คดี ณัฐ สัตยาภรณ์พิสุทธิ์ ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ไม่รายงานตัว ศาลอุทธรณ์สั่งปรับเท่านั้น
กางเกงขาสั้น รองเท้าแตะ แปรงสีฟันที่ณัฐใส่ถุงเตรียมมาศาลด้วย
เพราะคาดว่าจะต้องเข้าเรือนจำอีกครั้ง
17 ก.ย. 2558 ที่ศาลแขวงดุสิต ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดี ณัฐ สัตยาภรณ์พิสุทธิ์ ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ไม่รายงานตัว โดยสั่งปรับ 4,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ ลดโทษเหลือกึ่งหนึ่งเป็นปรับ 2,000 บาท ส่วนโทษจำคุก 2 เดือน 20 วัน จำเลยรับสารภาพ ลดโทษเหลือกึ่งหนึ่ง 1 เดือน 10 วันนั้น ศาลสั่งยกตามมาตรา 55 ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 55 ถ้าโทษจำคุกที่ผู้กระทำความผิดจะต้องรับมีกำหนด เวลาเพียงสามเดือนหรือน้อยกว่า ศาลจะกำหนดโทษจำคุกให้น้อยลงอีกก็ได้ หรือถ้าโทษจำคุกที่ผู้กระทำความผิดจะต้องรับมีกำหนดเวลาเพียงสามเดือน หรือน้อยกว่าและมีโทษปรับด้วย ศาลจะกำหนดโทษจำคุกให้น้อยลง หรือจะ ยกโทษจำคุกเสีย คงให้ปรับแต่อย่างเดียวก็ได้
ทั้งนี้ ในศาลชั้นต้นศาลลงโทษจำคุก 1 เดือน 10 วันเท่านั้นไม่มีโทษปรับ จำเลยอยู่เรือนจำ 5 วันก่อนได้ประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์ 40,000 บาท จากนั้นอัยการอุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษปรับด้วย
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ระบุว่า คดีการเมือง คดีเสรีภาพลักษณะนี้ถือว่าคดีนี้เป็นคดีแรกที่ศาลใช้มาตรา 55 มาตรานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อยกเว้นโทษในคดีความผิดเล็กน้อย เช่น คดีจราจร ส่วนเหตุที่ศาลใช้มาตรานี้เพราะณัฐเคยถูกจำคุกมาก่อนในคดี 112 ตามกฎหมายอาญาซึ่งศาลไม่สามารถรอลงการลงโทษได้เหมือนคดีอื่นๆ
"นี่เป็นสัญญาณที่ดีที่ศาลพยายามหาช่องทางเพื่อไม่สั่งจำคุกจำเลยคดีนี้" ยิ่งชีพกล่าว
ด้านณัฐให้สัมภาษณ์ว่า "ตอนแรกทำใจ เตรียมใจแล้ว เตรียมกางเกงขาสั้น รองเท้าแตะมาด้วย แต่กลับเป็นว่าศาลเห็นใจ ผมก็ประหลาดใจอยู่"
เมื่อถามว่าจะทำอะไรต่อ "คงต้องโทรบอกทหารว่าไม่ติดคุก ตอนแรกไปบอกเขาว่าติดคุก ช่วงหลังมานี่เขาติดต่อเรื่อยๆ ตั้งแต่กรกฎาคม สิงหา บอกว่าถ้าจะออกนอกประเทศแจ้งเขาด้วย ก่อนหน้านี้นึกว่าไม่มีอะไรแล้ว ไม่ต้องติดต่อกันแล้วกับทหาร"
ทั้งนี้ คดีของณัฐพิจารณาที่ศาลพลเรือน เนื่องจากความผิดของณัฐนับว่าเกิดขึ้นก่อนวันที่ 25 พ.ค. ที่ คสช.จะประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีของพลเรือน คดีของณัฐจึงเป็นคดีไม่มารายงานตัวคดีแรกที่พิจารณาที่ศาลพลเรือน
ชื่อของเขาอยู่ในคำสั่งเรียกรายงานตัวของคสช. ฉบับที่ 5/2557 วันที่ 24 พ.ค.2557 ต่อมาเขาถูกจับกุมที่บ้านพักในเวลาราว 1.00 น.ของวันที่ 7 มิ.ย.57 จากนั้นถูกคุมตัวอยู่ในค่ายทหาร 7 วันก่อนจะปล่อยตัวและแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าว
ณัฐเป็นอดีตผู้ต้องโทษในคดี 112 ในปี 2552 เขาถูกตัดสินจำคุก 9 ปีจากกรณีส่งอีเมลเข้าข่ายหมิ่นให้นายอีมิลิโอ เอสเทแบน (Emilio Esteban) ชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ที่สเปน แต่เนื่องจากรับสารภาพ โทษจำคุกจึงเหลือ 3 ปี 18 เดือน จากนั้นระหว่างถูกคุมขังเขาได้รับการลดโทษจากการพระราชทานอภัยโทษทั่วไปในวาระพิเศษต่างๆ รวมถึงเป็นนักโทษชั้นดีที่ได้รับลดวันต้องโทษ ทำให้เขาได้รับการปล่อยตัวเร็วกว่ากำหนด วันที่ 19 เม.ย.2555 รวมระยะถูกคุมขัง 2 ปี 4 เดือน จากนั้นก็ออกมารับจ้างเป็นล่าม และทำธุรกิจทางอินเทอร์เน็ต รวมทั้งเป็นลูกจ้างตามร้านขายของ
ณัฐเคยให้ข้อมูลกับหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนว่า ในระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวนั้น เขาถูกใช้ผ้าปิดตาและควบคุมตัวในบ้านหลังหนึ่งคาดว่าในค่ายทหาร มีการสอบสวนหลายครั้งนอกรอบ แต่ในการสอบสวนอย่างเป็นทางการซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน คำถามหลักที่เจ้าหน้าที่ต้องการทราบคือเรื่องการสนับสนุนเงินแก่นักโทษการเมือง และการรวมตัวกันของอดีตผู้ต้องขังคดี 112 ที่มักไปพบปะกันตามงานต่างๆ แล้วถ่ายรูปร่วมกันสร้างความไม่พอใจกับหน่วยงานความมั่นคง แต่เขาระบุว่าเป็นความสัมพันธ์ส่วนตัวหลังจากรู้จักกันในเรือนจำและไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองแต่อย่างใด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น