วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตยชี้ข้อเสนอบทเฉพาะกาล ครม.ประยุทธ์ ส่อเจตนาสืบทอดอำนาจ


19 ก.พ. 2559 มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย แสดงความเห็นกรณีคณะรัฐมนตรีทำข้อเสนอต่อประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้เขียนบทเฉพาะกาลให้รัฐบาลประยุทธ์ใช้อำนาจพิเศษ ไปจนหลังเลือกตั้ง และหลังตั้งรัฐบาลใหม่ว่า เป็นการพยายามจะยืดโรดแมปออกไป เป็นการทำให้เห็นว่า ครม.และ คสช. เจตนาจะสืบทอดอำนาจต่อ บวกกับการมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปประเทศ 20 ปี ซึ่งแต่งตั้งโดย คสช.ชุดนี้ด้วยแล้ว ก็แสดงเจตนารมณ์ว่า คสช.ประสงค์จะสืบทอดอำนาจอยู่แล้วอย่างน้อย 20 ปี
ทั้งนี้ มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตยเสนอด้วยว่า ให้นำรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน มาแก้ไขแทนการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนเลย
รายละเอียดมีดังนี้
คำแถลงมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย
คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รวบรวมความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ จากกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ แล้วได้มีหนังสือ ที่ นร.0404/1625 ลงนามโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี ถึงประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยเลขานุการประธานกรธ.เป็นผู้รับหนังสือแทนโดยมีเลขรับ110/59 วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 โดยมีรายละเอียดจำนวน 7 หน้า 16 ประเด็น ซึ่งประเด็นสำคัญอยู่ที่
“ให้จัดทำรัฐธรรมนูญ เป็น 2 ช่วง คือช่วงเฉพาะกิจหรือเฉพาะกาลในระยะแรก ซึ่งอาจไม่ยาวนาน โดยใช้หลักเกณฑ์อย่างหนึ่งเสมือนข้อยกเว้นตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองแต่อยู่บนพื้นฐานการปกครองของระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง ส.ส.ในระดับหนึ่งอย่างมีดุลยภาพในช่วงเปลี่ยนผ่าน และช่วงที่จะใช้รัฐธรรมนูญในระยะต่อไปซึ่งสอดคล้องกับหลักสากลและเป็นไปตาม ระบอบประชาธิปไตยที่ลดข้อจำกัดต่างๆ ลงให้มาก ดังนี้น่าจะแก้ปัญหาและอธิบายให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนและนานาชาติได้”
มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย ขอแสดงความเห็นดังนี้

1.รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็เป็นฉบับเฉพาะกิจหรือเฉพาะกาลหรือชั่วคราวอยู่แล้ว การร่างรัฐธรรมนูญให้มีฉบับเฉพาะกิจ/เฉพาะกาลอีก ก็เป็นการพยายามจะยืดโรดแมปออกไป ซึ่งจะทำให้ประชาชนไทย และนานาชาติเห็นถึงเจตนารมณ์ของคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะสืบทอดอำนาจต่อไป อันจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของประเทศไทย มีความสับสน และเสื่อมลง ดังเช่นที่เป็นมาในระยะปีเศษนี้
2. คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปประเทศ 20 ปี ซึ่งแต่งตั้งโดย คสช.ชุดนี้ด้วยแล้ว ก็แสดงเจตนารมณ์ว่า คณะ คสช.มีความประสงค์จะสืบทอดอำนาจผ่านการวางโยบายและทางปฏิบัติผ่านคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯชุดนี้อยู่แล้วอย่างน้อย 20 ปี
มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย เห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 เป็นอานิสงส์ของการเสียสละชีวิตและเลือดเนื้อของประชาชนจำนวนนับร้อย เมื่อเหตุการณ์พฤษภาคมปี 2535   และมาจากการยกร่างโดย สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่เป็นตัวแทนของประชาชนมาจากทุกจังหวัด และผ่านการเห็นชอบของรัฐสภา จึงเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างแท้จริง ถ้ามีสิ่งใดที่ต้องปรับปรุงแก้ไขจากระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบ 20 ปีก็ควรดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนี้ให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนไทยและนานาชาติมากกว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนเลย
มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตยจึงแถลงมาเพื่อโปรดทราบโดยทั่วกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น