วันพุธที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ส่องปฏิกิริยาหลัง 'ฝ่ายการ นศ.มธ.' แถลงขอให้นักศึกษา หยุดเคลื่อนไหวทางการเมือง


‘ยุกติ’ ขออย่าตกต่ำไปกว่านี้อีกเลยธรรมศาสตร์ 'รณกรณ์' แนะควรทบทวน ชี้การแสดงความคิดเห็นโดยสงบปราศจากความรุนแรงไม่เป็นอุปสรรคต่อการปรองดอง และประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยการแสดงออกเป็นสิ่งจำเป็น รัฐมีหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัยทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน 'อุเชนทร์' อัดแถลงการณ์ไม่ได้สนใจ “อุดมการณ์ธรรมศาสตร์”
9 ธ.ค.2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์กองกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการเผยแพร่ แถลงการณ์ฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรณีนักศึกษาธรรมศาสตร์เคลื่อนไหวทางการเมืองภายนอกมหาวิทยาลัย โดยมีรายละเอียดดังนี้
สืบเนื่องจากปรากฏการณ์ที่มีนักศึกษาธรรมศาสตร์ได้มีการแสดงออกทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบที่อ้างถึงเสรีภาพในการแสดงออกตามหลักประชาธิปไตยสากล โดยปราศจากมุมมองที่รอบด้านในบริบทประเทศไทย ปัจจุบันที่กำลังอยู่ในช่วงการปฏิรูปเปลี่ยนผ่านและต้องการสร้างความปรองดองนั้น ฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่าการใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวที่กระทำในนามนักศึกษาธรรมศาสตร์ เป็นการมุ่งทำให้การบริหารการบริหาราชการแผ่นดินไม่เป็นไปโดยมั่นคงราบรื่น อีกทั้งกลุ่มผู้ร่วมเคลื่อนไหวทั้งหมดไม่ใช่นักศึกษาธรรมศาสตร์หรือไม่ได้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แต่ประการใดจึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสังคมว่าเป็นความคิดเห็นของประชาคมธรรมศาสตร์ส่วนใหญ่อันประกอบด้วยอาจารย์ เจ้าหน้าที่ ศิษย์เก่าและนักศึกษาธรรมศาสตร์ และอาจสมประโยชน์กลุ่มการเมืองบางกลุ่มที่ไม่ประสงค์ดีต่อประเทศชาติ รวมอาจส่งผลกระทบถึงภาพลักษณ์ที่ดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือนำไปสู่ความขัดแย้งของสังคมในวงกว้างและทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อนักศึกษาธรรมศาสตร์ได้ ฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงมีความเห็นว่า
(1) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ปิดกั้นการแสดงออกของนักศึกษาที่มีความแตกต่างหลากหลาย บนพื้นฐานของศีลธรรมอันดีและเป็นไปโดยบริสุทธิ์ใจเพื่อประโยชน์ของประชาชน
(2) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ส่งเสริมการใช้เสรีภาพอย่างรับผิดชอบและคำนึงถึงผลกระทบต่อส่วนรวมอย่างรอบด้านทั้งระยะสั้นและระยะยาว
(3) ฝ่ายการนักศึกษามีความห่วงใยสวัสดิภาพและความปลอดภัยของนักศึกษาทุกคนจึงขอเรียกร้องให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ที่เคลื่อนไหวดังกล่าวหยุดการกิจกรรมนอกมหาวิทยาลัยที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือกระทบต่อความปลอดภัยของนักศึกษาธรรมศาสตร์ และหันมาใช้แนวทางสมานฉันท์อย่างสร้างสรรค์เพื่อร่วมเสนอแนะทางออกแก่ประเทศชาติภายใต้สภาวะวิกฤตินี้และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยศาสตร์ยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์เดิมของธรรมศาสตร์ที่ผ่านการพิสูจน์แล้วตลอดมาทุกยุคทุกสมัยและมีความปรารถนาที่จะเห็นสังคมที่เป็นธรรมประชาชนมีโอกาสเท่าเทียมและอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยเร็ววัน
ฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
9 ธันวาคม 2558

ยุกติ มุกดาวิจิตร : อย่าตกต่ำไปกว่านี้อีกเลยธรรมศาสตร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาธรรมศาสตร์ เขียนถึงแถลงการณ์ดังกล่าวโดยเผยแพร่ผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ชาติพันธุ์นิพนธ์’ ดังนี้
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
1. ถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ นี้แสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยกำลังผลักไสให้นักศึกษาต้องแสดงออกนอกกรอบความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมีส่วนในการให้การศึกษา อบรมบ่มนักศึกษาเหล่านี้มา ย่อมมีอิทธิพลของปรัชญา ความคิด การแสดงออก ตามแนวทางการให้การศึกษาของมหาวิทยาลัย แม้ว่าจะเป็นแนวทางที่อาจจะไม่สบจริตของผู้บริหารปัจจุบันก็ตาม มหาวิทยาลัยย่อมมีส่วนรับผิดชอบต่อการแสดงออกของนักศึกษาและอดีตนักศึกษา
ในแง่นี้ มหาวิทยาลัยควรภาคภูมิใจด้วยซ้ำไปว่า ได้ผลิตนักศึกษาให้แสดงออกอย่างสันติ บนพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน อีกทั้งยังเป็นการตระหนักถึงการแสดงบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมที่นักศึกษาอาศัยอยู่ กิจกรรมของนักศึกษากลุ่มนี้ย่อมสมควรได้รับการชื่นชม และส่งเสริมให้นักศึกษากลุ่มอื่น ๆ แสดงออกให้มากยิ่งขึ้นด้วยซ้ำ
2. ถ้อยแถลงเช่นนี้ยิ่งผลักให้นักศึกษาต้องเสี่ยงต่อการถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่และประชาชนที่ไม่เห็นด้วยโดยลำพัง แทนที่จะห้ามปรามตักเตือนเจ้าหน้าที่รัฐให้เคารพสิทธิการแสดงออกโดยสันติ และตักเตือนทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนที่ไม่เห็นด้วยให้หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่แสดงออกอย่างสันติ มหาวิทยาลัยกลับทักท้วงการแสดงออกอย่างสันติของนักศึกษาธรรมศาสตร์เสียเองราวกับว่าการแสดงออกของนักศึกษาและศิษย์เก่าเป็นความผิดพลาด
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองไม่ใช่หรือที่ให้การศึกษาแก่สังคมไทยว่า การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างโดยสันติ เป็นวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่ควรได้รับการยอมรับและยกย่องส่งเสริม หากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองกลับไม่ยอมรับการแสดงออกเช่นนี้เสียเองและไม่ได้มีท่าทีทักท้วงการคุกคามจำกัดการแสดงออกของเจ้าหน้าที่รัฐเสียเองแล้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยังให้การศึกษาเรื่องประชาธิปไตยแก่ประชาชนต่อไปได้อย่างไร
3. ถ้อยแถลงนี้มีเนื้อหาแสดงท่าทีเอนเอียงสนับสนุนคณะรัฐประหาร ถ้อยคำไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูป ความสมานฉันท์ การปรองดอง ล้วนเป็นถ้อยคำที่มองข้ามปัญหาของกระบวนการทางการเมืองในประเทศไทยขณะนี้ ที่ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ขาดการยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่มีแม้กระทั่งเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสันติ
การที่ถ้อยแถลงของมหาวิทยาลัยแสดงท่าทีสนับสนุนคณะรัฐประหาร นอกจากจะไม่ส่งเสริมประชาธิปไตย การแสดงออกโดยสงบ สันติ และเปิดเผยแล้ว ยังกลับส่อแสดงว่ามหาวิทยาลัยกำลังส่งเสริมการใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญในการรัฐประหาร ส่งเสริมการใช้อำนาจกักขังหน่วงเหนี่ยวประชาชนของคณะรัฐประหาร ซึ่งขัดกับปรัชญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมหลักสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง
