วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

พล.อ.ประยุทธ์บอก "ผมเป็นรัฐท่านเป็นประชาชน" มุ่งทำ'ประชารัฐ'แทน'ประชานิยม'

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในงาน "สานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก" เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่ผ่านมา (ที่มาของภาพ: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)
21 ก.ย. 2558 - เว็บไซต์รัฐบาลไทย รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 

พล.อ.ประยุทธ์ลั่นจะลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ให้คนถูกชักจูงง่ายๆ มุ่งทำ "ประชารัฐ" ไม่ใช่ประชานิยม ตามที่เนื้อเพลงชาติระบุ - ด้านสมคิดไล่สื่อนอกไปเรียนใหม่ หลังออกบทวิเคราะห์ให้สมคิดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกระตุ้น GDP แทนอัดฉีดลงฐานราก - ขณะที่ นพ.ประเวศงัด "สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา" ชวนทุกฝ่ายออกจากหลุมดำ
เวลา 09.30 น. ณ ฮอลล์ 9 อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดเวทีจุดประกาย "สานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก" โดยระบุว่า เพื่อประกาศการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นการรวมพลังระหว่างภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐในการทำงานพัฒนาอย่างยั่งยืน และจะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และสร้างความเชื่อมั่นประเทศไทย
ทั้งนี้ มีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี อิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานจัดงาน รวมทั้ง นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสัมมาชีพ และที่ปรึกษากรรมการการจัดงานฯ พร้อมด้วยผู้นำภาคธุรกิจ ผู้ทรงคุณวุฒิและเครือข่ายภาคประชาสังคม หน่วยงานส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมงานประกาศเจตนารมณ์ กว่า 5,000 คน
จะไม่ทำประชานิยม เพราะประชานิยมทำให้ประชาชนนิยมภาครัฐ
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายการประสานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยสรุปความว่า วันนี้เป็นวันแห่งความสดใส ดีใจที่เห็นทุกคนมีรอยยิ้ม หน้าตามีความสุข วันนี้เรามาร่วมมือกันในการสร้างสรรค์ สร้างพลังเพื่อทำความดีให้ประเทศชาติ ไม่ใช่เพื่อตนเอง หรือข้าราชการ แต่ทำเพื่อประชาชนทุกคน ซึ่งไม่ใช่เป็นการทำประชานิยม เพราะประชานิยมเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความนิยมต่อภาครัฐ โดยรัฐบาลนี้เป็นความร่วมมือของรัฐบาลกับประชาชนในการแก้ไขปัญหา
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ผมเป็นรัฐท่านเป็นประชาชนมาสัญญาร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนประเทศชาติให้เจริญเติบโตไปข้างหน้า ขณะเดียวกันประเทศต้องเริ่มสร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ฐานรากขึ้นมา วันนี้เราจะต้องร่วมมือกันทำให้เกิดความชัดเจนระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชาชน และท้องถิ่น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจฐานราก ตลอดจนการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงการบริการของรัฐ และกระบวนการทางกฎหมายต่างๆ ทั้งนี้ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือเป็นสิ่งสำคัญที่เราทุกคนต้องยึดถือไว้ รวมทั้งต้องมีความรู้คู่คุณธรรม โดยเฉพาะผู้ปกครองที่เข้ามาบริหารบ้านเมืองจะต้องมีคุณธรรม ศีลธรรม มีหลักธรรมาภิบาล ซึ่งประชาชนเองก็จะต้องมีศีลธรรม
จะลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้คนไม่ถูกชักจูงง่ายๆ เพลงชาติบอกเป็นประชารัฐไม่ใช่ประชานิยม
รัฐบาลพยายามทำทุกอย่างให้เกิดความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้สังคมมีความมั่นคง และความสงบสุข สิ่งที่สำคัญเราจะต้องสร้างความเข้มแข็งไปด้วยกัน และเตรียมความพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน ขณะที่ความรู้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญและมีความจำเป็นเพื่อให้ทุกคนมีความเข้าใจอย่างถูกต้อง ไม่ถูกชักจูงไปง่าย ๆ อันจะทำให้เกิดความแตกแยกในประเทศ อย่างไรก็ตามประเทศชาติไม่ใช่ของตน หรือของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของคนทั้ง 70 ล้านคน ที่เรียกว่า “ประชารัฐ” หากฟังเพลงชาติไทยผู้ประพันธ์ได้เขียนไว้อย่างชัดเจนว่าประเทศไทย เป็นประชารัฐ ไม่มีคำว่าประชานิยม ประชารัฐหมายถึงประชาชนกับรัฐบาล ร่วมกัน รัฐบาลจะเป็นผู้ที่อำนวยความสะดวก เปิดช่องทางให้เอกชน ประชาชน เข้ามาร่วมมือกันตามกระบวนการประชาธิปไตย
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า รัฐบาลนี้มีความห่วงใยทุกคน และมีความตั้งใจที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาบ้านเมือง และสร้างความเข้มแข็งในชุมชุมท้องถิ่นให้ได้ โดยรัฐบาลจะส่งเสริมทางด้านการตลาด ซึ่งมีแนวคิดที่จะเปิดตลาดกลางเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกษตรกรมีการเชื่อมต่อและเจอกับผู้ค้าโดยตรง เป็นการสร้างเครือข่ายในท้องถิ่น และสร้างความสมดุลของราคาสินค้า โดยจะต้องมีการพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ ตลอดจนการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางแห่งภูมิภาคอาเซียน
นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้เราต้องพึ่งพลังประชาชน ต้องมีหัวใจที่ทุ่มเท ถ้ารัฐทำดีก็ต้องส่งเสริม เพราะรัฐทำเพื่อคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งประเทศไทยเราเป็นรัฐหนึ่งรัฐเดียวแยกจากกันไม่ได้ ทั้ง นิตินัย และพฤตินัย ต้องเท่าเทียมกัน มีการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรให้ทั่วถึงทุกภูมิภาค ที่สำคัญวันนี้เราต้องเปิดมุมมองใหม่เปิดตาให้กว้างและฟังในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ที่จะร่วมมือขับเคลื่อนประเทศไปให้ได้ ต้องฟังและคิดว่าใครอยากให้ประเทศเดินหน้า ทั้งนี้ รัฐบาลยินดีช่วยเหลือทุกอย่าง แต่ทุกคนจะต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วนด้วย
การเมืองประชาธิปไตย รัฐบาลต้องมาจากการเลือกตั้ง-ธรรมมาภิบาล
นายกรัฐมนตรีกล่าวตอนท้ายว่า การเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ต้องแก้ด้วยการมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีธรรมาธิบาล ซึ่งการเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์​ต้องไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่สร้างปัญหาความขัดแย้ง และความแตกแยก โดยจะต้องสร้างความปลอดภัยให้กับประเทศ และสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเรื่องเหล่านี้ไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง หรือเพียงแค่หน่วยงานรัฐบาล และข้าราชการเท่านั้น แต่ต้องขอความร่วมมือจากคนไทยทุกคน หากเรารวมพลังและสร้างความเข้าใจ ปัญหาทั้งหมดก็สามารถแก้ไขได้อย่างแน่นอน เพื่อร่วมกันทำให้บ้านเมืองเกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป
สมคิดย้ำรัฐบาลพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานราก ส่วนนักวิเคราะห์ต่างชาติที่ค้าน ขอให้กลับไปเรียนใหม่
ด้านสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กล่าวในฐานะตัวแทนจากภาครัฐบาลว่า สิ่งที่อยู่ในใจ พล.อ.ประยุทธ์ คือต้องการให้ประเทศไทยไม่มีการทะเลาะแบ่งสีเสื้อ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเองก็มีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศ และมีความต้องการให้ประชาชนเข้าใจว่าทำไมตนต้องเข้ามาทำหน้าที่นี้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้อยากจะมา แต่ถ้าวันนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง บ้านเมืองก็จะไม่สงบ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความต้องการให้บ้านเมืองเกิดความสงบ วันนี้รัฐบาลประกาศเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่าจะต้องสร้างเศรษฐกิจรากฐานให้มั่นคง เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศไทยยืนได้ด้วยสองขาของตัวเอง ซึ่งประกอบด้วยประชาชน และความสามารถในการผลิตของประเทศ ในฐานะของรัฐบาล ตัวเขาสามารถออกนโยบายได้ แต่รู้ว่าถ้าภาครัฐพยายามครอบงำวงจรฐานล่าง ก็จะไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้เมื่อพิจารณาดีๆ แล้วจะพบว่าทั้ง 3 ภาคส่วนนั้นล้วนมีจุดแข็งแตกต่างกันไป แต่ก็มีข้อจำกัด ซึ่งจุดมุ่งหมายก็คือว่า ทำอย่างไรให้ทั้ง 3 ภาคส่วนเชื่อมโยงกัน ซึ่งส่วนนี้ก็จะต้องมีกลไกที่ทำให้ทั้ง 3 ภาคส่วนมีความร่วมมือกันในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก
"เมื่อวันที่เราประกาศนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ได้มีนักวิเคราะห์ชาวต่างชาติ เขียนว่าการใช้นโยบายนี้ไม่ได้เป็นการช่วยเศรษฐกิจจริงๆ แต่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างหากที่ค่า GDP ถึงจะได้ก้าวกระโดด จึงขอฝากสื่อมวลชนบอกนักวิเคราะห์ท่านนั้นว่ากลับไปเรียนเสียใหม่ ท่านยังมีความรู้เรื่องสภาพสังคมไทยไม่พอ ” นายสมคิด กล่าว
อย่างไรก็ดีนายสมคิด กล่าวอีกว่า ทั้งเขาและนายกรัฐมนตรีมีเวลาไม่มากในการดำเนินงาน ไม่ได้มีความคิดที่จะเล่นการเมืองในอนาคต ขอให้ไว้ใจว่าถ้าตนยังมีแรงอยู่จะทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจรากฐานให้ได้โดยปราศจากความคิดถึงอนาคตทางการเมือง ซึ่งอนาคตของตนที่มองเห็นก็คือภาพของตัวเองเล่นอยู่เล่นกับหลานๆ อย่างมีความสุข เห็นสังคมมีความสามัคคี
เกษียรบอกคำว่า "ประชารัฐ" ในเนื้อเพลงชาติ เดิมเขียนว่า "ประชาธิปไตย"
อนึ่ง ต่อกรณีปาฐกถาของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว เกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ในเฟซบุ๊คเพจของตน ระบุว่า "ที่มาของ "ประชารัฐ" ในเพลงชาติไทย คือมาเบียดขับปรับแก้ต้นฉบับเดิมว่า "ประชาธิปไตย" ออกไปจากเพลงชาติจ้า!"
ทั้งนี้บทประกวดเพลงชาติของหลวงสารานุประพันธ์ ส่งในนามกองทัพบกไทยในสมัยนั้น ขึ้นต้นว่า "ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชาธิปไตยของไทยทุกส่วน" อย่างไรก็ตามเนื้อหาของเพลงชาติไทยตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2482 สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ใช้เนื้อร้องแทนว่า "ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐไผทของไทยทุกส่วน" แทน
