วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2558

จาตุรนต์เสนอ ‘สูตร3-3, 3-2’ ย่นเวลาร่างรธน.


18 ก.ย. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมา จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘Chaturon Chaisang’ เสนอปรับเวลาโรดแมปร่างรัฐธรรมนูญใช้สูตร 3-3, 3-2 โดยระบุว่า เป็นเรื่องดีที่มีความคิดว่าจะย่นระยะเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญให้สั้นเข้า ความจริงการร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ในครั้งนี้สังคมไทยก็ได้เรียนรู้พอสมควรแล้วว่าเรื่องอะไรพอรับกันได้และเรื่องอะไรรับไม่ได้ จึงไม่ใช่การมานับหนึ่งกันใหม่ แต่สามารถรวบรวมเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญที่เคยมีมาแล้วคัดเลือก ส่วนที่เป็นมาตรฐานกับส่วนที่คิดว่าคนส่วนใหญ่น่าจะรับได้ออกมาเสียก่อน ส่วนประเด็นยากๆ คือ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากๆ ก็รวบรวมเข้าแล้วก็เปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางสักรอบสองรอบ ก็น่าจะตัดสินใจกันได้ในเวลาสั้นๆ 3 เดือนก็น่าจะเกินพอ
จาตุรนต์ กล่าวว่า ขั้นตอนต่อๆ ไปก็ยังสามารถย่นย่อได้อีกทั้งนั้น ขั้นตอนการลงประชามติเหลือสัก 3 เดือน ร่างกฎหมายลูกหลายฉบับสามารถหาทีมงานร่างไว้ตั้งแต่ตอนนี้เลย พอได้รัฐธรรมนูญก็นำมาพิจารณา ใช้เวลา 3 เดือนก็พอ ส่วนขั้นตอนสุดท้าย คือ เตรียมการเลือกตั้งก็ไม่จำเป็นต้องใช้เวลานานถึง 4 เดือน เพราะปรกติการเลือกตั้งที่รู้กำหนดเวลาล่วงหน้า ใช้เวลา 30 - 45 วันก็ยังได้ ถ้าจะให้เวลานานเป็นพิเศษก็ไม่ควรเกิน 2 เดือน
“6-4 6-4 จึงสามารถเปลี่ยนเป็น 3-3 3-3 หรือ 3-3 3-2 ก็พอ ใช้เวลารวมทั้งหมดก็จะประมาณ 11 เดือนหรือ 1 ปีเท่านั้น” จาตุรนต์ กล่าว
จาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า การเปลี่ยนระยะเวลาของโรดแมปนี้ยังไม่อาจแก้ปัญหาได้จริง เพราะโรดแมปนี้เป็นแบบเปิดปลาย เนื่องจากเมื่อมีการลงประชามติก็ย่อมหมายความว่าร่างรัฐธรรมนูญอาจผ่านความเห็นชอบของประชาชนหรือไม่ผ่านก็ได้ และถ้าไม่ผ่านกระบวนการทั้งหมดก็จะถูกยืดออกไป ดังนั้น สิ่งที่ควรทำนอกเหนือจากการให้ร่างรัฐธรรมนูญกันในเวลาที่สั้นลงและแก้โรดแมปทั้งหมดเสียใหม่แล้ว ยังควรกำหนดเสียให้ชัดเจนว่า ถ้าลงประชามติไม่ผ่านจะทำอย่างไร ซึ่งก็คือ มีทางเลือกให้ประชาชนเลือกในการลงประชามติ ไม่ใช่ให้เลือกระหว่างร่างของกรรมาธิการกับการร่างกันใหม่อีกไม่รู้จักจบเท่านั้น
“หากไม่ผ่านการลงประชามติก็ควรนำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาใช้ไปก่อนเพื่อให้มีการเลือกตั้งและมีการบริหารประเทศไปได้ แล้วก็กำหนดให้มีการเลือกสสร. มาร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่โดยประชาชนจริงๆ แนวโน้มคงต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเกี่ยวกับเงื่อนไขในการลงประชามติอยู่แล้ว ก็น่าจะนำประเด็นเหล่านี้ไปรวมแก้เสียด้วยในคราวเดียวกันเลย” จาตุรนต์ เสนอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น