ในฐานะอาจารย์ธรรมศาสตร์คนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับถ้อยแถลงของฝ่ายการฯ นี้ได้ ถือว่าผู้บริหารกำลังนำมหาวิทยาลัยสู่ความตกต่ำอีกครั้งหนึ่ง ได้แต่หวังเพียงว่าสาธารณชนจะไม่เข้าใจผิดคิดไปว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังขัดขวางการตรวจสอบการทุจริตอย่างบริสุทธิ์ใจของนักศึกษาและประชาชนกลุ่มหนึ่ง หรือไกลกว่านั้นคือผู้บริหารกำลังปกป้องอำนาจที่ค้ำจุนอำนาจของตนอย่างหน้ามืดตามัว
รณกรณ์ บุญมี : ขอให้มีการทบทวน
ขณะที่ รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ ตั้งข้อสังเกตต่อแถลงการณ์ฉบับดังกล่าว ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Ronnakorn Bunmee’ โดยโพสต์ในลักษณะสาธารณะ เรียกร้องให้มีการทบทวนในรายละเอียดด้วย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ด้วยความเคารพต่อองค์กรและท่านที่เกี่ยวข้องกับแถลงการณ์ฉบับนี้
ผมเชื่อว่ามุมมอง และจุดยืนของฝ่ายการตามแถลงการณ์นี้เป็นสิ่งที่ควรจะทบทวนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากบริบทของสังคมในปัจจุบัน รวมทั้งจุดยืนทางประวัติของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในฐานะสมาชิกของประชาคมธรรมศาสตร์และสังคมไทย ผมเห็นว่าแถลงการณ์นี้มีข้อที่ควรพิจารณาทบทวนดังนี้
1. การที่บริบทของประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อสร้างความปรองดองนั้น ไม่เป็นอุปสรรคหรือข้อขัดแย้งใดๆ ในการที่ประชาชนจะแสดงความคิดเห็นโดยสงบและไม่มีการใช้ความรุนแรง จากประสบการณ์ในหลายประเทศที่เปลี่ยนผ่านประเทศจากความขัดแย้งจนเข้าสู่ความปรองดองด้วยความสำเร็จนั้น การรับฟังอย่างอดทนเพื่อให้เกิดความปรองดองเป็นองค์ประกอบที่จะขาดเสียไม่ได้
โดยเฉพาะถ้าการแสดงความคิดเห็นหรือการแสดงออกนั้นเป็นไปเพื่อการตรวจสอบการทุจริตที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นไปในเชิงเนื้อหาหรือเชิงสัญลักษณ์ก็ตาม และไม่ว่าคนที่แสดงความเห็นจะเป็นคนที่มีความคิดฝักใฝ่ฝ่ายใดก็ตาม เพราะนี้คือเรื่องของรัฐกับประชาชน ไม่ใช่เรื่องระหว่างเหลืองกับแดง และรัฐควรต้องอดทนเพื่อให้เกิดการยอมรับและปรองดองจากทุกฝ่าย
แน่นอนว่าข้อโต้แย้งนี้จะไร้ความหมายไปในทันทีถ้าแท้จริงแล้วบริบทของสังคมไทยในปัจจุบันไม่ใช่บริบทแห่งการเปลี่ยนผ่านและปรองดองแต่เป็นบริบทของการปราบปรามความเห็นต่างและการตรวจสอบ อันอาจจะเปิดช่องไปสู่การใช้อำนาจโดยไม่ถูกต้องและการทุจริตได้
2. ในฐานที่ประชาชนเป็นผู้ทรงสิทธิแห่งรัฐ เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย อันเป็นพื้นฐานของความเป็นรัฐ ไม่ได้เป็นวัตถุสิ่งของภายใต้การใช้อำนาจของรัฐ การแสดงออกของประชาชนจึงเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นถ้าการแสดงออกที่ไม่ได้ใช้กำลังนี้จะนำไปสู่การใช้กำลังจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ย่อมเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ด้วยการควบคุมฝ่ายที่จะใช้กำลังไม่ใช่ควบคุมฝ่ายที่แสดงความคิดเห็น
เช่นเดียวกันกับฝ่ายการนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ควรจะต้องส่งเสริมการแสดงออกที่ไม่ใช้ความรุนแรง หาใช่กังวลกับอันตรายต่อนักศึกษาจนเรียกร้องให้หยุดแสดงความคิดเห็น
ด้วยความเคารพและคาดหวังว่าฝ่ายการนักศึกษาจะได้ทบทวนแถลงการณ์ดังกล่าว