นพ.ประเวศงัด "สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา" ชวนออกจากหลุมดำใหญ่ 6 ด้าน
ในงานสัมมนาเดียวกัน ในช่วงเสวนาหัวข้อ “ยุทธศาสตร์สานพลังประชารัฐ เพื่อเศรษฐกิจฐานราก” มี นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสัมมาชีพ และที่ปรึกษากรรมการการจัดงานฯ เป็นองค์ปาฐก โดยในรายงานของเอเอสทีวี ผู้จัดการรายวัน นพ.ประเวศ ได้กล่าวว่า เป็นวันฤกษ์ดีที่คนไทยมารวมตัวกัน เป็นวันประวัติศาสตร์เพื่อดึงประเทศไทยให้ออกจากวิกฤตการณ์ และไม่สามารถออกจากหลุมได้ ซึ่งหลุมดำวิกฤตประเทศไทยมี 6 ประการ คือ 1. การเมือง 2. เศรษฐกิจ 3. สังคม 4. สิ่งแวดล้อม 5. ศีลธรรม และ 6. การพัฒนาคุณภาพคน
วิกฤตการณ์ทั้ง 6 อย่างนี้ มีความเชื่อมโยงกัน จนทำให้เกิดหลุมดำใหญ่ และประเทศไทยไม่สามารถหลุดออกจากตรงนี้ได้ ไม่มีรัฐบาลใดสามารถนำประเทศหลุดออกจากวิกฤตการณ์ตรงนี้ได้โดยลำพัง และเกิดสภาพคนเหมือนไก่ จิกตีกันจนเลือดตกยางออก
ดังนั้นเราต้องมีหลักคิดในกระบวนทัศน์ใหม่ เพื่อพัฒนาประเทศ เพราะกระบวนทัศน์เก่าไม่สามารถใช้ได้ เนื่องจากเป็นกระบวนทัศน์เก่า ทำจากบนลงล่าง โดยยึดรูปแบบเจดีย์ โดยที่ผ่านมา อย่างเรื่องเศรษฐกิจ ก็จะทำตั้งแต่ด้านบน การศึกษา การเมือง โครงสร้างทั้งพระเจดีย์ ปิรามิด เพื่อฐานความมั่นคงแข็งแรง แล้วจะรองรับให้ด้านบนมั่นคง และรองรับประเทศได้ ตรงจุดนี้ถือว่าสำคัญ ซึ่งจากการประกาศของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นกระบวนทัศน์ใหม่โดยการทำจากล่างขึ้นบน โดยเป็นการสร้างฐานรากความเข้มแข็งของประเทศ โดยเปลี่ยนจากเดิมที่มักทำจากบนลงล่าง
ที่ผ่านมามีการดำเนินการมาแล้วหลายอย่าง ทั้งด้านเศรษฐกิจ กองทุนต่างๆ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ หมออนามัย ที่มาร่วมงานในครั้งนี้ หลายหมื่นคน มีการทำงานมานานแล้ว และเกิดผู้นำท้องถิ่นหลายแสนคน หลายร้อยตำบล เป็นตำบลสุขภาวะ ความดีเป็นเครดิตสามารถใช้กู้เงินได้ อย่างที่ อ.พาน จ.เชียงราย มีธนาคารความดี สะสมความดี
นพ.ประเวศ กล่าวว่า อย่างที่นายสมคิด ประกาศกระบวนทัศน์ใหม่นั้น ที่ต่างไปจากเดิม และเมื่อรัฐบาลจะสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจฐานราก แล้วนำมาเชื่อมโยงกับประชาชน ที่มีการทำงานอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นโอกาสดีของประเทศไทยที่จะทำงานในเรื่องนี้ทั้งกว่า 8 หมื่นหมู่บ้าน 8,000 ตำบล 77 จังหวัด สามารถทำได้อย่างเต็มที่ โดยมีกลไกต่างๆ ควบคุมดูแล ในการขับเคลื่อนชุมชนทุกระดับ เป็นการสร้างความเข้มแข็งเต็มพื้นที่ทั้งประเทศ โดยจะไม่มีการแบ่งสีแบ่งพวก แต่เป็นการรวมตัวทุกภาคส่วนช่วยกันขับเคลื่อนประเทศ
สำหรับหัวใจการสร้างเศรษฐกิจฐานราก คือ การสร้างสัมมาชีพ กับสร้างวิสาหกิจชุมชนให้เต็มพื้นที่ข้างล่าง โดยการทำสิ่งต่างๆ 8 ข้อ อาทิเช่น 1. เรื่องเกษตรยั่งยืน 2. ผลิตสิ่งสินค้าที่จำเป็นและสินค้าวัฒนธรรมของชุมชน 3. สร้างการท่องเที่ยวชุมชนทุกตำบล 4. พลังงานชุมชน 5. เรื่องธนาคารต้นไม้ 6. การแพทย์แผนไทยและสมุนไพร 7. มีสถาบันการเงินระดับชุมชนทุกตำบล 8. โยงเศรษฐกิจชุมชนกับมหภาคให้เชื่อมโยงกัน
นพ.ประเวศ กล่าวด้วยว่า สำหรับสามเหลี่ยมเขยื้อนประเทศไทย ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน โดยมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่วิสาหกิจชุมชน โดยมีฐานรากเศรษฐกิจที่มั่นคงแข็งแรง และเชื่อว่าในอีก 10 ปี ข้างหน้าหรือปี 2568 ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น