วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

กกต. ชี้รณรงค์ไม่รับ รธน. ได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับ สนช.


สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ระบุกรณี 'ณัฐวุฒิ' จ่อรณรงค์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ตอบไม่ได้ทำได้หรือไม่ ต้องรอ สนช. พิจารณาร่างหลักเกณฑ์ประชามติ แต่แย้มเขียนไว้ใครจะชวนโหวตต้องไปแจ้ง กกต. ก่อน ถึงจะไม่ผิดกฎหมาย ด้าน 'สวนดุสิตโพลล์' ระบุประชาชนไม่มั่นใจ ร่าง รธน.ผ่านประชามติ รอฟังจากกระแสสังคมเสียงส่วนใหญ่ในการพิจารณา
 
31 ม.ค. 2559 ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่านายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณี นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. ระบุ จะรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ว่า จะเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ต้องไปถามผู้รักษากฎหมาย และรักษาความสงบเรียบเรียบร้อย แต่ขณะนี้ กกต. อยู่ระหว่างเตรียมจัดส่งร่างประกาศหลักเกณฑ์ว่าด้วยการทำประชามติให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ดังนั้น การที่ นายณัฐวุฒิ พูดลักษณะนี้จึงบอกไม่ได้ว่าทำได้ หรือไม่ได้ เพราะประกาศยังไม่ผ่านความเห็นชอบของสนช. ซึ่ง สนช. อาจจะเห็นด้วยกับ กกต. หรือร่างใหม่ทั้งหมดก็ได้ สำหรับร่างประกาศดังกล่าว กกต. กำหนดให้ผู้ที่จะรณรงค์รับ หรือไม่รับร่างประชามติ ต้องมาทำการจดแจ้งองค์กรกับ กกต. ก่อน ว่า มีสมาชิกกี่คน มีแผน แหล่งที่มาของงบประมาณในการทำกิจกรรมอย่างไร โดยเป็นการทำกิจกรรมภายใต้ กกต. กำหนดก็จะสามารถรณรงค์ได้ ไม่ผิดกฎหมาย โดยองค์กรที่จะมารณรงค์จะเป็นพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง หรือประชาชนทั่วไปก็ได้
 
'สวนดุสิตโพลล์' เผยประชาชนไม่มั่นใจ ร่าง รธน.ผ่านประชามติ
 
วันเดียวกันนี้ (31 ม.ค.) เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่าสวนดุสิตโพลล์มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ว่าจะ รับร่าง หรือ ไม่รับร่าง ในขณะที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็ได้มีการแถลงเปิด รัฐธรรมนูญร่างแรกฉบับ ปฏิรูปประเทศ 270 มาตรา เน้นปราบทุจริตอย่างจริงจังและเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเสนอความคิดเห็นรวมทั้งข้อเสนอแนะปรับแก้ไข ภายใน 15 ก.พ. นี้ เพื่อให้ได้ร่างฉบับสมบูรณ์ที่มุ่งประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนและประเทศชาติ เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนกรณี การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จำนวนทั้งสิ้น 1,338 คน ระหว่างวันที่ 26-30 มกราคม 2559 สรุปผลได้ ดังนี้ 
 
ประชาชน ร้อยละ 41.42 จะไปลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แน่นอน ร้อยละ 37.67 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 20.91 ไม่ไป ขณะที่ ร้อยละ 83.11 ระบุว่า ต้องฟังจากกระแสสังคมเสียงส่วนใหญ่ในการพิจารณารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 79.52 ระบุว่า เนื้อหาชัดเจนเข้าใจง่ายมีความเป็นธรรม ร้อยละ 77.43 ระบุเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน
 
เมื่อถามถึงร่างรัฐธรรมนูญ แบบไหนที่ประชาชนจะรับร่าง ร้อยละ 78.48 ระบุเป็นไปตามหลักสากล ประชาธิปไตย ร้อยละ 67.86 ยุติธรรมคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพ ร้อยละ 57.10 มีกฏหมายบทลงโทษที่เหมาะสมชัดเจน และรัฐธรรมนูญแบบไหนที่ประชาชนจะไม่รับร่าง ร้อยละ 75.78 ไม่เป็นกลางเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง ร้อยละ70.40 ปิดกั้นการแสดงความเห็นประชาชนไม่มีส่วนร่วม ร้อยละ 63.23 เนื้อหาไม่ชัดเจนเข้าใจยาก 
 
ท้ายที่สุดเมื่อถามว่าร่างรัฐธรรมนูญที่จะต้องทำประชาพิจารณ์ฉบับนี้ จะผ่านการ รับร่าง หรือ ไม่รับร่าง ร้อยละ 60.92 ไม่แน่ใจเพราะที่ผ่านมามีประเด็นที่สร้างความขัดแย้งตลอด ร้อยละ 22.62 รับร่าง เพราะอยากเห็นบ้านเมืองพัฒนาเชื่อรัฐธรรมนูญนี้จะต้องดี ร้อยละ 66.46 ไม่รับร่างเพราะไม่ว่าจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับใด บ้านเมืองก็ยังคงวุ่นวาย เนื้อหาไม่ชัดเจน
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น