อุเชนทร์ เชียงเสน : อัดแถลงการณ์ไม่ได้สนใจ “อุดมการณ์ธรรมศาสตร์”
อุเชนทร์ เชียงเสน ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ต่อกรณีการออกแถลงการณ์ดังกล่าวด้วยว่า
โดยปกติ เวลาพูดอะไรมักจะหลีกเลี่ยงการอ้างการเป็น “คนธรรมศาสตร์” และ/หรือ “ประชาคมธรรมศาสตร์” เพราะคนอื่นที่เขาไม่มีส่วนร่วม จะหมั่นไส้เอา ซึ่งจริงๆ หลายครั้งที่มีคนอ้าง ก็น่าหมั่นไส้จริง รวมทั้งแถลงการณ์ที่จะกล่าวถึงข้างล่าง
แต่เห็น “แถลงการณ์ฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรณีนักศึกษาธรรมศาสตร์เคลื่อนไหวทางการเมืองภายนอกมหาวิทยาลัย” แล้วก็อดไม่ได้ ทั้งในฐานะศิษย์เก่าคนหนึ่ง และคนทำหน้าที่สอนหนังสือ ที่จะตั้งคำถามและมีความเห็นในเรื่องนี้
1. เนื้อหาแถลงการณ์ เห็นได้ชัดว่า ผู้เขียนไม่ได้สนใจ “อุดมการณ์ธรรมศาสตร์” ที่อ้างในตอนท้ายเลย รวมทั้งไม่ได้แสดงถึงความห่วงใยต่อสวัสดิภาพของนักศึกษาอย่างจริงจัง มากไปกว่า “ความมั่นคงราบรื่น” ของคณะรัฐประหาร คำถามคือ ในฐานะฝ่ายการนักศึกษา สิ่งใดคือ ความสำคัญในอันดับแรกของการทำหน้าที่ของตนเอง
2. การเคลื่อนไหวทางการเมืองในธรรมศาสตร์ เป็นเรื่องปกติมาก จนกลายเป็นเรื่องชีวิตประจำวัน และมหาวิทยาลัยเองก็ควรจะเปิดกว้างกับการเคลื่อนไหวของฝ่ายต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมาอาจจะมีผิดปกติอยู่บ้างตรงที่ ผู้บริหาร/ผู้อำนาจในมหาวิทยาลัย เอาตำแหน่งหน้าที่ของตนเองไปเป็นฐานหรือเครื่องมือในการเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือดึงทรัพยากรของ “ส่วนรวม” ไปใช้ในการเคลื่อนไหวสนับสนุนทางการเมืองของฝ่ายที่ตัวเองสนับสนุน อย่างเช่นการเคลื่อนไหวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กรณี พรบ. นิรโทษกรรม เป็นต้น
นอกจากนั้น เท่าที่จำได้ ไม่เคยมีจารีตในเรื่องนี้มาก่อน นี่เป็นครั้งแรกที่ “ฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ท่าทีในลักษณะเช่นนี้ คำถามคือ ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ทำไมไม่มีการออกมาอธิบายในลักษณะนี้กับการเคลื่อนไหวอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน
หรือนี่เป็นเพียงเพราะว่า สิ่งที่นักศึกษาทำ “ขัด” กับจุดยืนส่วนตัวของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง คือ “ฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”
ถ้าเป็นอย่างนั้นก็น่าเสียใจ เพราะในฐานะอาจารย์หรือผู้บริหารอะไรก็แล้วแต่ เราไม่ควรเอาจุดยืนของเรา มาพัวพันกับหน้าที่การงานรับผิดชอบของเรา
3. สุดท้าย หากติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด เปิดกว้างและรับฟัง โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่แถลงการณ์นี้กล่าวถึงของนักศึกษาทั้งของธรรมศาสตร์และที่อื่นๆ รวมทั้งประชาชนที่เข้าร่วม ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับจุดยืนหรือความเห็นของหรือไม่ แต่สิ่งที่เห็นได้ก็คือ เป็นการใช้เสรีภาพตามปกติ ไม่ได้ขัดกฎหมายปกติ (เน้นว่าปกติ ไม่ใช่กฎของทหาร) เป็นไปอย่างสันติ ไม่มีการใช้ความรุนแรง
วิธีการแบบนี้เป็นวิธีการอารยะที่ควรส่งเสริมสนับสนุน และนำไปสู่การแก้ไขหรือเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่แท้จริงต่างหาก ไม่ใช่การกดบังคับ
ดังนั้น ในฐานะอาจารย์ บริหารหรือผู้มีส่วนรับผิดชอบ ควรที่จะสนับสนุนส่งเสริมในเรื่องนี้ ไม่ใช่ให้ “หยุดการเคลื่อนไหว” และควรปกป้องพวกเขา จากการข่มขู่คุกคามและการใช้ความรุนแรงจากฝ่ายต่างๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น