วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2558

1 ธ.ค.นัดพิพากษาคดี 112 ‘ชาญวิทย์’ มือแจกใบปลิว


อดีตซ้ายเก่าสูงวัย ถูกคุมขังจากคดีปาระเบิดลานจอดรถศาลอาญา ทำให้คดี 112 เก่าถูกรื้อฟื้นอีกครั้งหลังหลบหนีหลายปี เหตุไปแจกใบปลิวเข้าข่ายหมิ่นเมื่อปี 2550 เจ้าตัวรับคิดเอง ทำเอง แจกเอง ยันทำหน้าที่พลเมืองที่ต้องวิเคราะห์สังคมช่วงเปลี่ยนผ่าน
เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2558  ที่ศาลจังหวัดนนทบุรี มีการสืบพยาน คดีที่พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรีเป็นโจทก์ฟ้อง นายชาญวิทย์ (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรมวัย 60 ปีเป็นจำเลยในคดีความผิดตามมาตรา 112 จากกรณีแจกใบปลิวจำนวน 5 หน้าในที่ชุมนุม เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2550 การสืบพยานเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 ก.ย. โดยวันที่ 15 ก.ย.เป็นการสืบพยานโจทก์ ส่วน 16 ก.ย.เป็นการสืบพยานจำเลย ซึ่งได้แก่ตัวจำเลยเอง และสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ  อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 1 ธ.ค.2558 เวลา 9.00 น.
ชาญวิทย์ เบิกความว่าในอดีตเขาเรียนคณะเทคนิคการแพทย์ ม.เชียงใหม่ แต่ไม่จบการศึกษา เนื่อกจากเป็นโรคเครียด จึงออกจากการศึกษาแล้วพบแพทย์รักษาตัวขณะอยู่ปี 3 ในพ.ศ.2518 เขาสนใจการเมืองมาโดยตลอด และเคยทำงานเป็นที่ปรึกษาพรรคการเมืองหนึ่งอยู่ในคณะทำงานแก้ปัญหาภาคใต้เมื่อหลายปีก่อน อย่างไรก็ตาม หลังรัฐประหาร 2549 เขาได้ทำการวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน และทำเอกสารใบปลิวดังกล่าวแจกจ่ายจริง เนื่องจากต้องการให้เจตนารมณ์ของคณะราษฎรเกิดขึ้นจริง นั่นคือ ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
เขายังเบิกความในกรณีที่อัยการฟ้องว่าใบปลิวดังกล่าวกระทำการหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช และสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา โดยเขาระบุว่า เขากระทำการประเมินและวิจารณ์ตามหลักวิทยาศาสตร์สังคมและโหราศาสตร์ที่ศึกษามา และไม่เห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาท แต่เป็นการทำให้สถาบันมั่นคงขึ้นดังเช่นโมเดลของประเทศญี่ปุ่น โดยข้อมูลบางส่วนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการหมิ่นประมาทนั้นนำมาจากเอกสารที่ได้จากงานศพ พ.ท.ณรงค์เดช นันทโพธิ์เดช และการรวบรวมจากที่อื่นๆ
“ผมอ่านทุกอย่าง กฎหมายทุกฉบับที่ผ่านสภา ผมมีในห้องของผมทั้งหมด” เขากล่าวในตอนหนึ่ง
ชาญวิทย์ยังต่อสู้ในประเด็นองค์รัชทายาทนั้นครอบคลุมถึงพระองค์ใดบ้างด้วย โดยเขาระบุว่า ตามกฎหมายมาตรา 112 คุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท ซึ่งตามมณเฑียรบาลนั้นกำหนดให้องค์รัชทายาทเป็นชายเท่านั้น จึงไม่ครอบคลุมถึงสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา
ส่วนกรณีที่เขาได้รับการประกันตัวแล้วไม่มารายงานตัวตามนัดหมายของศาลในปี 2551 นั้น เขาระบุเหตุผลว่าเป็นเพราะหลังจากประกันตัวเขาได้ไปแสดงความเห็นในงานเสวนาแล้วถูกนายชวน หลีกภัย ซึ่งมอบหมายให้นายเทพไท เสนพงศ์ ไปแจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 112 กับเขาและตำรวจได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการประกันตัวเขา ทำให้เขาใช้สำนึกแห่งความเป็นธรรมส่วนตัวตัดสินใจไม่ไปฟังคำสั่งศาลว่าจะถอนประกันหรือไม่ โดยคิดว่าคดีนี้เป็นคดีทางความคิดและต้องการให้เวลาเป็นตัวพิสูจน์ว่าสถานการณ์ต่างๆ ที่เขาทำการประเมินนั้นเป็นจริงหรือไม่
