วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ยิ่งลักษณ์ออกจม.ถึงประยุทธ์ ขอหลักประกันแห่งความยุติธรรม ปมจำนำข้าว



        12 ต.ค. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘Yingluck Shinawatra’ ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมาตรี ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และนายกรัฐมนตรี ขอหลักประกันแห่งความยุติธรรม
โดยมีรายละเอียดดังนี้
        ดิฉันขอใช้โอกาสนี้ ทำจดหมายเปิดผนึกถึงท่าน เพราะดิฉันไม่มีโอกาสได้พบและติดต่อใด ๆ กับท่านมานับแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ท่านได้เข้ามาเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเวลากว่า 1 ปีเศษแล้ว ในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว ดิฉันได้ถูกดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ทั้งที่เป็นการดำเนินนโยบายสาธารณะที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภา เกี่ยวกับ “นโยบายรับจำนำข้าว” ดังนี้


  • 1. สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ดำเนินการถอดถอนดิฉันออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้ง ๆ ที่ ตำแหน่งดังกล่าวไม่มีอยู่และรัฐธรรมนูญได้สิ้นสุดลงแล้ว
  • 2. มีการแถลงสั่งฟ้องคดีดิฉันต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก่อนหน้าที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะมีมติถอดถอนดิฉัน เพียง 1 ชั่วโมง
         ทั้ง 2 กรณี ท่านอาจจะกล่าวได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับท่านโดยตรง เพราะเป็นเรื่องของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อัยการสูงสุด และของศาลที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม แต่สิ่งที่ดิฉันจะกล่าวต่อไปนี้ล้วนเกี่ยวกับตัวท่านโดยตรงทั้งสิ้น คือ

         การดำเนินการให้มีการเรียกร้องค่าเสียหายทางคดีแพ่งต่อการดำเนินนโยบายรับจำนำข้าว ที่ท่านออกคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 448/2558 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2558 และท่านยืนยันว่า “ผิดก็ว่าไปตามผิด ถูกก็ว่าไปตามถูก หากผิดก็มีกลไกอยู่แล้ว เรื่องการเรียกร้องค่าเสียหายทางคดีแพ่ง และยืนยันใช้มาตรฐานเดียวกับทุกพวกทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ”

       ดิฉันคาดหวังว่า ท่านคงต้องให้นโยบายต่อคณะกรรมการฯ ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยไม่ละเลยประเด็น “ความยุติธรรม” ตามกลไกของระเบียบที่มีอยู่อย่างไม่เร่งรีบและไม่รวบรัด ให้โอกาสผู้เกี่ยวข้องโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานอย่างเพียงพอและเป็นธรรม
       ตามที่ปรากฏต่อสาธารณะโดยทั่วไปว่าฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลของท่าน มีความหนักใจที่รัฐต้องฟ้องเรียกค่าเสียหายซึ่งต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมศาลเป็นจำนวนมาก แต่ในอดีตที่ผ่านมาถือได้ว่า “ศาล” เป็น “กลไกตามกระบวนการยุติธรรม” เพื่อการเรียกร้องค่าเสียหายในคดีแพ่ง ซึ่งต้องใช้สิทธิทางศาลโดยสุจริต
        แต่ฝ่ายกฎหมายของท่านกลับ “พลิกมุมกฎหมายและกลไก” ในการเรียกค่าเสียหายใหม่ โดยหากพบว่ามีความผิด รัฐจะไม่ฟ้อง แต่ใช้วิธีให้ท่านออกคำสั่งทางปกครอง (โดยไม่ต้องเข้าคณะรัฐมนตรี) สั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องชำระหนี้เหมือนคำสั่งยึดทรัพย์ เพียงเพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมในการฟ้องเรียกค่าเสียหายที่จะต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมศาล ซึ่งเท่ากับว่าท่านได้ใช้อำนาจหน้าที่ของท่านเสมือนหนึ่งเป็นคำพิพากษาของศาล เป็นกลไกในการชี้ถูกผิดว่าจะให้ผู้ใดรับผิดชอบในค่าเสียหายต่อการดำเนินนโยบาย รับจำนำข้าว ทั้งที่การพิจารณาคดีของศาลในคดีอาญายังไม่เสร็จสิ้น
         ดิฉัน เห็นว่าเรื่องที่ดิฉันกล่าวมาทั้งหมดเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องระหว่างตัวของดิฉันในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรีผู้เคยดูแลการแก้ปัญหาสินค้าข้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศ เพื่อให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิผลเป็นประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม มีกลไกบริหารนโยบาย คือ คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ซึ่งในปัจจุบัน คือ คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว โดยมีท่านเป็นประธาน
         อย่างไรก็ตามที่ดิฉันเสนอว่าควรให้ศาลเป็นผู้พิจารณานั้น เพราะดิฉันเห็นว่า ทุกคนควรได้รับ “หลักประกันแห่งความยุติธรรม” ที่จำต้องมี เพราะการดำเนินนโยบายโครงการรับจำนำข้าวเป็นการกระทำทางการบริหารตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญที่มีผลผูกพันกับส่วนราชการหลายส่วนที่ต้องปฏิบัติงาน ดังนั้น เพื่อความโปร่งใสและคงไว้ซึ่งความเป็นกลาง ท่านในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่มีตำแหน่งเป็น “ประธานกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว และในฐานะนายกรัฐมนตรี” ที่ต้องรับผิดชอบในการแก้ปัญหาในเรื่องข้าวในขณะนี้ ซึ่งอาจเห็นแตกต่างกันในเชิงนโยบายและกลไกในการบริหารนโยบายในเรื่องข้าวในอดีต ที่ในสมัยรัฐบาลดิฉันได้ดำเนินนโยบายดังกล่าวไป จึงมิใช่ “ผู้ที่เป็นกลาง” แต่เป็น “ผู้มีส่วนได้เสีย” เพราะเห็นต่างกันในนโยบายการแก้ปัญหาในเรื่องข้าว ดังนั้นการใช้อำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นผู้ตัดสินความถูกผิดโดยการใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีลงนามในคำสั่งทางปกครองเพื่อสั่งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดชำระค่าเสียหาย ทั้ง ๆ ที่ศาลยังไม่มีคำตัดสิน ถือเป็นการขัดต่อ “หลักนิติธรรม” อย่างยิ่ง

