่เปิดกว้างยิ่งกว่าประชาชนทั่วไป ที่ผ่านมา อาจารย์นักวิชาการก็มีสภาพคล้ายคลึงกับนิสิตนักศึกษาส่วนข้างมากคือ ถูกจำกัดบทบาททางความคิด เกิดความเฉื่อยชาทางการเมือง กระทั่งบางส่วนกลายเป็นผู้สนับสนุนและรับใช้พวกอำนาจนิยมอย่างสุดตัว
แต่รัฐประหาร 2557 นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่กระตุ้นให้นิสิตนักศึกษาและอาจารย์นักวิชาการจำนวนมากขึ้นมองเห็นปัญหาที่แท้จริงของระบอบปกครองไทย และเกิดการตื่นตัวทางประชาธิปไตยอย่างชัดเจน จนกล่าวได้ว่า ในการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ปล่อยตัว 14 นักศึกษาที่ผ่านมานั้น นิสิตนักศึกษาและอาจารย์นักวิชาการเป็นกองหน้าในการเรียกร้องต่อผู้ปกครองอย่างชัดเจน
แม่น้ำสายที่สามคือ นักคิด นักเขียน กวี นักแปล ศิลปิน สื่อมวลชน ซึ่งจำนวนมากได้แสดงท่าทีปฏิเสธรัฐประหาร 2557 มาก่อนแล้ว และในครั้งนี้ ก็สามารถรวมตัวกันเคลื่อนไหวสนับสนุนนิสิตนักศึกษา ประสานกับอาจารย์นักวิชาการได้อย่างมีพลังเป็นครั้งแรก
แม่น้ำสายที่สี่คือ ประชาชนทั้งรากหญ้าในชนบทและคนชั้นกลางในเมือง มวลชนที่สนับสนุนนักศึกษาแม้จะยังมีจำนวนน้อย แต่ก็เป็นกลุ่มที่ได้สะสมประสบการณ์และบทเรียนในการเรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรมมายาวนาน ทั้งประชาชนในชนบทที่ถูกกระทบจากโครงการทรัพยากรของรัฐและเอกชนโดยเคลื่อนไหวร่วมกับนิสิตนักศึกษาภูธรมาก่อน และก็มีมวลชนชั้นกลางในเมืองที่เป็นอดีตคนเสื้อแดงกลุ่มที่ปฏิเสธนิรโทษกรรมเหมาเข่ง
แม่น้ำสายที่ห้าคือ องค์กรพัฒนาเอกชนที่เคลื่อนไหวหนุนช่วยประชาชนชนบทที่ถูกกระทบจากโครงการทรัพยากรของรัฐและเอกชนมายาวนาน แม้ว่าในระยะ 20 ปีมานี้ องค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนมากได้รับการเลี้ยงดูอย่างอิ่มหมีพีมันผ่านงบประมาณของรัฐ จนกลายเป็นหางเครื่องสนับสนุนเผด็จการอำนาจนิยมมาโดยตลอด แต่ก็ยังมีองค์กรพัฒนาเอกชนอีกจำนวนหนึ่งที่มิได้ตกลงไปในเครือข่ายจารีตนิยมและยังคงเคลื่อนไหวหนุนช่วยประชาชนในประเด็นสิทธิและความเป็นธรรม พวกเขาปฏิเสธรัฐประหาร 2557 ที่ทำให้การละเมิดสิทธิของประชาชนยิ่งเลวร้าย รัฐประหารได้ทำให้สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยกลายเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของพวกเขาในการหนุนช่วยประชาชนในพื้นที่
ข้อสังเกตคือ ผู้คนที่ประกอบเป็น “แม่น้ำห้าสาย” ดังกล่าว มีพื้นภูมิหลังทางการเมืองก่อนรัฐประหาร 2557 ที่แตกต่างกันอย่างมาก กระทั่งเคยขัดแย้งต่อสู้กันเอง มีทั้งอดีตที่เคยสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย และก็มีอดีตคนเสื้อแดงที่เคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทย รวมทั้งมวลชนที่มิได้สนใจปัญหาการเมืองระดับประเทศมาก่อน
รัฐประหาร 2557 นับเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองที่สำคัญ เพราะได้ทำให้ผู้คนเหล่านี้ ทั้งนิสิตนักศึกษา อาจารย์นักวิชาการ นักคิดนักเขียน นักแปล กวี ศิลปิน สื่อมวลชน ประชาชน และองค์กรพัฒนาเอกชน ที่มีพื้นภูมิหลังทางการเมืองที่เคยแตกต่างและขัดแย้งกัน บัดนี้ ได้ยุติความขัดแย้ง ยอมรับความแตกต่าง ร่วมมือสามัคคี เคลื่อนไหวหนุนช่วยซึ่งกันและกันในการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น