วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

กรธ. ยืนยันให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัย กรณีไม่มีบทบัญญัติใน รธน.


โฆษก กรธ. แถลงเพิ่มความค้มครองเรื่องสิทธิเสรีภาพมากขึ้น หลังจากโดนท้วงติง พร้อมยันให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตาม มาตรา 7 เดิม ย้ำไม่ได้เพิ่มอำนาจศาล แต่ทำให้ศาลทำหน้าที่ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
19 ก.พ. 2559 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า อุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เปิดเผยว่าขณะนี้ กรธ.ได้พิจารณาความเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชน หน่วยงาน และองค์กรต่าง ๆ ที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้น ซึ่งได้รวบรวมมาเป็นจำนวนมาก โดยให้ความสำคัญกับทุกความเห็นอย่างไม่แบ่งแยก แต่ขึ้นอยู่กับเหตุผลที่มีการเสนอเข้ามาให้ปรับแก้ว่ามีความเหมาะสมกับบ้าน เมืองอย่างไร ซึ่งการพิจารณาได้ไล่เรียงลำดับในแต่ละมาตรา ขณะนี้ถึงหมวดที่ 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 54 แล้ว และจากนี้การแถลงให้ประชาชนทราบจะเป็นการแถลงลักษณะเป็นเรื่องเป็นประเด็นที่ได้ข้อยุติแล้ว จะไม่แถลงรายมาตรา
อุดม กล่าวต่อไปว่า กรธ. ได้ปรับแก้ส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ ตามที่หลายฝ่ายท้วงติงโดยนำหลักการเกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ได้ รับความคุ้มครองในมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 กลับมา รวมถึงปรับแก้มาตรา 25 และมาตรา 26 ของร่างเบื้องต้น ซึ่งยังคงหลักการว่าสิทธิเสรีภาพที่ไม่มีกฎหมายจำกัดหรือไม่กระทบต่อความสงบ เรียบร้อยย่อมทำได้ แต่ได้นำมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 มาบัญญัติเพิ่มเพื่อเป็นการยืนยันหลักประกันดังกล่าวให้ประชาชนมั่นใจใน สิทธิเสรีภาพมากขึ้น อาทิ การใช้สิทธิเพื่อต่อสู้ในชั้นศาล นอกจากนี้ ในมาตรา 26 เกี่ยวกับการตรากฎหมายที่มีผลต่อสิทธิเสรีภาพบุคคล ได้แก้ไขให้รองรับกับหลักนิติธรรมมากขึ้น จากเดิมระบุ “กฎหมายดังกล่าวต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรม” แก้ไขเป็น “กฎหมายดังกล่าวจะต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม” มาตรา 27 หลักความเสมอภาค ได้นำหลักความแตกต่างของบุคคลมาขยายความให้ครอบคลุมครบถ้วน ด้วยการเติมข้อความให้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายอยู่ในปัจจุบันได้รับความ คุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติ
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นมาตรา 7 เดิมของรัฐธรรมนูญปี 2550 กรณีที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้การวินิจฉัยเป็นไปตามประเพณีการปกครอง นั้น กรธ. จะนำมาบัญญัติในบททั่วไป แม้ถูกมองว่าให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมากเกินไป แต่ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าในอดีตประเด็นดังกล่าวทำให้เกิดความสับสนอย่างมาก ว่าจะมีองค์กรใดนำหลักการดังกล่าวมาใช้ จึงยืนยันที่จะให้เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัย แต่จะต้องให้องค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ต้องวินิจฉัย อาทิ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา องค์กรอิสระ เป็นผู้ส่งเรื่องนั้นๆ ไปให้ศาล รธน. พิจารณา
อุดม ยืนยันว่า การบัญญัติดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องการให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ได้ โดยชอบด้วยกฎหมาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น