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เบิกความในฐานะพยานจำเลยถึงประเด็นองค์รัชทายาทว่า ตามกฎมณเฑียลบาลและการประกาศในพระราชกิจนุเบกษาเมื่อปี 2515 นั้นพระบาทสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเป็นองค์รัชทายาทเพียงพระองค์เดียว และตามพระราชประเพณียังไม่มีปรากฏขัตติยนารีเป็นองค์รัชทายาท
นอกจากนี้เขายังกล่าวถึงประวัติศาสตร์กฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า เริ่มมีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่โทษไม่หนักเท่าปัจจุบันและโดยมากไม่ถูกหยิบมาใช้ลงโทษประชาชน มีแต่เพียงโทษเล็กน้อยให้หลาบจำ แต่น่าแปลกที่มีการปรับโทษให้หนักขึ้นในปี 2520 ในสมัยรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งเป็นรัฐบาลเผด็จการและอยู่ในบริบทหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์ จึงคิดใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตาม มาตรานี้เป็นการคุ้มครองสถานะ ตำแหน่งประมุขของรัฐ มิได้คุ้มครองในลักษณะบุคคล 
ภายหลังเสร็จสิ้นการสืบพยาน เพื่อนของชาญวิทย์ซึ่งมาร่วมฟังการพิจารณาคดีด้วยกล่าวว่า เป็นเพื่อนกับชาญวิทย์ตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา ชาญวิทย์สนใจศึกษาทั้งการเมือง สังคม ศาสนา ปรัชญา วิทยาศาสตร์ ชาญวิทย์เรียนไม่จบและเข้าร่วมกับขบวนนักศึกษา โดยเข้าป่าบริเวณจังหวัด แพร่-น่าน ร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในช่วงปี 2520-2524 ก่อนหน้าเข้าป่าในปี 2520 ชาญวิทย์ถูกจับและคุมขังในเรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ด้วยคดีมีอาวุธปืนสั้นไว้ในครอบครอง จำคุกอยู่ 7 เดือน เหตุที่ชาญวิทย์มีปืนสั้นเนื่องจากเขาทำงานกับบรรดาแกนนำชาวนา ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวมีการสังหารแกนนำชาวนา ชาวไร่และนักเคลื่อนไหวจำนวนมาก จึงต้องมีไว้ป้องกันตัว จากนั้นมาชาญวิทย์ก็ร่วมเคลื่อนไหวกับขบวนสหภาพแรงงาน และมักแจกใบปลิวเพื่อเผยแพร่แนวคิดต่างๆ ในประเด็นต่างๆ เป็นประจำ
“การแจกใบปลิวเป็นปฏิบัติการทางการเมืองอย่างหนึ่ง” จำเลยกล่าว
“จุดประสงค์ของผมก็คือ ประเมินสถานการณ์ในช่วงเปลี่ยนผ่านเท่านั้น”  จำเลยกล่าว
“ผมเป็นพลเมืองผมจึงต้องนำเสนอแนวคิดต่อสังคม ไม่อาจนั่งเฉยๆ” จำเลยกล่าว
“ไม่เป็นไร ข้างนอกกับข้างในก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่ ต่างแค่ขนาดของกรง” จำเลยกล่าวกับผู้ใกล้ชิดเมื่อถามถึงสภาพการคุมขัง
ทั้งนี้ คดี 112 ดังกล่าวเป็นคดีตั้งแต่ปี 2550 และเขาเพิ่งถูกนำตัวมาขึ้นศาลอีกครั้งในปี 2558 หลังจากไม่ยอมมาตามนัดหมายของศาล เหตุที่ถูกนำตัวมาดำเนินคดีต่อในปีนี้เนื่องจากเขาถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 9 มี.ค.2558 จากอีกคดีหนึ่ง นั่นคือ ร่วมวางแผนปาระเบิดลานจอดรถศาลอาญา เหตุเกิดเมื่อ 7 มี.ค.2558 ตำรวจจับกุมเขาและกล่าวหาว่าเขามีส่วนร่วมด้วยเนื่องจากเขาไปเป็นวิทยากรให้กับกลุ่มประชาชนในจังหวัดขอนแก่นก่อนหน้านั้น เจ้าหน้าที่กล่าวหาการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมวางแผนเตรียมการ ขณะที่เขายืนยันว่าเป็นเพียงกลุ่มศึกษาการเมืองซึ่งเขาได้ชวนสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน นักกิจกรรมสูงวัยที่มีอาชีพขับแท็กซี่ไปเป็นวิทยกรด้วย และภายหลังเกิดเหตุ ตัวเขา สรรเสริญ และผู้ประสานงาน รวมถึงวิทยากรอื่นๆ ในงานเสวนาดังกล่าวก็ถูกจับกุมและคุมขังไปด้วยจนถึงปัจจุบัน รวมเวลาราว 6 เดือน บางส่วนมีรายงานการถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายขณะสอบสวนด้วย หลายคนยื่นประกันตัวแต่ไม่สามารถประกันตัวได้ ขณะนี้กำลังพิจารณาคดีอยู่ในศาลทหาร แม้จำเลยทั้งหมดจะถูกคุมขังมาแล้ว 6 เดือนแต่ศาลทหารยังไม่มีการนัดหมายสืบพยานแต่อย่างใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น