วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2558

‘ลูกเกด-การ์ตูน NDM’ เล่ารัฐประหารครั้งแรก ชี้บทเรียน 9 ปี ไม่ใช่ทางออกการเมือง


18 ก.ย. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ New Democracy Movement – NDM’ เผยแพรวิดีโอคลิปสัมภาษณ์ ชนกนันท์ รวมทรัพย์ หรือ ‘การ์ตูน’ อายุ 24 ปี และ ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือ ‘ลูกเกด’ อายุ 22 ปี สอสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เล่าถึงประสบการณ์ที่ตนเองรับรู้ในเหตุการณ์การรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 พร้อมจุดเปลี่ยนทางความคิด  
ชนกนันท์ เล่าถึงเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 49 ว่า ขณะนั้นอยู่ ม.2 ซึ่งตอนมีความสนใจการเมืองอยู่ เนื่องจากทางบ้านมีญาติลงการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์ จังหวัดนนทบุรี ทำให้ตนสนใจการเมืองตั้งแต่เด็ก แต่ก็ไม่ได้รับรู้การเมืองของอีกฝ่าย
ทางบ้านและตนไปชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ขณะที่ในบ้านก็ไม่ค่อยพูดประเด็นทางการเมืองกัน โดยใช้ชีวิตเหมือนกับครอบครัวปกติทั่วไป
สำหรับเหตุผลที่ทราบถึงเหตุการณ์การรัฐประหารนั้น ชนกนันท์ กล่าวว่า ทราบจากที่มีการหยุดเรียน และดีใจที่ได้หยุด พร้อมทั้งเห็นภาพข่าวที่ออกมาว่ามีรถทหารมาประจำอยู่กรุงเทพฯ และมีคนคอยแจดอกไม้ให้ ซึ่งขณะนั้นทำให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องดีเพราะมองว่าเป็นการขับไล่คนโกงออกไป  
สำหรับการเปลี่ยนความคิด ชนกนันท์ กล่าวว่า มีจุดเปลี่ยน 2 จุด โดยจุดแรกคือตอนที่ได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนที่อเมริกา ได้พบเห็นการที่ทุกคนมีสิทธิมีเสียง อยากคิดอะไรก็คิด อยากพูดอะไรก็พูด ทำให้เรารู้สึกว่าได้เสรีภาพมากกว่าตอนที่อยู่ในประเทศไทย ส่วนจุดเปลี่ยนที่สองคือเมื่อได้เข้าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อได้เข้ามาในมหาวิทยาลัย อาจารย์จะโยนคำถามมาเพื่อให้ตนไปหาคำตอบเอง ซึ่งตอนนั้นมันทำให้ตนได้ไปหาอะไรหลายอย่างที่ตนไม่เคยอ่านมาก่อน
“ตอนนี้รู้สึกว่ามันไม่ถูกต้อง เพราะว่าการรัฐประหาร มันเป็นการยึดอำนาจโดยไม่ชอบ” ชนกนันท์ กล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่ ชลธิชา เล่าว่าเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 49 นั้น ตนอยู่ ม.ต้น ใช้ชีวิตเหมือนเด็กทั่วไป โดยที่พ่อของตนเป็นทหาร วันที่มีการรัฐประหารนั้น พ่อตนไม่ได้กลับบ้าน จึงเกิดความกังวลว่าพ่อตนจะเป็นอะไรหรือไม่ เพราะไม่ได้กลับบ้านมาหลายวันมาก แต่ท้ายที่สุดเมื่อเห็นภาพผ่านโทรทัศน์ที่มีประชาชนจำนวนหนึ่งออกมายื่นดอกไม้ให้กำลังใจกับทหารก็ได้แต่ตั้งข้อสงสัยกับตัวเองว่าทำไมมีประชาชนจำนวนหนึ่งที่ออกมาสนับสนุนรัฐประหาร
สำหรับเหตุการณ์ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดนั้น ชลธิชา เล่าว่าเป็นเหตุการณ์ปี 53 ทำให้ตนสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ทำไมถึงมีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และด้วยความเป็นเด็กขณะนั้นเดินผ่านร้ายหนังสื่อได้เห็นภาพจากหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งเป็นภาพประชาชนที่ถูกทำร้ายและนอนตายอยู่ในกรุงเทพฯ โดยสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกหดหู่คือ ทำไมสังคมไทยกลับถึงยอมรับเรื่องของการใช้ความรุนแรง ได้อย่างน่าตาเฉยภายในสังคมนี้ ทั้งๆ ที่มีคนจำนวนมากที่สูญเสียจากตรงนั้น
“เราเห็นภาพความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้น เห็นความขัดแย้งปี 49 ปี 50 ปี 53 ต่างๆ จนกระทั่งมาถึงรัฐประหารปี 57 ที่ผ่านมา ระยะเวลา 9 ปีช่วงตรงนี้มันทำให้เราเรียนรู้อย่างหนึ่งก็คือว่าบทเรียนสำคัญคือรัฐประหารมันไม่ใช่วิถีทางในการแก้ปัญหาทางการเมือง มันเป็นบทเรียนสำคัญอย่างหนึ่งที่คิดว่าสังคมไทยควรที่จะเรียนรู้ ควรที่จะตระหนักและปฏิเสธระบอบเผด็จการระบอบรัฐประหารแบบเดิมๆ ได้แล้ว” ชลธิชา กล่าว
โดยตอนท้ายของวิดีโอคลิปดังกล่าวมีข้อความ “ร่วมลุกขึ้นประกาศอิสรภาพจากระบอบเผด็จการทหาร วันที่ 19 เดือนกันยา 58 เวลา 13.00 – 16.00 น. จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มุ่งหน้าสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น