         ดิฉันจึงเห็นว่าเพื่อให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม ดิฉันขอให้ท่านควรจะได้มีการดำเนินการดังนี้

  • 1. พิจารณาทบทวน และยุติการดำเนินการใด ๆ ที่ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลเสนอ และดำเนินการให้ท่านใช้อำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรี และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าวในปัจจุบัน ลงนามทำคำสั่งทางปกครองใดๆ อันขัดต่อหลักความเป็นกลาง และเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อมีคำสั่งให้บุคคลใดชำระหนี้ค่าเสียหาย อันเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายโครงการรับจำนำข้าว ที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา แทนการพิจารณาและพิพากษาคดีของศาล
  • 2. ภายหลังการสอบสวนโดยกระบวนการสอบสวนที่ถูกต้องตามระเบียบ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เสร็จสิ้น หากพบความเสียหาย รัฐเองควรให้หน่วยงานของรัฐฟ้องคดีต่อศาล เพื่อแสดงให้เห็นว่าท่านมีความยุติธรรมและเที่ยงธรรมต่อทุกคนที่ถูกกล่าวหา
  • 3. การพิจารณาคดีอาญาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังไม่เสร็จสิ้น และอายุความในคดียังเหลือเวลาอีกนาน ตามที่ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลแถลง จึงไม่ควรเร่งรีบ รวบรัด ในการทำสำนวนการตรวจสอบความรับผิดทางละเมิด ควรให้โอกาสผู้เกี่ยวข้องหรือผู้เสียหายได้ชี้แจงข้อเท็จจริง และโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนอย่างเพียงพอ และเป็นธรรมต่อดิฉัน ซึ่งดิฉันได้มีหนังสือหลายฉบับมายังท่านและคณะกรรมการฯ แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณาและไม่แจ้งเหตุ ซึ่งท่านสามารถตรวจสอบความมีอยู่จริงของหนังสือนั้นได้
        ทั้งนี้ดิฉันได้มอบหมายให้ทนายความไปยื่นหนังสือถึงท่านในวันอังคารที่ 13 ตุลาคม 2558 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล และหวังว่าเมื่อท่านได้รับหนังสือแล้ว ท่านคงจะไม่เพิกเฉย และจะได้พิจารณาด้วยความเป็นธรรม เพราะท่านได้ยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น