วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ราชทัณฑ์เสียงแข็งไม่ให้เข้าดูคุก มทบ.11 – เอ็นจีโอเผย 3 จังหวัดใต้ยังเข้าได้


2 ธ.ค.2558  พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ มูลนิธิได้รับจดหมายตอบกลับจากกรมราชทัณฑ์ กรณีที่ทางมูลนิธิทำหนังสือแจ้งความประสงค์ขอเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำชั่วคราว มณฑลทหารบกที่ 11 (เรือนจำชั่วคราว แขวงถนนนครไชยศรี) หนังสือดังกล่าวลงนามโดยนายวิทยา สุริยะวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ลงวันที่ 30 พ.ย.2558 ระบุว่าไม่อนุญาตตามที่มูลนิธิฯ ร้องขอเนื่องจากผู้ต้องขังที่อยู่ที่นั่นเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงของประเทศและอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ประกอบกับทางมูลนิธิไม่มีกิจเกี่ยวข้องหรือรู้จักเป็นญาติมิตรกับผู้ต้องขัง
พรเพ็ญกล่าวว่า วัตถุประสงค์ที่ทำเรื่องขอเข้าเยี่ยมเพราะที่ผ่านมามีผู้ถูกควบคุมตัวที่เสียชีวิตที่นั่นสองราย คิดว่าการตรวจเยี่ยมสถานที่คุมขังและขอพบคนที่ถูกควบคุมตัวจะทำให้ได้รับทราบว่าพวกเขาได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานหรือไม่ ซึ่งเป็นหลักทั่วไปของคนที่ถูกจับ แม้แต่ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ซึ่งผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวไว้ในความดูแลของทหาร ทางมูลนิธิฯ ก็ยังสามารถเข้าเยี่ยมได้
“ในสามจังหวัดภาคใต้ก็ยังสามารถไปเยี่ยมคนที่ถูกทหารควบคุมตัวได้ แม้กระทั่งประกาศกฎอัยการศึกก็ยังไปได้ ระยะแรกๆ ของการเกิดเหตุความรุนแรงหรือประกาศกฎอัยการศึกใหม่ๆ หน่วยงานจะจำกัดสิทธิแบบนี้ แล้วก็เกิดข้อกล่าวหาการซ้อมทรมาน การละเมิดสิทธิผู้ต้องหา เราจึงเสนอให้มีการตรวจเยี่ยม ญาติต้องเยี่ยมได้อย่างเปิดเผยตั้งแต่วันแรก กี่โมงถึงกี่โมงก็ว่าไป ทางราชการก็ปรับตัวและมีระเบียบออกมารองรับ เราคิดว่าถ้าเราไปเยี่ยมพูดคุย เราจะสามารถเสนอแนะป้องกันเหตุละเมิดที่อาจเกิดขึ้น ที่ผ่านมาไม่เคยมีหน่วยงานไหนปฏิเสธ ถ้าจะมีบ้างก็เพียงการผัดผ่อน อีกสามชั่วโมง อีกชั่วโมง หรือวันนี้ไม่ได้ พรุ่งนี้ค่อยมาใหม่ แต่ไม่เคยได้รับจดหมายปฏิเสธแบบนี้” พรเพ็ญกล่าว
พรเพ็ญกล่าวถึงการให้เหตุผลของกรมราชทัณฑ์ด้วยว่า ในภาคใต้หลายครั้งทางมูลนิธิขอเข้าเยี่ยมก็ได้เข้า โดยเข้าไปกับญาติด้วย แต่บังเอิญว่ากรณีเรือนจำใน มทบ.11 นั้น ทางมูลนิธิไม่ได้รู้จักญาติผู้ต้องขังจึงไม่สามารถติดต่อได้
“จริงๆ น่าจะให้โอกาสพิสูจน์เรื่องความโปร่งใส ควรมีระเบียบในเรื่องนี้ ตอนนี้เราเองก็รอบทบาทของกรรมการสิทธิฯ อยู่ เมื่อไหร่จะมาดู เราทำงานใกล้ชิดกับกรรมการสิทธิและคิดว่าควรเข้ามาดูได้แล้ว” พรเพ็ญกล่าวและว่าขณะนี้กำลังปรึกษากันภายในองค์กรว่าจะทำอย่างไรต่อไป อาจเป็นการขอเข้าพบอธิบดีกรมราชทัณฑ์เพื่อหารือในการทำงานร่วมกัน
“ในเมื่อราชทัณฑ์มารับหน้าเสื่อ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบทางกฎหมาย ถึงแม้จะเป็นสถานที่ทหาร แต่เขารับรองว่าเป็นเรือนจำของราชทัณฑ์ ดังนั้นก็ควรเปิดเผย โปร่งใส หรือราชทัณฑ์อาจจะไม่ได้ควบคุมดูแลเองหรือเปล่า ทำให้ไม่สามารถเปิดโอกาสเข้าไปดูได้ หรือกำลังพัฒนาปรับปรุงอยู่หรือเปล่า ยิ่งตอนนี้มีผู้ต้องหาเข้าไปเพิ่มเติมด้วย ยิ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องโปร่งใส” พรเพ็ญกล่าว  
เธอกล่าวอีกว่า ในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว หลังการรัฐประหาร สหประชาชาติได้เคยให้ข้อเสนอแนะให้ไทยปรับใช้เรื่องการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัว ไทยเองก็รับปากแล้วด้วยว่าจะลงนามในพิธีสารว่าด้วยการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัว ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับย่อยของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน
“ไม่อยากให้ราชทัณฑ์ถอยหลังเข้าคลอง เพราะส่วนหนึ่งพัฒนาจนได้มาตรฐานสิทธิมนุษยชนแล้ว แต่พอเจอเรื่องเรือนจำพิเศษ มทบ.11 มาตรฐานราชทัณฑ์ก็ตกต่ำลง แทนที่เราจะมีหน้ามีตาในการทำ Bangkok Rules ซึ่งเป็นเรื่องพัฒนาการควบคุมผู้ต้องขังที่เป็นสตรีที่ได้รับการยอมรับในเวทีสากล เป็นบวกกับการพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย" พรเพ็ญกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น